ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:Calpura52/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พันโทพระวรสุนทโรสถ (เพี้ยน สิงหะชัย) อดีตปูชนียแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

ประวัติ[แก้]

พันโทพระวรสุนทโรสถ (เพี้ยน สิงหะชัย) อดีตปูชนียแพทย์แผนปัจจุบันของไทย เกิด 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2430 - 8 ธันวาคม พ.ศ. 2522 (92ปี)

ประวัติการศึกษา[แก้]

คุณพระวรสุนทโรสถ เริ่มเรียนหนังสือที่บ้านโดยคุณย่าเป็นผู้สอน ใช้หนังสือจินดามณีและมูลบทบรรพกิจเป็นหนังสือเรียน พออายุได้ 11 ปี ก็ป่วยเป็นมาเลเรียถึง 1 ปีเศษ เมื่อหายก็บวชเณรอยู่ 2 ปี ระหว่างบวชเณรก็ศึกษาอยู่ที่วัด ต่อมาเมื่อสึกออกมาจากเณรก็เข้าเรียนที่วัดเบญจบพิตรดุสิตวนารามจนจบ เมื่อจบแล้วเจ้าเปล่งซึ่งเป็นแพทย์แผนโบราณได้นำไปฝากเข้าเรียนที่โรงเรียนราชแพทยาลัย เป็นรุ่นที่ 17 คือรุ่นที่สำเร็จใน ร.ศ.128 (พ.ศ. 2453) มีเพื่อร่วมรุ่นเช่น กิมสูน บุษปวณิช (ขุนบริรักษ์คณานันท์), นวม ตันฑะเตมีย์ (ร.อ.หลวงอนุวัติโรคารักษ์), เทียน มงคลลักษณ์ (หลวงอภิบาลเวชศักดิ์), จันทร์มาลยมณฑล (พ.ท.พระวโรสถประสิทธิ์), แปลก หงสะวัต (พ.ต. หลวงปรากาศเภสัช) พ.ท.หลวงเสริม เวชกรรม (เสริม ตีระแพทย์)

ประวัติการทำงาน[แก้]

(ถอดเทปจากเทปบันทึกเสียงของท่าน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2513โดยท่านเล่าว่า) เมื่อจบจากโรงเรียนราชแพทยาลัยแล้วก็ต้องไปเป็นแพทย์ฝึกหัดทดลองในกรมเสนารักษ์อยู่ 6 เดือนแล้วเป็นว่าที่ร้อยตรีต่อมาที่กรมแพทย์ทหารบกที่บางซื่อต้องการแพทย์เพราะขาดแพทย์มาก พระยาดำรงแพทยาคุณ (ฮวด วีระไวทยะ) จึงขอตัวไป และไปเป็นแพทย์ทหารที่เพชรบุรีอยู่ 6 เดือน ต่อมา ม.จ. พันธุประวัติกลับจากประเทศเยอรมันขอตัวแพทย์ไปทำงานด้วยหลายคน ผลที่สุดส่งกลับคืนมาหมดเพราไม่ถูกพระทัย พระยาดำรงแพทยาคุณ (ฮวด) จึงส่งท่านไปและบอกว่าท่านเคยทำงานร่วมกับหมอชไนเดอร์และหมอเชเฟอร์มาแล้วคงทำงานเป็นที่ถูกพระทัยท่าน เมื่อท่านเริ่มไปทำงานกับท่านพันธุประวัติ นั้นมีเจ้าหน้าที่แต่เพียงจ่านายสิบสองคนเท่านั้นระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ยังไม่ค่อยมี ท่านจึงได้วางระเบียบข้อบังคับ วิชาสุขาภิบาล การฝึกหามเปล ฝึกผูกผ้าสามเหลี่ยม ฝึกการเข้าเฝือก ฯลฯ โดยจัดแบ่งเวลาทำงานครึ่งวัน และฝึกหัดครึ่งวัน นอกจากฝึกวิชาแพทย์แล้วยังต้องฝึกวิชาทหารด้วยเช่นขุดสนามเพลาะ ขณะนั้นได้เลื่อนขึ้นเป็นนายร้อยโท ท่านพันธุประวัติทรงพอพระทัยในการที่ท่านจัดระเบียบและวางแนวการฝึกมาก ในขณะเดียวกันหมอเชเฟอร์กำลังหาที่ดินที่จะก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ท่านกลับมาทำงานอยู่ห้องเดียวกับหมอเชเฟอร์โดยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยวางยาสลบ ส่งเครื่องมือผ่าตัด ตรวจหาเชื้อโรคง่าย ๆ เช่นโรคบิด วัณโรค มาเลเรีย ฯลฯ หมอเชเฟอร์ได้ชวนไปดูที่ที่ทุ่งมหาเมฆ เห็นว่าตรงกับปากน้ำ อากาศดี ได้ลมดี แต่สอบถามชาวบ้านดูทราบว่าเป็นที่ดินของเอกชน และยังไม่มีถนน หรือลำคลองผ่านซึ่งยากแก่การคมนาคมจึงไม่ต้องการ ต่อมาได้มาดูที่ที่ศาลาแดง (ที่ที่สร้างโรงพยาบาลจุฬาฯ ในปัจจุบันนี้) เห็นว่าเป็นที่ทำเลดี มีคลองผ่านเหมาะแก่การลำเลียงคนไข้ ทั้งเป็นที่ของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงลงความเห็นกันว่าเหมาะที่จะสร้างที่นี่ จึงลงมือวางแปลนในการก่อสร้างโดยช่างชาวต่างประเทศ แล้วลงมือสร้าง โดยท่านเป็นผู้ควบคุมงาน ครั้งแรกสร้างตึกใหญ่ตรงกลางหนึ่งหลัง และมีตึกเตี้ย ๆ ชั้นเดียว 2 ข้าง และมีห้องผ่าตัดที่ด้านหลังเท่านั้น เมื่อจวนแล้วเสร็จอีก 3 วันจะเปิด บังเอิญหมอบุ๋นไปผ่าตัดผู้ป่วยที่มีเชื้อและไข่ดันบวม หมอบุ๋นเลยติดเชื้อและเป็น “เซ็ปติคซีเนีย” ต่ายขึ้นไปตามนิ้วมือ แขน จนเน่าถึงแก่กรรม หมอเชเฟอร์เป็นผู้ตรวจหาสาเหตุขณะนั้นหมอเชเฟอร์ไม่ได้ใส่ถุงมือ แยกธาตุดูก็รู้ว่าลักษณะเชื้อโรคเป็นลูกโซ่ ในระยะเวลาเพียงไม่มี่นาทีก็สามารถจะเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วเป็นหมื่นเป็นแสน ถ้าพิษเข้าเลือด ๆ ก็จะเป็นพิษ วันรุ่งขึ้นหมอเชเฟอร์ก็ป่วยด้วยโรคติดเชื้อจากหมอบุ๋นและอีก 3 วันต่อมาก็ถึงแก่กรรม โรงพยาบาลที่จะเปิดก็เลยค้างอยู่ กรมหลวงพิษณุโลกทรงเห็นว่า “เศก” (พระยาพิบูลอายุรเวช) ดี ขยัน พูดภาอังกฤษก็ได้คล่องแคล่วดี ก็เอามาเป็นผู้บังคับกองพยาบาล ท่านก็เลยทำงานอยู่กับพระยาพิบูลอายุรเวช ต่อมากรมหลวงพิษณุโลก ทรงเห็นว่าวิชาแพทย์ทหารที่ต่างประเทศเขาต้องสอนวิชาทหารช่างด้วย จึงให้เพิ่มโรงเรียนแพทย์ทหารบกชั่วคราวซึ่งพวกแพทย์ที่ไปประจำการที่นั่น จะต้องเรียนผ่าตัดเข้าเฝือก แล้วเรียนนิติเวช ตรวจศพ พลิกศพ เรียนประสาทวิทยานั้นก็ต้องหัดขี่ม้า ยิงปืนสามท่า ซึ่งพระนาราญรอน เป็นผู้ฝึกหัด การหัดขี่ม้าใช้ม้าเชียงตุง สูงใหญ่ ครั้งแรกให้ขี่หลังเปล่าก่อน กอดอก เอามือเหนี่ยวบังเหียนให้ม้าเดินได้ เลี้ยวได้ เมื่อคล่องดีแล้วจึงใส่อานให้ ต่อจากนั้นให้ม้าเข้าแถววิ่งวิบากกระโดดข้ามรั้วและสิ่งกีดขวาง ข้ามคู เมื่อหัดได้คล่องดีแล้ว ให้หัดขี่ข้าพยศไม่ให้ตก วิธีฝึกก็คือให้ควบม้าเข้าไปหาผู้ฝึกโดยเร็วเมื่อไปใกล้ผู้ฝึกจะยกแซ่ขึ้นทำท่าจะตีม้าม้าตกใจก็จะโผนขึ้น ถ้าบังคับไม่ดีก็จะตกม้า ผู้ใดไม่ตกม้าจะขี่ม้าไม่เก่ง เมื่อเรียนและฝึกอยู่ 2 ปี ก็มีนายทหารสัญญาบัตรมาสอบ ท่านสอบได้ที่หนึ่ง ทางราชการเลยเลือกเป็นหัวหน้าแผนกตรวจโรค เป็นผู้ช่วยหม่อมเจ้าถาวร ต่อมาภายหลังที่โรงพยาบาลศิริราช แพทย์รุ่นหลัง ๆ ต้องมาอบรมที่กรมแพทย์ทหารบกทั้งสิ้น โรงเรียนแพทย์ทหารบกในขณะนั้น หลวงไกรเป็นผู้อำนวยการ ท่านเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นหัวหน้าแผนกตรวจโรค หัวหน้าแผนกพยาบาล แผนกผ่าตัด แผนกตรวจโรค ในที่สุดท่านเป็นรองผู้นวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในขณะที่พระยาดำรงแพทยาคุณเป็นผู้อำนวยการ เมื่อปี พ.ศ.2475 ท่านได้ลาออกจากราชการมาประกอบอาชีพส่วนตัวโดยตั้งสำนักงานแพทย์ “บางกอกกุมารเวชกรรม” ที่บ้านเลขที่ 71 ถนนเจริญกรุงตอนสี่พระยา ซึ่งต่อมาเป็นแพทย์ที่มีชื้อเสียงมากทางโรคเด็ก เป็นที่นิยมทั้งบุคคลในระดับเข้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจนกระทั่งข้าราชการพ่อค้า ประชาชน เริ่มทำงานเปิดที่ทำการช้า 9.00 น. ตรวจไปจนยางครั้ง 14.00 น. ก็ยังไม่ได้พักรับประทานอาหารกลางวัน นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านเป็นโรคกระเพาะเพราะรับประทานอาหารไม่เป็นเวลาเนื่องจากทำงานหนักมาเกินไปภายหลังต่อมาท่านเป็นโรคหัวใจเนื่องจากตรากตรำงานมากเกินไปจึงหยุดทำการรักษาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2499

ตระกูลสิงหะชัยและวรสุนทโรสถ[แก้]

ร้อยโทเพี้ยน แพทย์ประจำกองพยาบาลทหารบกกลางกับนายชิดบิดาได้รับพระราชทานามสกุลว่าสิงหะชัย SINHAJAYA เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2457 ตามประกาศ ท่านรับราชการเป็นหลวงวรสุนทโรสถ เมื่อ 27 เมษายน 2462 และเลื่อนขึ้นเป็น พระวรสุนทโรสถ เมื่อ 28 พฤษภาคม 2466 ต่อมาท่านตัดสินใจเลือกใช้นามสกุลว่า วรสุนทโรสถ ตามราชทินนามเพราะท่านเป็นแพทย์และความหมายของคำว่า วร คือ ดี + สุนทร คือ ดียิ่ง + โอสถ คือ ยา แทนนามสกุลพระราชทาน สิงหะชัยที่เดิมใช้อยู่

การเป็นแบบอย่างทางสังคม[แก้]

1.พระพุทธิวงศ์มุนี เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ได้เล่าถึงคุณธรรมของ พระวรสุนทโรสถไว้เมื่อ วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2522 ไว้ว่า “เท่าที่ได้รับทราบความนิยมของเจ้าประคุณสมเด็จสังฆราชกิตติโสภณมหาเถระ และเท่าที่ข้าพเจ้าได้สังเกตเห็นด้วยตนเองเป็นเวลากว่า 20 ปี แล้ว แล้วคุณพระเป็นบุคคลที่หาได้ยากในโลกคนหนึ่ง เป็นบุคคลที่มีอัธยาศัยกว้างขวาง เต็มไปด้วยเมตตา, กรุณา, มุทิตาและอุเบกขา บริบูรณ์ สมกับเป็นแพทย์ผู้ให้การเยียวยารักษา ตั้งแต่เบื้องต่ำที่สุด คือบรรดาเด็ก ๆ เล็ก ๆ ทั้งหลาย ไม่ว่ายากดีมีจนประการไร จนถึงสูงสุด คือเป็นพรหมผู้มีคุณธรรมมีเมตตาเป็นต้นนั้น โดยเฉพาะข้าพเจ้า ท่านได้มีเมตตากรุณาเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นโชคของข้าพเจ้าที่ได้รู้จักคุ้นเคยกับท่านโดยสรุปแล้ว คุณพระวรสุนทโรสถนั้น เป็นผู้มีคุณธรรมต้องตามพระพุทธภาษิตความว่า “บุคคลผู้ใดมีความประพฤติไม่บกพร่อง เพราะมีเมธาคือปรีชาเป็นเครื่องทรงไว้ ประกอบด้วยความรู้และความประพฤติดี มีศีลมีความบริสุทธิ์ดุจแท่งทองชมพูนุท ใครเล่าจะนินทาบุคคลนั้น แม้เทวดาก็ชม แม้พรหมก็สรรเสริญ ดังนี้ฯ”

2.เมื่อ พ.ศ.2522 พลโทหม่อมเจ้าประเสริฐศรี ชยางกูร ได้ตรัสเล่าถึงความสามารถและคุณสมบัติของ พระวรสุนทโรสถ เมื่อ พ.ศ. 2522 ไว้ดังนี้ว่า “คุณพระวรสุนทโรสถ เป็นนายแพทย์ที่ดังมากมาตั้งแต่ประมาณ 60 ปีมาแล้ว คุณพระเป็นแพทย์ทหารซึ่งถูกคัดเลือกเข้ามาประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ ระยะนั้นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่มีจำนวนมาก ได้ทรงใช้คุณพระกันหลายพระองค์ผู้เขียนยังหนุ่มอยู่ ก็ดังมากในสมัยนั้นด้วย แต่ดังในทางเจ็บป่วยจึงได้มีโอกาสคุ้นเคยกับคุณพระมากและตลอดไปจนถึงครอบครัวของท่าน คุณพระเป็นคนใจดี ใจเย็น แม้กระทั่งคนไข้อาการหนัก เมื่อท่านตรวจอาการแล้วกลับออกมา พวกเราถามท่านว่าเป็นอย่างไร ท่านก็หัวเราหึ ๆ แล้วบอกว่า “เดี๋ยวตาย” ดูท่านไม่หนักใจอะไรเลย ที่วังเสด็จพ่อของผู้เขียนก็ได้อาศัยคุณพระกันทั้งวัง นับว่าท่านมีพระคุณอย่างมากผู้หนึ่งโดยเฉพาะผู้เขียนเองก็ได้พึ่งท่านมาก ทานจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีอายุมาจนถึงวัยชราเช่นนี้ และไม่เคยลืมพระคุณของท่าน”

3.จากบางตอนของบทความไว้อาลัยของท่านผู้หญิงทินประภาอิศรเสนา ณ อยุธยา ได้กล่าวถึง คุณพระวรสุนทโรสถไว้ว่า “ขอคารวะต่อ คุณพระวรสุนทโรสถ ผู้มีคุณธรรมสูง บทความไว้อาลัยนี้ จากครอบครัวซึ่งนับถือรักใคร่คุณพระเหมือนญาติสนิท ที่ได้ใกล้ชิดคุ้นเคยกันมาเป็นเวลาแรมปี ความสัมพันธ์ของคุณพระกับครอบครัวเรานั้น เคยได้ฟังจากญาติผู้ใหญ่ และจากที่ได้ประสบมาเอง ฯลฯ ทำให้เห็นว่าคุณพระเป็นผู้ที่น่าเคารพบูชาน้ำใจอย่างยิ่ง สมควรเป็นบุคคลตัวอย่างได้เป็นอย่างดี เพราะเหตุนี้จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจยอมรับเขียนข้อความไว้อาลัยให้ท่าน ด้วยหวังว่าวิญญาณของคุณพระจะได้ทราบว่าดิฉัน ผู้ซึ่งเคยได้รับความกรุณาจากท่านมา แต่เด็ก ๆ มีศรัทธาต่อน้ำใจอันงามของท่านมากเพียงใด แม่เล่าว่า ท่านพ่อรู้จักคุณพระเพราะเป็นทหารด้วยกันท่านพ่อเป็นทหารม้า คุณพระเป็นทหารหมอ แต่ก็ชอบกันมากลูกท่านพ่อทั้งสามคน เมื่อเจ็บป่วยก็อยู่ในความดูแลของท่านตลอดมา เมื่อท่านพ่อสิ้นพระชนม์ เรายังเล็กมาก คุณพระไม่เคยทอดทิ้งลูกกำพร้าเลย ทุกวันเสาร์ท่านจะต้องนั่งรถลากมาเยี่ยมถามทุกข์สุขพวกเราถึงบ้านที่บางซื่อ ส่วนทานอยู่ศาลาแดงพอเราโตขึ้นก็เข้าใจว่าได้ว่าเพราะคุณพระห่วงและเวทนาลูกกำพร้าที่ไม่รู่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เมื่อโตขึ้นพอจะจำเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ ก็เห็นคุณพระไปที่วังเป็นประจำ เลยรู้สึกคุ้นเคยกับท่านเท่า ๆ กับท่านอาที่อยู่ด้วยกันที่วังเสด็จปู่ คราใดที่เจ้านาย (โอรส,ธิดาของเสด็จปู่) ประชวรคุณพระจะเป็นผู้ดูแลรักษาให้หาย เลยถือกันว่าคุณพระ คือที่พึ่งของผู้ป่วยด้วยโรคนานาชนิด จากความคุ้นเคยที่พวกเรามีต่อท่านประการหนึ่ง จากบุคลิกของท่านเช่น คำพูดที่นุ่มหู อัธยาศัยสุภาพอ่อนโยน และที่จำได้ติดตาจนทุกวันนี้คือยิ้มที่สดชื่นเมื่อพบพวกเราทุกครั้ง ทำให้เดความเลื่อมใสศรัทธา จนลืมว่าท่านผู้นี้คือ หมอที่ชอบใช้ยาขมหรือยาเม็ดที่แสนจะกลืนยากที่สุดในสมัยนั้น จำได้ว่าเมื่ออายุได้แปดขวบ เสด็จปู่ประชวรหนัก ทุกคนรู้ว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ลูกหลานจึงผลัดกันมาค้างอยู่ที่วังเป็นประจำ คุณพระนั้นมานอนค้างเฝ้าพระอาการเป็นประจำทุกคืนจนสิ้นพระชนม์ ท่านทำถวายเสด็จปู่เท่ากับลูกคนหนึ่ง คุณย่าซาบซึ้งคุณพระยิ่งกว่าใคร ๆ เพราะคุณพระนับถือคุณย่าเป็นแม่เมื่อถวายพระเพลิงแล้ว คุณย่าได้มอบที่นาคลองรังสิตให้คุณพระเช่นเดียวกันกับที่เสด็จปู่ประทานโอรส ธิดาของท่าน คุณพระชื่นชมมาก เพราะเท่ากับคุณย่านับท่านเป็นลูกคนหนึ่งเหมือน กันคุณพระเคยทูลท่านอาว่าท่านไม่เคยใช้ค่านาเลย แต่เก็บรวบรวมไว้บำรุงวัด “อดิศร” ที่เสด็จปู่ประทานที่ดิน แล้วทรงสร้างวัดขึ้น ณ แห่งนั้น ต่อมาคุณพระได้สร้างโรงเรียนขึ้นในวัดนั้นและทะนุบำรุงทั้งวัดและโรงเรียนให้เจริญก้าวหน้ามาจนทุกวันนี้” คำอธิบายบุคลที่กล่าวถึง 1. แม่ หม่อมผิว ศุขสวัสดิ์ 2. ท่านพ่อ หม่อมเจ้าทินทัต ศุขสวัสดิ์ 3. เสด็จปู่ พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช 4. คุณย่า หม่อมแช่ม ศุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา 5. ท่านอา หม่อมเจ้าหญิงรัตจันทร์ ศุขสวัสดิ์

4.พระบำราศนราดูรได้กล่าวถึงคุณพระวรสุนทโรสถ ไว้เมื่อ 24 ตุลาคม 2522 ไว้ความตอนหนึ่งว่า “คุณพระเป็นแพทย์ประกาศนียบัตรรุ่นที่ 17 (พ.ศ. 2453) เมื่อข้าพเจ้าเข้าเรียนแพทย์ชั้นปีที่ 1 นั้น คุณพระกำลังเป็นแพทย์ฝึกหัด ข้าพเจ้าจำได้ว่าเมื่อท่านเรียนสำเร็จหลักสูตรแล้ว ท่านสมัครเข้ารับราชการทางกระทรวงกลาโหม แต่ถูกส่งมาทำงานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เรื่อยมาจนกระทั่งออกจากราชการ ท่านเป็นแพทย์ทางอายุรกรรมที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง มีคนนับถือมาก สำหรับข้าพเจ้าเองก็เคยได้รับความกรุณาจากท่านเป็นอย่างดียิ่ง กล่าวคือ เมื่อ พ.ศ.2473 ข้าพเจ้ารับราชการอยู่ในกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งผู้อำนวยการกองสุขภาพ มีชาวอเมริกันผู้หนึ่งชื่อ ดร. คาร์ลซี. ซิมเมอร์แมนมาติดต่อกับรัฐบาลขออนุญาตสำรวจทำการเศรษฐกิจในประเทศไทย (SUAM RURAL ECONOMIC SYRVEY 1930-31) เมื่อได้รับอนุญาตแล้วกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมเป็นเจ้าของเรื่อง โดยมีผู้แทนกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตร และกระทรวงการคลังเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการปฏิบัติการด้วย และตัว ดร.ซิมเมอร์แมนเองเป็นหัวหน้าคณะสำรวจฯ ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับเลือกจากกระทรวงมหาดไทยให้เข้าร่วมในคณะกรรมการดังกล่าว เมื่อคณะกรรมการได้ประชุมปรึกษาหารือกันถึงวิธีดำเนินการสำรวจตลอดจนเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วก็กำหนดการเดินทางจะไปทำการสำรวจทางภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ก่อน แต่ก่อหน้านี้ที่จะเดินทางประมาณ 5-6 วัน บังเอิญบุตรชายคนโตของข้าพเจ้า (เสรี เวชชาชีวะ) อายุในขณะนั้นราว 1 ขวบเศษ เกิดป่วยมีอาการตัวร้อนจัดข้าพเจ้ารู้สึกเป็นห่วงมาก เพราะยังไม่รู้ว่าเป็นโรคไรร้ายแรงหรือไม่ จึงได้ไปเชิญคุณพระวรสุนทโรสถ ซึ่งในเวลานั้นบ้านของท่านยังอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ท่านก็รีบมาตรวจดูแล้วบอกว่าเสรีเป็นโรคปอดบวม (LOBAR PNEVMONIA) ทำให้ข้าพเจ้าเดินทางไปพร้อมกับคณะสำรวจเศรษฐกิจไม่ได้ เมื่อเสรีค่อยทุเลาแล้ว ข้าพเจ้าจึงเดินทางตามไปทีหลัง คุณพระวรสุนทโรสถ ได้เอาใจใส่ช่วยเหลือให้การรักษาเป็นอย่างดีจนเสรีหายเป็นปติ ข้าพเจ้าจึงรู้สึกระลึกถึงพระคุณของท่านอยู่เสมอมิได้ลืมเลือน เมื่อคราวที่ท่านทำบุญฉลองอายุครบ 7 รอบข้าพเจ้ามีความดีใจที่ได้พาเสรีไปกราบอวยพรท่าน ที่บ้านซอยเย็นอากาศ 2 ช่องนนทรี คุณพระวรสุนทโรสถมีอัธยาศัยใจคอดี มีความเมตตากรุณาซึ่งเป็นนิสัยประจำตัวของท่าน การที่ท่านมีอายุยืนยาวมาจนเกือบหนึ่งศตวรรษ ทั้งนี้คงเนื่องมาจากท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือ ชีวิตผู้เจ็บป่วยไว้มาก”

5.พลโทชม ศรทัตต์ อดีตนายแพทย์ใหญ่ของกองทัพบก ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเรียนแพทย์ตามรอย พระวรสุนทโรสถ ไว้บางตอนเมื่อ 14 ตุลาคม 2522 ไว้ว่า “คุณปู่พระวรสุนทโรสถ เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของสภากาชาดไทย โรงพยาบาลนี้เมื่อตั้งขึ้นในระยะแรก ๆ ต้องอาศัยแพทย์ทหารบกมาปฏิบัติหน้าที่ ท่านเป็นอายุรแพทย์ในโรงพยาบาลนี้มานานจนเป็นที่เลื่อมใสนับถือของคนไข้ทั่วไปที่เคยมารับการตรวจรักษาจากท่าน ฝีมือในการรักษาคนไข้อย่างมีประสิทธิภาพของท่านเป็นที่เลื่องลือ ช่วยส่งเสริมให้ท่านได้มีโอกาสเป็นแพทย์ประจำเจ้านายชั้นสูงหลายพระองค์ ตลอดจนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายท่านในสมัยรัชการที่ 6 คุณความดีของท่านได้ช่วยให้ท่านรับพระราชทานยศบรรดาศักดิ์และตำแหน่งสูงขึ้นตามลำดับ จนได้ตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และผู้อำนวยการกองบรรเทาทุกข์สภากาชาดไทย คุณปู่พระวรสุนทโรสถ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ไม่เสพของมึนเมา”

6.ท่านสนั่น สระตันติ์ หนึ่งในคหบดีผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการสิ่งทอในระยะต้นของไทยได้เตยกล่าวถึงคุณสมบัติของพระวรสุนทโรสถ ที่รู้จักมานานกว่าสี่สิบปี ไว้ตอนหนึ่งว่า “ในใจของกระผมนานมาแล้ว มีความเคารพรักนิยมนับถือท่านในคุณสมบัติหลายประการที่กระผมคิดว่าหาได้ไม่งายนักที่จะรวมอยู่ในบุคคลเดียวกัน ประการที่หนึ่ง ท่านมีเมตตา กรุณาสูง มีใจเอื้อเฟื้ออารีอารอบ เอาใจใส่ในทุกข์สุข ช่วยเหลือผู้คนอยู่เป็นนิจไม่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอันยาวนานที่กระผมรู้จักท่านมา ประการที่สอง ท่านมีจิตใจสุจริต ยุติธรรมและแสดงออกหลายครั้งหลายหนเป็นที่ประจักษ์แจ้ง ประการที่สาม ทานเป็นผู้มีความสามารถในการเลี้ยงดูบุตรธิดาเป็นยอดเยี่ยม บุตรธิดาของท่านแต่ละคนเป็นคนดีประพฤติตนและปฏิบัติการงานที่มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ ความจริงแล้วท่านเป็นผู้มีฐานะความเป็นอยู่สูง แต่บุตรธิดาของท่านมิได้ฟุ้งเฟ้อ เหลวไหลสุรุ่ยสุร่ายอย่างบุตรผู้มีทรัพย์บางรายที่กระผมรู้จักกระผมได้เคยมีโอกาสเรียนถามท่านถึงวิธีอบรมบุตรธิดา ท่านได้กรุณาแนะนำชี้แจงให้กระผมฟังอย่างอารมณ์ดี หลายครั้งหลายครา ซึ่งกระผมได้จดจำและนำไปใช้อย่างได้ผล ประการสุดท้าย ที่จะหาจากผู้อื่นไม่ได้อีกแล้ว คือท่านมีสมองแจ่มใส ความทรงจำที่แจ้งชัด ไม่มีอาการเลอะเลือนในขณะที่อายุมากถึงเก้าสิบปีเศษ ท่านยังสนใจต่อเหตุการณ์ปัจจุบันมีความคิดอ่านทันสมัยอยู่เสมอ การตัดสินใจที่เที่ยงตรงแน่วแน่ความข้อนี้ทำให้กระผมนิยมท่านเป็นพิเศษ และคิดส่าจะหาผู้ใดเหมือนท่านไม่ได้อีกแล้ว ด้วยคุณสมบัติเพียงสี่ประการเท่านั้น ก็บ่งชัดแล้วว่าท่านเป็นผู้มีบุญโดยแท้ โดยมิพักต้องกล่าวถึงคุณลักษณะอื่น ๆ ซึ่งยังมีอีกมากมายในตัวท่าน”

7.โดยภาพรวมตามตัวอย่างความเห็น ของทั้ง สมณะ ลูกไข้ เพื่อรุ่นน้อง และบุคคลรุ่นหลังที่ใช้คุณธรรมของคุณพระวรสุนทโรสถ (เพี้ยน สิงหะชัย) แพทย์โรงเรียนราชแพทย์ทยาลัย (ศิริราชรุ่น 17) ดำเนินรอยตามให้ประโยชน์โดยรวมแก่สังคมไทยโดยรวมในปัจจุบัน ขณะที่ท่านรับราชการอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ท่านมิได้เปิดคลินิก ทั้งในและนอกเวลาราชการ เมื่อถูกตามตัวฉุกเฉินมิได้เรียกร้องหรือรับค่าตอบแทนจากลูกไข้โดยให้เหตุผลว่าท่านเป็นข้าราชการ ในหลวงได้พระราชทานเบี้ยหวัดเงินเดือนให้ท่านแล้ว จึงเป็นที่เลื่องลือและได้รับความเคารพนับถือจาก เจ้าสัว พ่อค้า คหบดีที่เป็นลูกไข้ของท่านในเวลานั้นโดยทั่วไป น่าจะเป็นแพทย์ผู้มีจิตอาสาทำ CSR คนแรกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และเป็นรุ่นแรก ๆ ของเมืองไทยและในเวลาต่อมาเมื่อท่านลาออกจากราชการมาทำคลินิกเองที่สี่พระยา ท่านจึงคิดค่ารักษาแก่ผู้มีอันจะกินครั้งละ 5 บาท แต่สำหรับคนยากจนท่านรักษาฟรีและแถมยาให้ฟรีด้วย (ในเวลานั้นหมอฝรั่งที่มีชื่อเสียงที่สุดในสยามคิดค่ารักษาครั้งละ 2.50 บาทซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่สูงมากอยู่แล้ว) (เงินเดือนท่านก่อนอกจากราชการคือ 400 บาท)


ผลงานดีเด่นด้านประกอบวิชาชีพเวชกรรม/การเรียนการสอน/ด้านสังคม/การบริการ[แก้]

1.กรณีพระประสูติกาล เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้เขียนไว้ว่า “สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณวดีเป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเจ้าเจ้าอยู่หัวพระมหธีรราชเจ้ารัชกาลที่ 6 ในพระบรมราชจักรีวงศ์ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เป็นพระมารดา ในเวลาที่จะมีพระประสูติกาลนั้น พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวีเริ่ม ประชวรพระครรภ์ในเวลา 20.00 น. ของวันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2468 จนกระทั่งวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2468 เวลาเช้า คณะสักขีซึ่งมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง และเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กประชุมปรึกษากันเห็นพ้องว่าหากเวลาเที่ยงวันแล้วยังไม่มีพระประสุ๖การก็จะให้แพทย์ใช้เครื่องมือถวายพระประสูติการจวบจนเวลา 12.00 น. แพทย์ได้เตรียมการไว้พร้อมสรรพแล้ว พระวรสุนทโรสถ (เพี้ยน สิงหะชัย) ใช้เครื่องมือถวายพระประสูติการโดยมีหลวงเชิดบูรณศิริ (เชิด บูรศิริ) และหลวงไวทเยศรางกูร (เชื้อ อิศรางกูร ณ อยุธยา) เป็นผู้ช่วย ครั้น ณ เวลา 12.52 น. พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี มีพระประสูติการพระราชธิดา ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาศ ในหมู่มหามนเทียร ขณะนั้น ชาวประโคม ประโคมสังข์ แตร ปี่พาทย์ ตามราชประเพณี”

2.เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา และเหรียญรัตนาภรณ์ ในปลายปีนั้นเองเมื่อ 3 ธันวาคม 2468 ทานได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ทางการแพทย์ ขณะมีอายุเพียง 38 ปีเท่านั้น และต่อมา เมื่อ 9 ธันวาคม 2471 ท่านก็ได้รับพระกรุณาธิคุณพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่4 อันเป็นมงคลยิ่ง ยังความปลื้มปิติยินดีแก่ท่าน ในขณะที่เวลานั้น เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามสายราชการปกติของท่านอยู่ที่เพียงเบญจมาภรณ์มงกุฎไทยและเบญจมาภรณ์ช้างเผือกเท่านั้น

3.ตัดสินใจลาออกจากราชการและดำเนินอาชีพส่วนตัว เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ท่านเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาท และไม่เห็นด้วยกับวิธีการกระทำของคณะราษฎร์ โดยท่านให้เหตุผลว่าเกิดเป็นคนต้องมีสัจจะ และสัจจะวาจาระดับสูงสุดเหนือคำมั่นสัญญา และเหนือคำสาบานคือคำปฏิญาณ เมื่อทำการปฏิญาณถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแล้วเป็นคนต้องมีความกตัญญูรู้คุณไม่ตระบัดสัตย์ ท่านมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรีอย่างสูง จึงตัดสินใจลาออกจากราชการ ออกจากบ้านพักในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาประกอบอาชีพส่วนตัว ตั้งสำนักงานแพทย์ “บางกอกกุมารเวชกรรม” โดยอาศัยเช่าที่ทรัพย์สินฯ ที่บ้านเลขที่ 71 ถนนเจริญกรุง ตอนสี่พระยา (ปัจจุบันเป็นเรือนเก่าพระวรสุนทโรสถ) ซึ่งต่อมาเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงมากด้านโรคเด็กเป็นที่นิยมทั้งบุคคลในระดับเจ้าฟ้าเจ้าฟ้าแผ่นดิน จนกระทั่งข้าราชการพ่อค้าประชาชน ท่านชอบอุปการะคนที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่นคนขับสามล้อป่วยมาให้ตรวจและไม่มีเงินให้ ท่านตรวจรักษาให้ฟรีทั้งสั่งให้คนไข้เอาใบสั่งยาออกไปแจ้งกับร้านยาด้วยว่า ค่ายาของสามล้อคนนี้ลงในบัญชีของท่านเป็นต้น นอกจากนี้ท่านได้อุปการะมีทั้ง แพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ อาจารย์ในวิทยาลัยชั้นสูง ช่างเทคนิคฯลฯ จนสำเร็จออกไปประกอบอาชีพและประสพความสำเร็จในวิชาชีพของตนเป็นอันมากตลอดมา จนเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังของตระกูลวรสุนทโรสถ เมื่อมีหน้าที่การงานช่วยตัวเองได้มั่นคงแล้วก็มักจะให้ทุนการศึกษาอุปการะแก่บุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือต่อ ๆ ไปเป็นทอดๆ ตลอดมาจนปัจจุบัน