ผู้ใช้:วัดจุฬามณี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประวัติวัดจุฬามณี[แก้]

  ประวัติจุฬามณี ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา [1]

วัดจุฬามณี ตั้งอยู่เลขที่ ๓๔ หมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยยุธยา เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สันนิฐานได้ว่ามีมาแล้วหรือสร้างมาแล้วในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ประมาณปี พ.ศ.๒๒๙๓

  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๒ งาน ๙๔ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๗๔๐๒

= อาณาเข[แก้]

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับทางหลวง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับคลอง
  • ทิศตะวันออก ติดกับนา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา

เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน[แก้]

ไฟล์:พระครูปัญญาจุฬารักษ์เจ้าอาวาสวัดจุฬามณี.่ยเ
 พระครูปัญญาจุฬารักษ์ ฉายาพุทธปญฺโญ

รักษาการณ์แทนเจ้าอาวาสวัดจุฬามณี เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดจุฬามณี เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท พระราชทินนามว่าพระครูปัญญาจุฬารักษ์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๕ ได้รับพระราชทานเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นเอก เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๕

ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการบอกเล่าอายุสมัย[แก้]

    วัดจุฬามณีนี้เป็นวัดแต่โบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานอย่างแน่นอนตามเอกสาร แต่ปรากฏตามหนังสือประชุมพงศาวดารตำนานกรุงเก่า ที่เจ้าคุณพระยาโบราณราชธานินทร์(พร เดชะคุปต์) เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๙ และไม่บ่งชี้ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง และสร้างขึ้นในสมัยใด ดังนั้นข้อสันนิษฐานทั้งหมด จึงจำเป็นต้องอาศัยหลักฐานทางปูชนียวัตถุ และภูมิสถานที่ตั้งของวัดพิจารณา กล่าวคือเมื่อพิจารณาจากปูชนียสถานและสภาพที่ยังเหลือปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนี้ อาทิรูปทรงอุโบสถ พระพุทธรูป(พระประธาน)และพุทธสาวกในอุโบสถ ซากกำแพงแก้วเก่าพร้อมด้วยอิฐตลอดจนกระเบื้องดิน พื้นฐานของอุโบสถ มณฑปเป็นหลักฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับพระพุทธรูปแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นปฏิมากรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ยุคที่ ๓ นับตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองมาจนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ นับเป็นเวลา ๒๐๐ ปีเศษ พึงสันนิษฐานว่า ในระยะนั้นพระพุทธเจดีย์ที่สร้างไว้ในกรุงศรีอยุธยาจะเป็นพระธาตุเจดีย์หรือพระพุทธรูปก็ตาม นิยมก่อสร้างอย่างเขมรโดยมากเพราะประเทศเขมรเคยขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ครั้งแผ่นดินพระนเรศวรมหาราช
    ครั้งเมื่อถึงสมัยพระเจ้าทรงธรรมเขมรแข็งเมืองตลอดรัชสมัย พอถึงรัชกาลพระเจ้าปราสาททองได้เขมรกลับมาเป็นขึ้นกรุงศรีอยุธยาอย่างเดิม จึงเกิดนิยมถ่ายแบบโบราณวัตถุอย่างเขมรมาสร้างเพื้อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศเช่น สร้างพระปรางค์ใหญ่ที่วัดไชยวัฒนาราม ตำบลบ้านป้อม อำเภอกรุ่งเก่าเป็นต้น และในสมัยนี้นอกจากเอาอย่างเขมรแล้วก็คิดประดิษฐ์สร้างที่ดีงาม ที่ปรากฏอยู่หลายแห่งดังเช่น พระเจดีย์เหลี่ยม ๒ องค์ ที่วัดชุมพลนิกายาราม อำเภอบางประอิน เป็นต้น
    ระยะต่อมาตามประวัติเดิม มีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่าวัดจุฬามณีนี้ เดิมเป็นวัดที่ตั้งอยู่ห่างตลิ่งลำแม่น้ำเจ้าพระยามาก บริเวณหน้าวัดเป็นท้องคุ้งมีเกาะดินอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถูกน้ำไหลพัดเซาะเกาะดินปัจจุบันนี้ไม่มีเกาะดินให้เห็นอีกไปแล้ว ซึ่งวัดจุฬามณีนั้นเดิมชื่อว่าวัด "จุฬา" เมื่อถึงฤดุน้ำหลากมาก็เซาะซัด กัด ตลิ่ง หน้าวัดพังลงน้ำหายไป ทุกฤดูกาลจนใกล้บริเวณวัดมากเต็มที่เกือบจะถึงบริเวณกุฎี อุโบสถ มณฑป และศาลาการเปรียญ ท่านเจ้าพระยารัตนบดินทร์เดชานุชิตได้มาเห็นการพังทลายของตลิ่งหน้าวัดจุฬาเช่นนั้น จึงเกิดศรัทธาอันแรงกล้าเพราะสงสารวัดจะถูกน้ำเซาะพัดลงน้ำไป จึงรับเป็นผู้อุปถัมภ์จัดสร้างเขื่อนไม้ตะเคียนชนิดแบบ ๒ ชั้น ตั้งแต่หัววัดจนท้ายวัดการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำจนแล้วเสร็จลง ต่อมาจึงได้ปฏิสังขรณ์กุฎี อุโบสถ มณฑป กำแพงแก้ว และศาลาการเปรียญให้เป็นถาวรวัตถุที่มั่นคงสืบมา ท่านจึงได้เติมคำว่า "มณี" ต่อท้ายลงไปอีก เป็นวัดจุฬามณ๊ และท่านก็รับอุปการะถวายความอุปถัมภ์มาจนหมดอายุขัยของท่าน
    ในเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ววัดจุฬามณีนี้ตกเป็นภาระธุระของบรรพบุรุษชายหญิงชาวตำบลบ้านกุ่ม ตำบลบางชะนี อุปถัมภ์บำรุงกันตลอดมา เขื่อนกั้นน้ำที่ทำด้วยไม้ไหนเลยจะทนทานถาวรได้ ต่อมากรมชลประทานได้จัดงบประมาณมาสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก

ปัจจุบันนี้พระครูปัญญาจุฬารักษ์เจ้าอาวาสวัดจุฬามณีองค์ปัจจุบัน ได้ดำริในการก่อสร้างคันกั้นน้ำให้รอบบริเวณวัด เนื่องจากว่าเวลาน้ำเหนือไหลหลากมา บริเวณวัดจุฬามณีจำถูกน้ำท่วมเป็นประจำทุกๆ ปี ทำให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในทางบำเพ็ญบุญกุศลลำบากยิ่งขึ้น ปัจจุบันนี้บริเวณแถบติดแม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นแผงคอนกรีตเสริมเหล็กกั้นน้ำบริเวณแนวตลิ่งด้านทิศตะวันตก ส่วนบริเวณแนวพื้นดินรอบบริเวณวัดจุฬามณีได้ถมให้สูงขึ้นและใช้ประโยชน์เป็นทางรถยนต์ทุกชนิดวิ่งผ่าน

    ฉะนั้นวัดจุฬามณีจึงสันนิษฐานได้ว่ามีมาแล้ว หรือสร้างมาแล้วในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีอย่างแน่นอน และประมาณปีพ.ศ.๒๒๙๓ (ปัจจุบัน ปีพ.ศ.๒๕๕๘ รวมเป็นเวลาประมาณ ๒๖๘ ปี) วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๓๐๔

หมายพิเศษ[แก้]

    กล่าวถึงความเป็นมาการพบพระสารีริกธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมพระธาตุพระอรหันต์
         อนึ่งวัดจุฬามณี นอกจากเป็นวัดเก่าแก่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีตามประวัติศาตร์ที่กล่าวมาแล้ว นั้น
    ยังมีประวัติพิเศษที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าจำกันสืบๆ กันมาต่อไปนี้ สมัยเมื่อท่านเจ้าประคุณรัตนบดินเดชานุชิต(เขียว)อุปถัมภ์บำรุงบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว ท่านยังได้ผูกเป็นปริศนาเป็นภาษาบาลีและภาษาไทยกำกับไว้อีกด้วยดังนี้ "จุฬามณีอาวาโส จตุเจติยํ โหติ โย อจินเตตฺ วา อฏวิมฺชฌโฆสสฺทเท ปฏิคญฺหาตุ" วัดจุฬามณีเจดีย์ ๔ องค์ ผู้ใดคิดมิต้อง เอาที่ก้องกลางดง" จำเดิมตั้งแต่สมัยนั้นมานักคิดปริศนา ก็ได้มาทำการขุดค้นหาวัตถุสิ่งของอันมีค่าตามที่ต่างๆ เช่นหอระฆังเป็นต้นเป็นประจำทุกๆ ปี เพราะยิ่งนานเข้าสาธุชนก็เล่าลือพูดบอกต่อๆ กันไป นักคิดปริศนาต่างจังหวัดมีจังหวัดนครสวรรค์เป็นต้น ก็เคยมาทำการขุดค้นเสมอแทบทุกปี แต่จะเป็นด้วยอาถรรพ์หรืออภินิหารแรงอธิฐานของผู้สร้างวัด หรือผู้อุปถัมภ์วัด หรือเทพเจ้าผู้รักษาพระพุทธศาสนาวัดวาอารามก็เหลือที่จะคาดคะเน ไม่มีผู้ใดขุดค้นพบได้วัตถุสิ่งของมีค่าตามที่ปริศนารายแทงที่กล่าวไว้ได้เลย แม้แต่สักรายเดียวในจำนวนหลายสิบราย และเป็นเวลานับร้อยปี มานับแต่กาลบัดนั้น มาจนกระทั่งเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตเขมจารี(เฮ็ง)วัดมหาธาตุพระนครฯ เป็นเจ้าคณะมณฑลอยุธยา ได้ขึ้นมาตรวจมณฑลมาพักแรมที่วัดจุฬามณ๊ ๓ คืน และได้เที่ยวตรวจสภาพความเป็นอยู่ของวัดจุฬามณี เห็นความชำรุดปรักหักพังของเจดีย์ ๔ องค์ ขนาดเล็กประดิษฐานอยู่หน้าอุโบสถ ๒ องค์ หลังอุโบสถ ๒ องค์ ชำรุดทรุดโทรมมากทุกๆ องค์ เพราะไม่มีผู้ใดสนใจ โดยเข้าใจว่าเป็นเจดีย์บรรจุกระดูก เพราะในสมัยก่อนนั้น ชอบสร้างเจดีย์หรือโกศบรรจุกระดูกของผู้มีพระคุณ ไว้ตามสถานที่ลานอุโบสถ มณฑป หรือสถานที่ว่างๆ ตามลานวัดวาอารามทั่วๆ ไป ตามศรัทธาของผู้กระทำไว้ พระเจดีย์ ๔ องค์ที่ว่านี้ มีลักษณะเป็นเจดีย์ ๔ เหลี่ยม ฐานกว้าง ๓ ศอก ๔ เหลี่ยม สูง ๔ ศอก ซึ่งก็อยู่ในความเข้าใจของบุคคลทั่วๆ ไป ว่าเป็นเจดีย์บรรจุกระดูก แม้แต่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตเขมจารี (เฮ็ง) พระคุณท่านเองก็เข้าใจเป็นเช่นนั้น และในสมัยนั้น ทางการคณะสงฆ์ก็ได้เริ่มทำการพัฒนาปรับปรุงวัดวาอารามทั่วๆ ไป มีการสั่งห้ามมิให้สร้างอนุสาวรีย์ต่างๆ เพื่อบรรจุกระดูกจะเป็นแบบเจดีย์หรือโกศภายในลานอุโบสถหรือมณฑป และไม่ให้โยกย้ายรื้อถอนของเก่าที่มีอยู่ออก 
    ฉะนั้นเมื่อท่านเจ้าคุณสมเด็จพระวันรัตท่านมาเห็นเข้า ท่านจึงสั่งให้พระภิกษุสงฆ์ทายกทายิกาจัดการโยกย้ายโกศและเจดีย์บรรจุกระดูกที่มีอยู่ด้วยกัน ทั้งหมดประมาณ ๑๐ กว่าแห่ง บ้างก็ยังอยู่ในสภาพดีบ้างชำรุดหักพังทลายไปแล้วบ้าง ให้รวบรวมไปทำอนุสาวรีย์ไว้ที่บริเวณโกดังเก็บศพ นอกกำแพงอุโบสถ-มณฑป
    ครั้งกาลต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ พระครูปิยทัสสีวรคุณเจ้าอาวาสในสมัยนั้น พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรทายกทายิกาได้พร้อมใจกันปฏิบัติศาสนกิจตามคำสั่งของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตเจ้าคณะมณฑล ได้จัดสร้างอนุสาวรีย์ขึ้น ๑ แห่ง สำหรับไว้ใส่อัฐิของบรรพบุรุษหญิงชายเป็นส่วนรวม แล้วก็ได้ช่วยกันรื้อถอนโยกย้าย นำเอาอัฐิบนลานอุโบสถ-มณฑป ไปบรรจุลงในที่แห่งเดียวกันจนเสร็จ คงเหลือเจดีย์ ๔ องค์ ที่หน้าอุโบสถและหลังอุโบสถ ยังไม่กล้ารื้อถอนโยกย้ายไปไหน จึงได้ประชุมปรึกษาหารือกับพระภิกษุสามเณรในวัดว่า เราควรปฏิบัติอย่างไรกันต่อไปเพราะคฤหัสถ์เขาไม่กล้ารื้อ สมเด็จพระวันรัต เขมจารี(เฮ็ง) เจ้าคณะมณฑลท่านสั่งให้ทางวัดรื้อไปรวมทำเป็นอนุสาวรีย์ไว้นอกกำแพงอุโบสถ-มณฑป ที่ประชุมมีมติให้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าคณะมณฑล พระครูปิยทัสสีวรคุณในฐานะเจ้าอาวาสในขณะนั้น จึงได้ใช้ให้สามเณรและศิษย์วัดทั้งหมดให้ไปช่วยกันรื้อถอน และให้พระภิกษุสงฆ์โดยมีพระครูปิยทัสสีวรคุณเป็นประธานไปช่วยกันควบคุมดูแล และบันทึกเหตุการณ์ตลอดเวลา วันที่ทำการรื้อนั้นตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๖ เมื่อได้ทำการรื้อออกแล้วทั้ง ๔ องค์ ก็ได้พบปูชนียวัตถุอันล้ำค่า คือ พระบรมมสารีริกธาตุ ๒ พระองค์ พระธาตุสาวก ๕ พระองค์ รวมเป็น ๗ องค์ แยกกันบรรจุในตลับทอง แล้วใส่ตลับเงิน แล้วใส่ตลับแก้ว  และมีดอกพิกุลเงินพิกุลทอง ๔ ดอก รวมใส่ไว้ด้วย พระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๒ พระองค์ และพระธาตุสาวก ๒ พระองค์นั้น ประดิษฐานอยู่หน้าอุโบสถด้านมุมขวา นอกนั้นอีก ๓ องค์ มีบรรจุพระธาตุพระสาวกใส่ในโกศทองคำ แล้วใส่ในโกศเงิน แล้วใส่ในโกศแก้ว บรรจุไว้องค์ละที่ ครบทั้ง ๔ องค์ ลักษณะการบรรจุประดิษฐานไว้ที่คอระฆังของพระเจดีย์ทั้ง ๔ องค์ พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุและโกศตลับทอง-เงิน-แก้ว ซึ่งถือว่าเป็นศาสนสมบัติอันล้ำค่าของวัดจุฬามณี เป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนชาวตำบลบ้านกุ่มและตำบลใกล้เคียงภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง 
    ขณะนี้ พระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธาตุของพระอรหันตสาวก ได้นำบรรจุไว้ที่พระจุฬามณีเจดีย์ซึ่งทางวัดได้สร้างขึ้นเป็นองค์ใหม่ เจดีย์จุฬามณีนั้นทางวัดจุฬามณีโดยการก่อสร้างในสมัยของพระครูปิยทัสสีวรคุณ อดีตเจ้าอาวาส ในพ.ศ.๒๕๒๘ และแล้วเสร็จในสมัยพระครูปัญญาจุฬารักษ์ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันนี้ ในพ.ศ.๒๕๓๔ จึงได้นำพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธาตุของพระอรหันตสาวก บรรจุไว้ที่พระจุฬามณีองค์ใหม่ ในคราวที่ฉลองพัดยศพระครูปัญญาจุฬารักษ์ท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ปัจจุบันนี้เป็นที่บูชาสักการะของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วๆ ไป
      ข้อมูลประวัติวัดจุฬามณี ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดทำโดยพระกฤษประสงค์ ปาสาทิโก วัดจุฬามณี ข้อมูลที่ได้มานี้จากการสอบถามจากผู้เฒ่าคนแก่และจากข้อมูลหนังสือสวดมนต์ของวัดจุฬามณีที่ทางวัดจุฬามณีได้จัดทำขึ้นมา หากข้อมูลนี้เกิดการผิดพลาด หรือมีข้อมูลบางอย่างที่ยังขาดความสมบูรณ์อาจเป็นเพราะว่าไม่มีหลักฐานเอกสารที่ระบุชี้ชัดมาตั้งแต่เริ่มก่อสร้างวัดจุฬามณี อาตมภาพในนามผู้จัดทำขอรับผิดชอบทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว แต่หากข้อมูลประวัติวัดจุฬามณีนี้มีประโยชน์แก่ศาสนิกชนโดยทั่วๆไป ก็ขอมอบความดีนี้แก่บรรพบุรุษผู้มีส่วนร่วมในการก่อสร้างวัดจุฬามณีนี้ให้เกิดขึ้น และขออนุโมทนาบุญกุศลแด่ดวงวิญญาบรรพบุรุษทุกท่าน รวมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในการปฏิสังขรณ์บูรณะวัดจุฬามณีนี้ตลอดมาขอให้ท่านทั้งหลายจงมีแต่ความสุขพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง สาธุ
  1. th.wikipedia.org