ผีอำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฮนรี ฟูเซลลี (1781)

ผีอำ (อังกฤษ: sleep paralysis) ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 นิยามว่า "อาการที่ปรากฏเมื่อเวลานอนเคลิ้มไปว่ามีคนปลุกปล้ำหรือยึดคร่าให้มีอาการเหนื่อยหอบจนตื่นขึ้น."[1] เกิดจากขณะที่กำลังจะหลับ มักจะเกิดจากภาวะง่วงเกิน อาการผีอำที่เกิดขึ้นในขณะที่กำลังจะตื่น อาจจะเกิดจากโรคลมหลับ หรืออาจจะเกิดในคนที่อดนอนหรือนอนไม่พอมาหลายวัน หรือเข้านอนผิดเวลาได้

ผีอำเป็นความเชื่อในหลายวัฒนธรรม เช่น ภูมิภาคโทโฮะกุของญี่ปุ่น มีเรื่องเล่าถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่เมื่อนอนหลับไปแล้วถูกผีกดทับหรือจับที่ปลายขา บนเกาะนิวฟันด์แลนด์ของแคนาดา มีเรื่องเล่าว่า ผู้ที่ถูกผีอำ เพราะมีแม่มดมากดทับลำตัว[2] รวมทั้งไทยที่เชื่อมาแต่โบราณว่า เมื่อเคลิ้มจะหลับไป จะมีความรู้สึกอึดอัดเหมือนมีใครมากดทับที่ร่างกาย ไม่สามารถขยับตัวหรือส่งเสียงใด ๆ ได้ เชื่อว่าเป็นการกระทำที่เกิดจากผี

อาการ[แก้]

อาการผีอำมักเกิดทันทีเมื่อหมดช่วงการหลับแบบตากระตุก จะเป็นอยู่ไม่กี่นาที แล้วค่อย ๆ หายหรือหายทันที เมื่อถูกเรียก ถูกสัมผัส ถูกปลุก โดยใครก็ได้ ผู้ที่เป็นผีอำจะรู้สึกว่าตนนั้นตื่นอยู่ แต่ขยับเขยื้อนไม่ได้ ทั้งที่ตนได้พยายามขยับเขยื้อนแล้ว พยายามตะโกนเรียกให้คนช่วยแล้ว แต่ไม่มีคนได้ยิน เพราะไม่มีเสียงออกมา และเมื่อตื่นขึ้นจะจำเหตุการณ์และเล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว เมื่อนอนด้วยความเหนื่อยล้า ก็เกิดการประสานกันระหว่างสารเคมีกับสภาพชีวเคมีของร่างกาย เกิดอาการกดหรือค้างทำให้ขยับเขยื้อนร่างกายไม่ไหว เนื่องจากขณะที่ตื่นอยู่ สมองทำงานอยู่ แต่ร่างกายขยับเขยื้อนไม่ไหว เหมือนมีใครมาคุมร่างกายอยู่ ผู้ที่เกิดอาการนี้จึงเชื่อมโยงว่ามีผีมาจับตัว ซึ่งที่แท้คือความไม่สัมพันธ์กันระหว่างสมองกับร่างกาย ซึ่งเป็นอาการชั่วครู่เท่านั้น

ผู้ที่ถูกผีอำส่วนใหญ่จะนอนอยู่บนเตียง มีเป็นส่วนน้อยที่จะโดนอำในท่านั่งหลับบนเก้าอี้ หรือท่าที่ไม่สบายนัก และมักจะเกิดกับคนที่นอนหงายมากที่สุด ระยะเวลานานตั้งแต่ 2-3 วินาที จนถึง 10 นาที โดยจะหายไปเอง หรือไม่ก็ผู้ที่ถูกผีอำพยายามเอาชนะอาการเอง หรือมีคนมาช่วยสะกิดปลุกให้ตื่นขึ้น

โดยมีอาการหลอนทางประสาทสัมผัสเกิดร่วม ได้แก่ หลอนว่าตัวลอยหรือบินได้ หรือเหมือนกำลังออกจากร่าง หมุนเคว้ง หลอนทางสัมผัสกาย เช่น มีใครมากดทับหน้าอก หรือ มีใครมาสัมผัสตัว หรือ ดึงตัวเอาไว้กับเตียง บางทีก็รู้สึกว่าผ้าคลุมเตียงเคลื่อนไหว บางคนก็โดนเขย่าตัว หรือ มีความเจ็บปวดเกิดขึ้น หลอนทางการได้ยิน เช่น ได้ยินเสียงย่างเท้า เสียงเคาะประตู เสียงหายใจ เสียงคุย เสียงกระซิบ เสียงฮัม เสียงหึหึ หลอนทางการมองเห็น เช่น เห็นหมอกควัน หรือ ความมืดครึ้ม เห็นเป็นร่างคน สัตว์ หรืออสุรกาย บางทีก็มีการโต้ตอบทั้งทางกายหรือวาจากับสิ่งที่เห็นนั้น อย่างเป็นเรื่องเป็นราว หลอนทางการได้กลิ่น เช่น ได้กลิ่นเครื่องหอม กลิ่นเหม็นสาบ เป็นต้น

วิธีการแก้อาการผีอำ คือ การทำจิตใจให้สบาย ผ่อนคลายก่อนนอน หรืออาจใช้ยาประเภทคลายเครียดเข้าช่วย และเมื่อเกิดอาการผีอำแล้วให้นอนเฉย ๆ สักพัก อาการจะหายไปเอง[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ผีอำ จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-12. สืบค้นเมื่อ 2012-07-26.
  2. "มหัศจรรย์พันธุ์กาย KAITAI-SHIN SHOW". ช่อง 9. 14 August 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจาก2004 แหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 22 August 2014. {{cite web}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)
  3. ระวังเกิดผีอำขณะเคลิ้มหลับ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)