ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:วรันธรณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แนวคิดว่าด้วย “สิทธิเกษตรกร” (Farmer’s Right) ที่ควรมีในพรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ

		โดย อ.ทศพล  ทรรศนกุลพันธ์ และ อ.ไพสิฐ  พานิชย์กุล 
               คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
               กรกฎาคม 2552

ระบบเศรษฐกิจและการเมืองของโลกในปัจจุบันขับเคลื่อนไปด้วยกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายทุน ปัจจัยการผลิต และสินค้าข้ามพรมแดนอย่างรวดเร็ว แต่ในหลายพื้นที่พบว่าได้สร้างผลกระทบที่สำคัญต่อการดำรงวิถีชีวิตของกลุ่มคนชายขอบของการพัฒนาอยู่ไม่น้อย เกษตรกรก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบนี้ดังนั้นจึงต้องแสวงหาแนวทางเพื่อป้องกันและลดผลกระทบซึ่งอาจเกิดกับเกษตรกรเพื่อสร้างฐานการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนเพื่อเอื้อให้เกษตรกรสามารถดำเนินวิถีชีวิตอย่างที่ตนเลือกได้อย่างยั่งยืนบนลำแข้งของตนเอง แนวความคิดที่อาจนำมาปรับใช้กับปัญหาดังกล่าวที่ประเทศไทยมีอยู่ คือ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการของการดำรงชีวิตโดยพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน มีระบบการผลิตที่มีเหตุผลมีผล สอดคล้องกับฐานทรัพยากรของตน และรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชนและสังคมไว้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาชีวิตและสังคมอย่างยั่งยืน เมื่อนำมาปรับใช้กับภาคการเกษตรก็จะเห็นได้ว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีความสอดคล้อง กับ สิทธิของเกษตรกรที่พึง ดังนั้นการประยุกต์เอาแนวคิดเรื่อง “สิทธิเกษตรกร” ที่ปรากฏอยู่ในพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมาใช้จึงเป็นฐานความคิดที่จะเป็นประโยชน์ต่อการร่างกฎหมายเกี่ยวกับ การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเกษตรกร แนวคิดว่าด้วย “สิทธิเกษตรกร” ประกอบด้วยหลักการสำคัญอยู่ 4 ประการดังต่อไปนี้ 1.การถือครองปัจจัยการผลิตอย่างมั่นคง การผลิตทางการเกษตรจำเป็นต้องมีปัจจัยการผลิตต่างๆเข้ามาเป็นฐานเพื่อทำการผลิต อาทิ ที่ดิน เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ตัวอ่อน อาหาร หรือทรัพยากรต่างๆที่เข้ามาเกื้อหนุนให้มีการเพาะปลูกหรือปศุสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิผล ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับเกษตรกรว่า ปัจจัยการผลิตทั้งหลายจะไม่ถูกพรากเอาไปจากเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการไร้ที่ทำกิน การเข้าไม่ถึงเมล็ดพันธุ์ ตัวอ่อน อาหาร หรือปุ๋ยที่มีราคาแพงเกินกว่าเกษตรกรทั้งหลายจะเข้าถึงได้ ทั้งนี้การกำหนดราคาหรืออำนาจในการควบคุมปัจจัยการผลิตจึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณา อาทิ ที่ดินจะต้องมีการจัดสรรหรือปฏิรูปเพื่อทำกิน ไม่ปล่อยให้มีการถือครองที่ดินเพื่อเก็งกำไรโดยมิได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง เมล็ดพันธุ์ ตัวอ่อน ปุ๋ย หรืออาหารสัตว์จะต้องไม่อยู่ภายใต้การผูกขาดของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอันจะมีผลต่อการบิดเบือนตลาดสินค้าเกษตรทำให้เกษตรกรต้องซื้อปัจจัยผลิตในราคาแพง และท้ายที่สุดจะทำให้อาหารที่มาจากสินค้าเกษตรต้องมีราคาแพงตามไปด้วย ดังนั้นการปฏิรูประบบถือครองสิทธิในปัจจัยการผลิตจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของเกษตรกร 2.การเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะอย่างเพียงพอ'''ตัวหนา การดำรงอยู่ของภาคการเกษตรจำเป็นต้องอาศัยฐานทรัพยากรที่ยิ่งใหญ่ คือ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจัยในการผลิตทางการเกษตรล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ อากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ สัจธรรมในเรื่องนี้จึงต้องเปิดโอกาสให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์ อนุรักษ์ และพัฒนา เนื่องจากเกษตรกรทั้งหลายล้วนเป็นประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นดังกล่าวเป็นระยะเวลานานตั้งแต่อดีตสืบไปยังอนาคต หากเปิดโอกาสให้เกษตรในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมก็จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเกษตรกรเองในแง่ของการใช้ประโยชน์ตามวิถีชีวิตเกษตรกรรม และเป็นประโยชน์แก่สาธารณะในแง่ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยความหวงแหนในทรัพยากรเหล่านั้นอันเป็นมรดกร่วมกันของคนทั้งชาติและลูกหลานของตนในอนาคต นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรสาธารณะอีกส่วนหนึ่งที่ต้องเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้ามามีบทบาทร่วมตัดสินใจเพื่อจัดสรรแบ่งปันมากขึ้น นั่นก็คือ ทรัพยากรของรัฐ อันได้แก่ งบประมาณ กลไก บุคลากรของภาครัฐและบริการสาธารณะ ทรัพยากรสาธารณะเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญให้แก่เกษตรกรผู้ด้อยโอกาสในการพัฒนาอันเนื่องมาจากการขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและขาดอำนาจในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ดังนั้นการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้ามีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะมากขึ้นก็ย่อมเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรพัฒนาตนเองได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง 3.การประกันความมั่นคงในผลตอบแทนที่ควรได้รับ 'การดำรงชีวิตอยู่ในระบบเศรษฐกิจการเมืองปัจจุบันต้องอาศัยปัจจัยการดำรงชีพต่างๆ อาทิ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และปัจจัยอื่นๆ การได้มาซึ่งปัจจัยเหล่านี้ประกอบไปด้วย 2 ทางหลัก คือ การผลิตขึ้นเองโดยตรง เช่น เพาะปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวอาหาร การได้มาทางอ้อม เช่น การปลูกข้าวเพื่อขายได้เงินมาก็เอาไปซื้อปลาซื้อหมู ดังนั้นความมั่งคงในชีวิตของเกษตรกรจึงอาจประกันได้ด้วย 2 ทาง คือ 1) การประกันให้เกษตรกรมีปัจจัยการดำรงชีพโดยตรง ผ่านการสร้างความมั่นคงในปัจจัย 4 ผ่านกระบวนการประกันความมั่นคงในการครอบครองผลผลิตที่ตนเองผลิตได้ ไม่จำเป็นต้องขายออกไปเพื่อแลกเงินทั้งหมด นั่นก็คือ การสร้างอธิปไตยเหนืออาหาร มิให้เกษตรกรตกอยู่ภายใต้อำนาจการครอบงำของกลุ่มทุนที่ดึงดูดเอาผลผลิตทั้งหมดไปจากเกษตรกรอันเนื่องมาจากภาวะรุมเร้าทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สิน ที่เกิดจากการกู้ยืมเพื่อนำไปซื้อเมล็ดพันธุ์ ตัวอ่อน ปุ๋ย อาหารสัตว์ หรือค่าเช่าปัจจัยการผลิตต่างๆ รวมไปถึงการตกอยู่ภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาที่มีลักษณะผูกขาดขูดรีดอย่างไม่เป็นธรรม 2) การประกันให้เกษตรกรมีปัจจัยการดำรงชีพทางอ้อม ผ่านการประกันรายได้จากการซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิตที่เกษตรกรสร้างขึ้น ด้วยมาตรการแทรกแซงของภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรักษาความมั่นคงด้านรายได้ผ่านวิธีการ ประกันราคาสินค้า การกำหนดปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรล่วงหน้า การรับซื้อรับจำนำสินค้าในราคาที่เหมาะสม และในบางกรณีหากประสบภัยพิบัติธรรมชาติหรือภาวะฉุกเฉินอาจมีมาตรการช่วยเหลือโดยตรงไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นดอกเบี้ยหนี้สิน หรือจัดระบบการเงินเข้าไปอุดหนุนเกษตรกรที่ประสบปัญหา ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบสหกรณ์ หรือสถาบันการเงินภาคประชาชนก็ตาม 4.การรักษาวิถีการผลิตที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของตน' การเกษตรเป็นวิถีชีวิตที่ต้องอาศัยการสืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน มิใช่เพียงวิธีการผลิตที่อัดฉีดปัจจัยการผลิตการผลิตเข้าไปแล้วได้ผลผลิตสำเร็จรูปออกมา ดังนั้นสิ่งสำคัญอีกประการที่ต้องทะนุบำรุงไว้ก็คือ วัฒนธรรมทางการเกษตรที่สอดคล้องกับวิถีการผลิตของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาทางการผลิต การเก็บรักษาพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน ดังนั้นจึงต้องแสวงหาทางที่จะส่งเสริมให้ชุมชนสามารถรักษาวิถีชีวิตของชุมชนเอาไว้ และสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ด้วย นโยบายหรือโครงการใดที่รัฐหรือเอกชนริเริ่มอันอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนจึงต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชนเข้าร่วมตัดสินใจ แสวงหาทางลดผลกระทบและเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เพื่อประกันความต่อเนื่องของวัฒนธรรมชุมชนอันจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีของชุมชนและเกษตรกรสืบไป

อย่างไรก็ดีแนวคิด “สิทธิเกษตรกร” ย่อมต้องตั้งอยู่บนฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคิดตัดสินใจในประเด็นต่างๆ ตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งต้องวางระบบและจัดองค์กรต่างๆเพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรทั้งหลายสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมหรือกำหนดทิศทางนโยบายต่างๆให้เป็นไปเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของเกษตรกรอย่างแท้จริงอันอาจจัดองค์กรในลักษณะสภาเกษตรกรที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรหลากหลายรูปแบบเข้าร่วมตัดสินใจมากยิ่งขึ้น โดยการตัดสินใจทั้งหลายจำเป็นต้องตั้งอยู่บนฐานของ “สิทธิเกษตรกร” และ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อประโยชน์สุขของเกษตรกรอย่างยั่งยืน