ผู้ใช้:ผู้ใช้:Narisara yana/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วิถีชุมชนคนโฮมสคูล : เครือข่ายบ้านเรียนล้านนา[แก้]

ไฟล์:เด็ก homeschool.jpg
เด็ก homeschool.jpg
         การจัดการศึกษาโดยครอบครัว (Homeschool) ในประเทศไทยนิยมเรียกกันในหมู่ครอบครัวผู้จัดว่า “บ้านเรียน” หมายถึง การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวให้แก่ผู้เรียนที่มีบ้านเป็นฐานการเรียนรู้ บนฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นการศึกษารายบุคคลบนฐานของความรัก ความเมตตา ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัดของผู้เรียน เน้นให้ผู้เรียนมีพัฒนาการ และประสบความสำเร็จตามศักยภาพ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2555: 4)  ซึ่งมีรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการทั้งวิชาการและวิถีชีวิต โดยครอบครัวจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับเด็กได้เรียนรู้ในทุกวิถีทาง ทุกที่ ทุกเวลา ท่ามกลางการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยอาจจัดกิจกรรมเป็นการเฉพาะ เน้นปฏิบัติจริง และยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ในส่วนของการประเมินผล มีการสะท้อนพหุปัญญา ตามสภาพจริงของผู้เรียน และดูความก้าวหน้าตามศักยภาพ ซึ่งการที่บ้านและครอบครัวเป็นฐานของการศึกษาเรียนรู้ มีความสำคัญคือ ช่วยสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้เกิดในครอบครัว ฟื้นคืนความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ช่วยพัฒนาวิถีชีวิตทั้งหมดของคนในครอบครัว รวมทั้งยังช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีกับญาติ มิตร ชุมชน และสังคมรอบตัวอีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการศึกษาที่พอดีสำหรับเด็กแต่ละคน จึงถือเป็นการเรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิต ตามบริบทของแต่ละครอบครัวอย่างแท้จริง 
         ในปีการศึกษา 2557 ประเทศไทยมีครอบครัวที่จัดการศึกษาให้กับลูก จำนวน 225 ครอบครัว มีผู้เรียน 397 คน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2558 : 4) โดยในจำนวนนี้เป็นผู้จดทะเบียนในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวนกว่า 100 ครอบครัว (โจน จันได, 2557 : การบรรยาย) ซึ่งแต่ละครอบครัวมีรูปแบบการจัดการศึกษาที่แตกต่างกัน ตามแต่ความรัก ความชอบ และความถนัด ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของแต่ละครอบครัว ทั้งแบบกลุ่มประสบการณ์ตามความสนใจของผู้เรียน และแบบกลุ่มสาระการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และด้วยวิถีที่หลากหลาย แต่มีความเชื่อและอุดมการณ์ทางการศึกษาเหมือนกัน จึงก่อให้เกิดการรวมตัวกันของพ่อแม่ที่จัดการศึกษาให้กับลูกในจังหวัดเชียงใหม่และในเขตภาคเหนือตอนบน เกิดเป็นเครือข่ายบ้านเรียนล้านนาขึ้น ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือที่ช่วยในการสร้างความมั่นใจให้แก่กันและกัน แลกเปลี่ยนแนวคิดและความรู้ต่อสภาพปัญหาที่เผชิญอยู่ ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ซึ่งกันและกันของลูก ๆ โดยเด็ก ๆ แต่ละบ้าน จะสับเปลี่ยนกันไปเรียนกับครอบครัวหนึ่ง ๆ ที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องหรือวิชาที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ที่มีอยู่ให้ได้ นอกจากนี้เครือข่ายบ้านเรียนล้านนา ยังเป็นตัวกลางในการประสานงานบ้านเรียนต่าง ๆ กับเจ้าหน้าที่รัฐ การแลกเปลี่ยนในทัศนะที่เห็นแตกต่างกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับครอบครัวบ้านเรียน ให้สามารถมีทางออกที่ยอมรับร่วมกันได้ ในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา (สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2557 : 183-184)

รูปแบบและกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายของเครือข่ายบ้านเรียนล้านนา[แก้]

การเรียนรู้วิถีการพึ่งพาตนเองได้[แก้]

ไฟล์:การเรียนรู้วิถีการพึ่งพาตนเองได้.jpg
การเรียนรู้วิถีการพึ่งพาตนเองได้.jpg
         จากแนวคิดที่ว่า “การเกษตรเป็นพื้นฐานของวิถีชีวิต รากเหง้าของชีวิตคนเราคือต้องเข้าใจเรื่องการเกษตร” ของบ้านเรียนพันพรรณ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ (สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2557 : 128-129) ครอบครัวจึงเลือกจัดการศึกษาให้ลูก โดยมุ่งที่กิจกรรมการผลิตอาหาร เพราะมองว่าการเกษตรเป็นพื้นฐานของทุกชีวิตไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ ประกอบกับสวนพันพรรณเองก็เป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรอินทรีย์ และการสร้างบ้านดินที่สำคัญแหล่งหนึ่งของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่อยู่ด้วยหลักการพึ่งตนเอง ด้วยการผลิตอาหารเอง ดูแลร่างกายด้วยวิถีธรรมชาติ สร้างบ้านด้วยวัสดุธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเลยเรื่องวิชาการ โดยคุณแม่ทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนเพื่อให้อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น มีการจัดคาบเรียน สอนประจำทุกวันโดยการกำหนดช่วงเวลาไว้เพื่อให้รู้ว่าช่วงเวลานั้น ๆ ต้องเรียนหนังสือ แต่เป็นเวลาไม่นานนัก มีการจัดหาหนังสือให้อ่านตามความสนใจของผู้เรียน แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากคุณแม่เป็นชาวอเมริกันจึงสอนลูกเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ถนัดในการสอนภาษาไทย จึงหาอาสาสมัครในชุมชนมาช่วยสอนภาษาไทย การเรียนรู้ของลูกส่วนใหญ่จึงเป็นแบบบูรณาการผ่านโครงงานที่ทำร่วมกันกับเพื่อน ๆ ในชุมชน เช่น ทำเล้าไก่ ซึ่งสามารถบูรณาการวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การอ่าน การเขียน เทคโนโลยี เข้าด้วยกัน หรือการทำคุกกี้ ซึ่งเด็ก ๆ ต้องฝึกหาข้อมูล ซื้อของ ลงมือทำขนม จากนั้นก็นำไปขาย นับเงิน แบ่งเงินในกลุ่ม ทำบ้านดิน ต้องมีการออกแบบ การแสดงละครต้องเขียนสคริปต์ ขายตั๋ว การเรียนรู้ผ่านโครงงานและกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องสนุกทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังเรียนอยู่

การเรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรอินทรีย์[แก้]

ไฟล์:การเรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรอินทรีย์.jpg
การเรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรอินทรีย์.jpg
         ในอ้อมกอดของความรักและธรรมชาติ “เป็นลูกชาวไร่ชาวนา ถ้าลูกทำนาไม่เป็นปลูกผักไม่ได้ ผมทำใจไม่ได้” พ่อผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนต้นกล้า อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ (สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2557 : 128-131) ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจถึงการเรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรอินทรีย์ว่า เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงในชีวิตประจำวัน ด้วยการซึมซับวิถีชีวิตของครอบครัวชาวนา สามารถทำนาได้ ปลูกผักเป็น เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง ขายไข่ ปลูกผักขาย เป็นต้น กิจกรรมการเรียนรู้ของต้นกล้าทำให้มีรายได้เป็นเงินเก็บสำหรับอนาคต นอกจากนี้ ยังได้ฝึกทำงานบ้าน ดูแลตัวเอง เลี้ยงน้องไปด้วย รวมไปถึงการเข้าร่วมกิจกรรมชุมชน อย่างงานบวชป่า ทำฝายแม้ว งานวัด การเรียนรู้เนื้อหาวิชาการ อิงหลักสูตรแกนกลาง มีการจัดตารางเรียนวันละ 2-3 ชั่วโมง เนื้อหาการเรียนมีทั้งในตำราและนอกตำรา การเรียนการสอนยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ของครอบครัว ไปร่วมกิจกรรมและร่วมเรียนรู้ร่วมกับบ้านเรียนอื่น เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ มีการเข้าค่ายกิจกรรมทัศนศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ทำโครงการบูรณาการ ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบองค์รวมที่ให้เด็กสร้างโครงงานและดูแลโครงงานของตัวเอง เช่น โครงงานทำยาดมสมุนไพร ทำน้ำหวานสมุนไพร ซึ่งนอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องสมุนไพร การทำอาหาร การคิดเลข การจดบันทึก ฝึกความรับผิดชอบแล้ว ยังมีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นค่าขนมด้วย 

การเรียนรู้วิถีชีวิตที่แตกต่าง[แก้]

ไฟล์:การเรียนรู้วิถีชีวิตที่แตกต่าง.jpg
การเรียนรู้วิถีชีวิตที่แตกต่าง.jpg
         ปลูกทักษะให้ชีวิตกับบ้านเรียนพิมพ์ปาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2557 : 133-135) แนวทางในการจัดการศึกษาของบ้านเรียนพิมพ์ปานเป็นการศึกษาแบบบูรณาการ และเรียนรู้ผ่านโครงงาน โดยเน้นกระบวนการพัฒนาของสมองและความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก โดยกรอบการเรียนรู้อิงเนื้อหาสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้สามารถเทียบโอนกับการศึกษาในระบบโรงเรียนได้ เสริมด้วยเนื้อหาและการพัฒนาทักษะตามความจำเป็นในการดำรงชีวิต คือ ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ในอนาคต ได้แก่ ทักษะการเรียน การคิด และสื่อสาร ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงาน ได้แก่ ทักษะการจัดการ ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีความขยัน อดทน ประหยัด และอดออม ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมในสังคม ได้แก่ การควบคุมตนเอง ความรับผิดชอบ ความมีวินัยในตนเอง การช่วยเหลือผู้อื่น ความเสียสละ เป็นต้น กิจกรรมการเรียนรู้จึงเน้นตามสถานการณ์และความสนใจของผู้เรียน แม้ลูกสาวฝาแฝดจะมีความแตกต่างกันในหลาย ๆ ด้าน แต่สิ่งหนึ่งที่มีความสนใจร่วมกันคือการขี่ม้า เพราะเด็ก ๆ จะกระตือรือร้นในการเรียนรู้เป็นพิเศษ คุณแม่จึงใช้เรื่องม้าและการขี่ม้าเป็นแกนนำในการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ และใช้เป็นเงื่อนไขในการกระตุ้นการเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ที่ตามมาอีกหลายเรื่อง นอกจากนี้ยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น มีสมาธิในการเรียนรู้ดีขึ้น และการได้อยู่ใกล้ชิดกันตลอดเวลา ทำให้เข้าใจปัญหาของลูกมากขึ้น

การเรียนรู้วิถีชีวิตแห่งความสุข[แก้]

ไฟล์:การเรียนรู้วิถีชีวิตแห่งความสุข.jpg
การเรียนรู้วิถีชีวิตแห่งความสุข.jpg
         ใช้ความสุขปลุกพลังจินตนาการ “ขบวนการเรียนรู้ทุกขั้นตอนยึดหลักความสุขเป็นที่ตั้ง” บ้านเรียนสู่ขวัญ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ (สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2557 : 138-140) ได้เล่าถึงหลักในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ดังนี้
         1. เน้นความสุข นำการเรียนรู้ ไม่กำหนดเวลา และยืดหยุ่นตามสถานการณ์
         2. การเรียนรู้มีฐานจากความรัก ความชอบในศาสตร์แขนงนั้น เพื่อสร้างแรงจูงใจ มุ่งมั่นที่จะเรียนรู้
         3. เน้นการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ สร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง 
         4. การเรียนรู้กับกลุ่มความรู้เฉพาะด้าน เช่น กลุ่มเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน กลุ่มเต้น กลุ่มขี่ม้า 
         5. เรียนรู้จากการสร้างมนุษย์สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ทุกคนในโลกทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ
         ผลที่ได้จากการจัดการศึกษาโดยยึดหลักความสุขก่อเกิดเป็นผลงานเขียนกว่า 100 เรื่อง ภาพวาดลายเส้นกว่า 18,000 ภาพ ภาพวาดสีอะคริลิกราว 200 ภาพ เรื่องสั้นกว่า 100 เรื่อง พร้อมภาพวาดลายเส้นประกอบ รวมทั้งบทเพลงอีกมากมายหลายบทที่แต่งทั้งเนื้อร้องและทำนอง พลังแห่งจินตนาการได้ถูกถ่ายทอดออกมาจากแรงบันดาลใจต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาภายในห้วงแห่งจิตวิญญาณ อารมณ์ และความรู้สึกของผู้เรียนตลอดเวลา เป็นพลังแห่งจินตนาการ ที่ทำให้ผู้เรียนเริ่มก่อร่างสร้างเป็นมโนภาพขึ้นมาจนสามารถมองเห็นภาพนั้นได้อย่างชัดเจน
         แม้วิถีชุมชนคนโฮมสคูลในจังหวัดเชียงใหม่ จะมีความแตกต่างหลากหลาย แต่สิ่งที่ทำให้พวกเรารวมตัวกันเป็นเครือข่ายบ้านเรียนล้านนาได้อย่างเหนียวแน่นมาจนถึงปัจจุบันคือ ความเชื่อในศักยภาพของเด็ก เชื่อในการเรียนรู้บนฐานของความรักจากครอบครัว และเชื่อในการศึกษาที่พอดีสำหรับแต่ละบุคคล

แหล่งเรียนรู้สุดประทับใจในดินแดนล้านนา[แก้]

บ้านไร่ไผ่งาม พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา[แก้]

ไฟล์:กี่ทอผ้า.jpeg
กี่ทอผ้า.jpeg
         บ้านไร่ไผ่งาม เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการทอผ้า และย้อมสีผ้าฝ้ายด้วยสีสมุนไพรแบบโบราณ ตั้งอยู่เลขที่ 105 หมู่ 8 ถนนเชียงใหม่-ฮอด ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ณ ที่แห่งนี้มีการรวมตัวกันของแม่บ้านในชุมชน เป็นกลุ่มผลิตผ้าฝ้ายทอมือแบบโบราณที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่ โดยกลุ่มแม่บ้านได้รับการถ่ายทอดความรู้ในการผลิตผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติจากคุณป้าแสงดา บันสิทธิ์ ศิลปินพื้นบ้านแห่งชาติ สาขาหัตถกรรมในเรื่องของสิ่งถักทอ ป้าแสงดา บันสิทธิ์ เกิดวันอังคารที่ 14 เมษายน 2462 ที่บ้านห้วยม่วง หมู่ที่ 6 ตำบลสบเต๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ตอนเป็นเด็กไม่เคยเข้าโรงเรียน แต่ได้ฝึกเรียนด้วยตัวเองกับลุง จนมีความสามารถอ่านออกเขียนได้ เมื่อเป็นเด็กได้อยู่ใกล้ชิดกับแม่อุ๊ยเลี่ยม (ยายเลี่ยม) ผู้ซึ่งมีความชำนาญในการย้อมผ้า ทอผ้า และย้อมสีผ้าฝ้ายด้วยสัสมุนไพรแบบโบราณ ป้าแสงดา บันสิทธิ์ จึงได้สืบทอดความรู้จากแม่อุ๊ย (ยาย) มาส่วนหนึ่ง และได้พัฒนาความรู้ความสามารถเพิ่มเข้าไป ด้วยเหตุที่ว่าเป็นสิ่งที่ตนรักและชอบทำ
         ปัจจุบัน ป้าแสงดา บันสิทธิ์ ได้ตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เพื่อผลิตผ้าพื้นเมือง ปั่นทอด้วยมือแท้ ๆ ออกสู่ตลาด ขณะนี้มีแม่บ้านทอผ้าประมาณ 40 คน ตั้งกี่ทอผ้ากันที่ใต้ถุนบ้านของ ป้าแสงดา บันสิทธิ์ ทอผ้าทุกวัน โดยนอกจากจะทอผ้าตามแบบดั้งเดิมแล้ว ป้าแสงดา ยังเป็นผู้คิดแบบใหม่ ๆ หรือประยุกต์ลวดลายต่าง ๆ สำหรับการทอเพื่อให้การทอผ้ามีการพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป และถึงแม้จะมีการออกแบบใหม่ ก็ตาม แต่ก็ยังรักษาเทคนิค และเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเอาไว้ เช่น การย้อมสีด้วยเปลือกไม้ แก่นไม้ ผลไม้ ใบไม้ ที่เป็นสีธรรมชาติ

บุญสมฟาร์ม สาหร่ายเกลียวทอง[แก้]

บุญสมฟาร์ม
         บุญสมฟาร์ม ตั้งอยู่ที่ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีที่ 30 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิที่เหมาะสม ต่อการเจริญเติบโตของสาหร่าย ที่ 25 ถึง 35 องศาเซลเซียส และยังเป็นพื้นที่ที่ปราศจากมลภาวะมีอากาศที่บริสุทธิ์ ที่แห่งนี้เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงและผลิตสาหร่ายเกลียวทอง ซึ่งเป็นอาหารเสริมที่ให้คุณค่าทางอาหารสูง ทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่มนุษย์ใช้เป็นอาหารอย่างปลอดภัยมานานนับพันปี นอกจากนี้จากผลงานวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยังได้ยืนยันว่า "ไม่มีพืชชนิเใด ที่มีความหลากหลายในคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับสาหร่ายเกลียวทอง" และในการประชุมเรื่องอาหารโลกขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี พ.ศ.2517 ได้มีประกาศว่า "สาหร่ายเกลียวทองเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับอนาคต ในประเทศไทยได้มีการค้นพบสาหร่ายเกลียวทองสายพันธ์ไทย โดยเริ่มวิจัยครั้งแรกในปี พ.ศ.2526 และได้เริ่มทดลองเพาะเลี้ยงในปร พ.ศ.2531 ณ บุญสมฟาร์ม แห่งนี้ ซึ่งผ่านขั้นตอนการคัดสรร และกรรมวิธีการผลิตที่ได้มาตรฐาน ISO22000 GMP HACCP จากฟาร์มที่อยู่ในแหล่งธรรมชาติ ปราศจากมลภาวะ ซึ่งทำให้สาหร่ายเกลียวทองสายพันธ์ไทยได้รับการยอมรับว่า "เป็นสายพันธ์ที่ดีที่สุด และเป็นอาหารเสริมที่คุณประโยชน์สูงสุด"


หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา[แก้]

ไฟล์:หอดูดาว.jpg
หอดูดาว
         หอดูดาวแห่งชาติ (Thai National Observatory) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เป็นหอดูดาวแห่งชาติของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่สถานีทวนสัญญาณทีโอที บริเวณยอดดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ระดับความสูง 2,478.50 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง หอดูดาวแห่งนี้สามารถสังเกตท้องฟ้าได้ทั้งซีกใต้และซีกเหนือ เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตร หอดูดาวแห่งชาติเริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2553 จนแล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ.2555 และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2556 ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
         หอดูดาวแห่งชาติใช้กล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง ซึ่งใช้กระจกรวมแสงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร จึงจัดเป็นหอดูดาวขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวกล้องติดตั้งบนโดมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 เมตร ซึ่งสามารถหมุนได้ 360 องศา และมีช่องเปิด-ปิด (shutter) กว้าง 3 เมตร จากการมีหอดูดาวขนาดกลางแห่งนี้ ทำให้การศึกษาและวิจัยด้านดาราศาสตร์ของไทยได้รับการพัฒนาและได้รับการยอมรับในระดับสากลขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) มีมติให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านดาราศาสตร์

วัดเจ็ดยอด หรือ วัดโพธารามมหาวิหาร[แก้]

วัดเจ็ดยอด
         วัดโพธารามมหาวิหาร พระอารามหลวง เป็นวัดพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ (เดิมชื่อวัดเจดีย์เจ็ดยอด หรือ วัดเจ็ดยอด) ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 1998 พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์เม็งราย ทรงสร้างวัดโพธารามมหาวิหาร สร้างด้วยศิลาแลงประดับลวดลายปูนปั้น เป็นเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ. 2020 วัดโพธารามมหาวิหาร เป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก ปัจจุบันเจดีย์เจ็ดยอดหักพังไปเกือบหมด วัดเจ็ดยอด ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 วันที่ 8 มีนาคม 2478
         วัดเจ็ดยอด หรือ วัดโพธารามมหาวิหาร ได้ชื่อว่ามีเจดีย์รูปทรงแปลกที่สุด คือมียอดตั้งอยู่บนเรือนธาตุสี่เหลี่ยมถึงเจ็ดยอด เหมือนมหาโพธิเจดีย์พุทธคยาที่ประเทศอินเดีย จัดเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยเจดีย์เจ็ดยอด เป็นโบราณสถานที่สำคัญที่สุดของวัด เชื่อว่าถ่ายแบบมาจากมหาโพธิเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20 เมื่อ พ.ศ.2020 พระเจ้าติโลกราชโปรดฯ ให้จัดการประชุมพระเถรานุเถระทั่วทุกหัวเมืองในอาจักรล้านนา และทรงคัดเลือกได้พระธรรมทิณ เจ้าอาวาสวัดป่าตาล ผู้จัดเจนในพระบาลีเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระองค์ทรงเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก ณ วัดนี้ใช้เวลาปีหนึ่ง จึงสำเร็จ เป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งใหญ่ลำดับที่ 8 โดยทำมาแล้วทั้งในอินเดียและศรีลังการวมเจ็ดครั้ง และเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในส่วนของลายปูนปั้น บนผนังด้านนอกองค์เจดีย์เจ็ดยอดมีงานประติมากรรมปูนปั้น เป็นภาพเทพยดานั่งขัดสมาธิเพชร ประนมหัตถ์อยู่กลางพระอุระ กับภาพเทพดาพนมมือยืน ทรงเครื่องภษาภรณ์ อันเป็นสมัยนิยมในหมู่ชนชั้นสูงสมัยโบราณ สวมเครื่องศิราภรณ์ทรงเทริด มีทั้งแบบทรงสูงและทรงเตี้ย สังเกตบนยอดศิราภรณ์ประดิษฐ์ด้วยลายวิจิตรแตกต่างกันไปในแต่ละองค์ เช่น ลายกระจับ ลายดอกบัว ลายหน้ากาล ลายดอกไม้ ฯลฯ เป็นที่น่าชมยิ่ง บนพื้นผนังเป็นลายดอกไม้ร่วงคล้ายลายถ้วยชามสมัย ราชวงศ์เหม็งของจีน นอกจากนี้ยังมีลายประดับหัวเสาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา แม้พม่ายังรับเอาไปและเรียกกว่า “ลายเชียงใหม่”


เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี[แก้]

ไนท์ซาฟารี
         เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นสวนสัตว์เปิดที่ตั้งอยู่ในตำบลแม่เหียะ และ ตำบลหนองควาย จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณด้านหลังทางทิศตะวันตกของอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เป็นสวนสัตว์ของรัฐบาล ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) เปิดให้เข้าชมเป็นครั้งแรกเมื่อ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 และเปิดบริการอย่างเป็นทางการเมื่อ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ในระยะเริ่มแรกอยู่ในภายใต้การดูแลขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ถือเป็นสวนสัตว์กลางคืนแห่งแรกในประเทศไทย และถือเป็นสวนสัตว์กลางคืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยขนาดพื้นที่ 819 ไร่ ในปัจจุบันเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการที่สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งวัน ทั้งในเวลากลางวัน และในเวลากลางคืน ในบางบริเวณจะมีการปล่อยสัตว์ที่ไม่เป็นอันตรายให้สามารถเดินและใช้ชีวิตอย่างอิสระ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถชมและสัมผัสสัตว์อย่างใกล้ชิด อาทิเส้นทางระหว่างประตูทางเข้าสวนสัตว์จนถึงทางเข้าอาคารหลัก จะมีการปล่อยเก้งและกวางไว้อยู่ถาวร รวมทั้งในบางช่วงของเส้นทางของในโซนเหนือและใต้


มหาวิทยาลัยเชียงใหม่[แก้]

ไฟล์:มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.jpg
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศาลาธรรม
อ่างแก้ว
         มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยโดยอยู่ในกำกับของรัฐ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาค ตามโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2501 พร้อมทั้งได้มีการเรียกร้องให้ขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกสู่ภูมิภาค โดยขอให้รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 นำโดยนายกีและนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 3 ในด้านการเรียนการสอนของประเทศไทย และเป็นอันดับ 5 ในด้านการวิจัยของประเทศไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศไทยใน "โครงการฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย" เมื่อปี พ.ศ. 2549 สถานที่สำคัญในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนี้
         ศาลาธรรม ซึ่งเป็นอาคาร 2 ชั้น ทรงไทย ตั้งอยู่ด้านหน้ามหาวิทยาลัย ตัวอาคารประกอบด้วยห้องโถงกว้าง12 เมตร ยาว 20 เมตร สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2507 ต่อมาได้มีการต่อเติมตัวอาคารด้านหลังและทำซุ้มเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย ในระยะแรกศาลาธรรมเป็นสถานที่จัดพิธีไหว้ครูของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อศาลาอ่างแก้วสร้างเสร็จจึงได้ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและพิธีไหว้ครู ณ ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยจึงใช้ศาลาธรรมเป็นสถานที่เปลี่ยนฉลองพระองค์ และประทับพักพระอิริยาบถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและพระบรมวงศานุวงศ์ในคราวเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งเหล่าคณาจารย์ ข้าราชการ และนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็จะมาเฝ้ารอรับเสด็จ ณ สถานที่แห่งนี้ ต่อมาเมื่อหอประชุมมหาวิทยาลัยสร้างเสร็จจึงได้ย้ายสถานที่พระราชทานปริญญาบัตรและพิธีไหว้ครูไปยังหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยจึงได้ใช้ศาลาธรรมเป็นสถานที่จัดงานสำคัญๆของมหาวิทยาลัยในบางโอกาส เช่น การจัดงานแสดงความยินดี และงานเลี้ยงรับรองผู้มีเกียรติของมหาวิทยาลัย เป็นต้น  
         ศาลพระภูมิ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธฺิ์ของชาว มช. ที่อยู่บริเวณหน้าตึกมหาวิทยาลัยหรือศาลาธรรมในปัจจุบัน ซึ่งศาลพระภูมิของมหาวิทยาลัยเป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจของนักศึกษามหาวิทยาเชียงใหม่ สมัยหนึ่ง เคยมีผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำริให้โค่นศาลพระภูมินี้ทิ้ง แต่ก็ไม่มีใครกล้าเป็นแกนนำ เพราะ ณ ที่นี้มีตำนานเก่าแก่โบราณเล่าขาน เคยมีนักศึกษาบางคนเห็นเจ้าที่โบกมือให้ เรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าต่อๆกันมานับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2514 รายละเอียดเพิ่มเติมของเรื่องลึกลับนี้ สามารถหาอ่านได้จากหนังสือ เรื่องลึกลับของวีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์ในฐานะศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งได้อ้างอิงและมีบันทึกเรื่องราวความลึกลับของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งหมดทุกแง่มุม  
         อ่างแก้ว เป็นอ่างเก็บน้ำของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของมหาวิทยาลัย ซึ่งอ่างแก้วนอกจากจะใช้กักเก็บน้ำเพื่อใช้ภายในมหาวิทยาลัยแล้วยังเป็นสถาที่สวยงามและที่พักผ่อนหย่อนใจของลูกช้าง มช ด้วยเช่นกัน  
         ศาลาอ่างแก้ว เป็นสถานที่พระราชทานปริญญาบัตรในอดีตก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปัจจุบันศาลาอ่างแก้วใช้ประกอบพิธีต่างๆเช่น การเตรียมตัวก่อนขึ้นดอยของนักศึกษาในกิจกรรมรับน้องขึ้นดอย การรับน้อง และการออกกำลังกาย เป็นต้น  
         หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถานที่รับพระราชทานปริญญาบัตรของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถานที่จัดกิจกรรมรับน้องรวม ปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ กิจกรรมเฟรชชีไนท์เป็นต้น  
         ตลาดร่มสัก หรือ ตลาดฝายหินเป็นตลาดขายอาหารที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของชาว มช เป็นอย่างมากซึ่งอยู่คู่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มายาวนานหลายยุคสมัย และในตลาดร่มสักมีเมนูอาหารที่ขึ้นชื่อคือ สลัดฝายหิน และน้ำผลไม้ ซึ่งอาหารที่นี่มีราคาถูกมาก
         นอกจากแหล่งเรียนรู้สุดประทับใจดังได้กล่าวมา ดินแดนล้านนาของเรายังมีแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ อีกมากมาย ที่ผู้สนใจสามารถหาโอกาสมาแวะเวียน ศึกษาเรียนรู้ พักผ่อนกาย ใจ ได้ตามอัธยาศัย ทั้งแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ แหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรม และอื่น ๆ อีกมากมาย

เอกสารอ้างอิง[แก้]

[1] [2] [3] [4] [5] [6] [7] [8] [9] [10] [11] [12]

  1. กระทรวงศึกษาธิการ. (2555). คู่มือการดำเนินงานการจัดการศึกษาโดยครอบครัว. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ สกสค.
  2. โจน จันได. (2557). นักเรียนนอกกะลา การศึกษาเขย่าโลก. [การบรรยาย]. สวนพุทธธรรม สวนโมกข์กรุงเทพ : 29 พฤศจิกายน.
  3. สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2557). การจัดการศึกษาโดยครอบครัว พัฒนาผู้เรียนเฉพาะบุคคล จากการศึกษาพิเศษถึงการจัดการศึกษาโดยครอบครัว. นนทบุรี: รุ่งโรจน์อินเตอร์กรุ๊ป.
  4. JSTP 18. (2558). โคงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่นที่ 18 ครั้งที่ 2 ณ ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่.
  5. http://www.bloggang.com/m/mainblog.php?id=nugade&month=07-05-2013&group=6&gblog=73
  6. https://www.facebook.com/chittima.nitinakprach/photos_all
  7. https://www.facebook.com/sukhee.somngoen/photos_all
  8. http://www.thaiticketmajor.com/Travel-News/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%94-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88-1413-en.html
  9. https://www.youtube.com/watch?v=_S0zRt8PCpw
  10. https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3
  11. https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C%E0%B8%8B%E0%B8%B2%E0%B8%9F%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B5
  12. https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88#.E0.B8.AA.E0.B8.96.E0.B8.B2.E0.B8.99.E0.B8.97.E0.B8.B5.E0.B9.88.E0.B8.AA.E0.B8.B3.E0.B8.84.E0.B8.B1.E0.B8.8D.E0.B9.83.E0.B8.99.E0.B8.A1.E0.B8.AB.E0.B8.B2.E0.B8.A7.E0.B8.B4.E0.B8.97.E0.B8.A2.E0.B8.B2.E0.B8.A5.E0.B8.B1.E0.B8.A2.E0.B9.80.E0.B8.8A.E0.B8.B5.E0.B8.A2.E0.B8.87.E0.B9.83.E0.B8.AB.E0.B8.A1.E0.B9.88