ผู้ใช้:Arnon Chaiyaporn

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สิ่งพิมพ์เป็นสื่อชนิดหนึ่งซึ่งใช้สื่อสารกับผู้ดูหรือกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำเสนอสิ่งที่ผู้ออกแบบ ผู้ผลิตหรือเจ้าของงานต้องการให้ผู้ดูได้รับทราบ หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆเช่น การดึงดูดความสนใจ การให้คำแนะนำตลอดจนการถ่ายทอดวิชาความรู้ เป็นต้น ซึ่งทำให้สิ่งพิมพ์มีความหลากหลายและเป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นทั่วไปในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ป้ายโฆษณา โปสเตอร์ หนังสือพิมพ์ หนังสือเรียน ไปจนถึงถุงใส่ของและกล่องยาสีพัน การออกแบบสิ่งพิมพ์จึงมีสิ่งที่ควรคำนึงถึงหลายประการ เริ่มจากกระบวนการออกแบบ ไปจนถึงขั้นตอนการผลิต การเลือกวัสดุ และการเลือกผู้ผลิต การออกแบบสิ่งพิมพ์ เป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจหลายๆเรื่อง เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ผู้ทำงานต้องมีความรู้ในเรื่องหลักการออกแบบ องค์ประกอบของการออกแบบ วิทยาการของกระบวนการผลิต วิทยาศาสตร์ของวัสดุ และการประสานความคิดของตนให้สอดคล้องกับความต้องการและข้อจำกัดด้านต่างๆของงาน เช่นเดียวกับงานศิลปะในสาขาประยุกต์ศิลป์อื่นเช่น การออกแบบตกแต่งภายใน การออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งงานของศิลปินหรือผู้ออกแบบต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้ และสิ่งที่เจ้าของงานต้องการสื่อออกมา และยังต้องคำนึงถึงวิธีการผลิตตลอดจนวัสดุที่จะใช้ ขบวนการการออกแบบสิ่งพิมพ์ นักออกแบบทำงานร่วมกับลูกค้าเพื่อทำความเข้าใจกับวัตถุประสงค์และเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อ นักออกแบบอาจต้องค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้ดูหรือกลุ่มเป้าหมาย เช่นลักษณะการดำเนินชีวิต มุมมอง ทัศนคติและความชอบ เมื่อสามารถกำหนดแนวคิดของการออกแบบแล้วกระบวนการร่างแบบจึงเริ่มต้นขึ้น สามารถจัดลำดับขั้นตอนการออกแบบได้ดังนี้ 1. ศึกษากลุ่มเป้าหมาย การที่จะทำให้งานออกแบบได้รับความสนใจ ผู้ออกแบบควรจะสื่อในสิ่งที่ผู้ดูเข้าใจ สนใจหรือชอบใจ จึงควรมีการศึกษาผู้ดูก่อนเพื่อให้งานออกแบบออกมาได้โดนใจ 2. กำหนดวัตถุประสงค์ของงาน เมื่อทราบว่างานออกแบบน่าจะมีเนื้อหาหรือเรื่องราวในแนวใด มีมโนทัศน์ (Concept) เป็นอย่างไร การกำหนดวัตถุประสงค์ของงานนี้ให้ดูภาพรวมของโครงการทั้งหมดเพื่อการวางแบบจะได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกัน เช่น การทำแผ่นพับโฆษณาสินค้าตัวหนึ่ง ให้ดูว่าสินค้าตัวนั้นมีมโนทัศน์ (Concept) อย่างไร รูปแบบ สีสัน ฯลฯ เป็นอย่างไร ตลอดจนการทำสื่ออื่น ๆ สำหรับสินค้านี้เป็นอย่างไร 3. กำหนดลักษณะของงานให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ตั้งแต่รูปแบบของสิ่งพิมพ์ เช่น เป็นแผ่นพับ หรือ โบรชัวร์ หรือ โปสเตอร์ ฯลฯ วัสดุที่ใช้สำหรับพิมพ์ การดำเนินเนื้อเรื่อง แนวภาพที่จะนำมาประกอบ ลักษณะตัวอักษรที่ปรากฏ สีสัน ตลอดจนงบประมาณที่จะใช้ 4. เรียบเรียงเนื้อหา หัวเรื่องหลัก หัวเรื่องรอง รวบรวมภาพประกอบ (หากมี) หรือหาแนวลักษณะภาพที่ต้องการมาประกอบในชิ้นงาน ภาพดังกล่าวอาจเป็นภาพถ่าย ภาพกราฟฟิค รวมถึงภาพแอนนิเมชั่น 5. เลือกรูปแบบและการวางผัง (Layout) ที่เหมาะสมกับงาน 6. ทำการวางแบบเลย์เอ้าท์ นำส่วนประกอบต่างๆมาลองวางลงในหน้ากระดาษ เพื่อดูว่ามีมากพอหรือไม่ ต้องการเพิ่มเติมส่วนใด หรือต้องตัดอะไรออก ดูความเข้ากันของส่วนประกอบทั้งหมดโดยใช้องค์ประกอบศิลปะช่วยในการจัด 7. ตรวจสอบแบบที่จัดทำขึ้นว่าตรงกับวัตถุประสงค์ที่วางไว้หรือไม่ น่าสนใจเพียงใด ยังผลให้โครงการประสบความสำเร็จเพียงใด ในงานประเภทบรรจุภัณฑ์อาจมีการนำบรรจุภัณฑ์ของคู่แข่งมาเปรียบเทียบดูจุดเด่นจุดด้อย ในบางโครงการที่สำคัญและใช้งบประมาณสูงโดยเฉพาะงานที่มีผลทางการตลาด อาจต้องทำการวิจัยทดสอบปฏิกิริยาที่มีต่อสิ่งพิมพ์นั้น ๆ 8. กำหนดลักษณะของส่วนประกอบต่างๆของงานที่เหมาะสม เช่น แบบ ขนาดของตัวอักษรที่ใช้ในส่วนต่าง ๆ ของเนื้อหา 9. ทำการถ่ายภาพต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบในชิ้นงานหากยังไม่มีมาก่อน ซึ่งอาจต้องอาศัยมืออาชีพพร้อมอุปกรณ์การถ่ายภาพในการจัดทำเพื่อให้ภาพที่ออกมาดูดีมีคุณภาพซึ่งจะยังผลให้ชิ้นงานประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ หากต้องใช้ภาพที่เป็นภาพกราฟฟิค ก็ให้ทำการสร้างและตกแต่งภาพขึ้นซึ่งปัจจุบันใช้โปรแกรมกราฟฟิค เช่น Adobe Photoshop, Illustrator ในการจัดทำ ในกรณีภาพถ่ายที่ได้มาหากยังไม่สมบูรณ์ตามที่ต้องการ ก็ใช้โปรแกรมกราฟฟิคมาตกแต่งเพิ่มเติมได้เช่นกัน 10. การทำต้นฉบับเหมือนพิมพ์ อาร์ตเวิร์ค (artwork) นำแบบร่างที่ลงตัวถูกต้องแล้ว มาทำให้เป็นขนาดเท่าของจริง ทั้งภาพและตัวอักษร ช่องไฟ และงานกราฟิคทุกอย่าง ซึ่งปัจจุบันจะใช้โปรแกรมจัดทำอาร์ตเวิร์คเช่น Adobe Indesign, Illustrator เป็นต้น 11. ทำการตรวจทาน ดูความถูกต้องของภาษา ความเหมาะสมของรูปภาพ และการจัดวาง 12. แก้ไขรายละเอียดและปรับแต่งขั้นสุดท้าย นำส่งโรงพิมพ์เพื่อทำการจัดพิมพ์ต่อไป อนึ่งเพื่อป้องกันปัญหาในการจัดพิมพ์ที่อาจเกิดจากการออกแบบ สามารถศึกษาได้ในหัวข้อ "ข้อคิดในการออกแบบสิ่งพิมพ์"