ผญา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ผญา หรือ ผะหยา เป็นคำกลอนหรือคำปรัชญาของลาวในและคนไทยภาคอีสานโบราณ ซึ่งภาษาสืบทอดมาจากภาษาของอาณาจักรล้านช้าง[1]และปัจจุบันการเล่นผญายังหลงเหลือในหมอลำกลอนแบบอีสาน คำว่าผญามีความหมายในกลุ่มเดียวกับปัญญาและปรัชญาบางครั้งสามารถใช้แทนกันได้[2] ซึ่งผญาป็นคำร้อยกรองที่คล้องจอง มีสัมผัสระหว่างข้อความไม่เข้มงวดและไม่มีฉันทลักษณ์กำหนดไว้อย่างชัดเจน แต่เวลาพูดจะมีการเน้นคำหนักเบาเพื่อให้ผู้ฟังมีความเพลิดเพลินและสารถจดจำได้ง่าย เรื่องที่ถูกแต่งเป็นผญามีหลายเรื่องเช่น คำสอนทางศาสนา เรื่องราวในชีวิตประจำวัน การเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว และการละเล่นของเด็ก เป็นต้น

ประเภท[แก้]

คำสอน[แก้]

มีลักษณะเตือนสติของผู้ฟังหรือผู้อ่านในนึกถึงศีลธรรมตามความเชื่อ กระตุ้นให้เกิดความสำนึกรักในถินกำเนิด หรือเป็นข้อความอุปมาอุปมัยให้ประพฤติตนเป็นคนดี เช่น

"คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มสัปทน อย่าได้ลืมคนจนผู้แห่นำตีนซ้าง"[3] หมายถึง ถ้าได้เป็นผู้มีอำนาจก็อย่าลืมเหลียวแลผู้ด้อยอำนาจกว่าหรือผู้อยู่เบื้องหลังตน

"บุญ บุญนี้บ่แหม่นของแบ่งได้ ปันแจกกันแหล่ว บ่อห่อนแยกออกได้ คือไม้ผ่ากลาง คือจั่งเฮากินข้าว เฮากินเฮาอิ่ม บ่แหม่นไปอิ่มท้อง เขาพุ้นผู้บ่กิน" หมายถึง การทำบุญเป็นสิ่งที่ทำได้เฉพาะตนเท่านั้นแบ่งไปให้คนอื่นไม่ได้ เหมือนกินข้าวแล้วคนที่กินถึงจะอื่มคนที่ไม่ได้กินก็ไม่อิ่มท้อง

เกี้ยวพาราสี[แก้]

มีลักษณะการเกี้ยวพาราสีหรือชมอีกฝ่ายในทางชู้สาว เพื่อถามคำถามหรือพรรณาถึงความรักที่ตนมี “สิบปีกะสิถ่าซาวพรรษากะสิอยู่ คันบ่ได้เป็นคู่เห็นแต่อุแอ่งน้ำกะปานได้นั่งเทียม” หมายถึง จะสิบปี ยี่สิบปีก็จะรอ ต่อให้ไม่ได้เจอหน้าเจอแค่ตุ่ม(ของคนที่ชอบ)ก็เหมือนได้นั่งอยู่ข้างๆ และมีการรับส่งระหว่างหญิงชาย เช่น

(ชาย) "อ้ายนี้อยากถามข่าวน้ำ ถามข่าวถึงปลา อยากถามข่าวนา ถามข่าวถึงเข้า อ้ายอยากถามข่าวน้อง ว่ามีผัวแล้วหรือบ่ หรือว่ามีแต่ชู้ ผัวสิซ้อนหากบ่มี"

(หญิง) "น้องนี้ปอดอ้อยซ้อยเสมอดังตองตัด พัดแต่เป็นหญิงมา บ่มีชายสิมาเกี้ยว พัดแต่สอนลอนขึ้น บ่มีเครือสิเกี้ยวพุ่ม พัดแต่เป็นพุ่มไม้เครือสิเกี้ยวกะบ่มี" หมายถึง

(ชาย) พี่อยากถามข่าวจากน้ำว่าปลาเป็นยังไง อยากถามข่าวจากนาว่าข้าวเป็นยังไง อยากถามข่าวน้องว่ามีสามีหรือยัง

(หญิง) น้องนี้โสดอยู่ ตั้งแต่เกิดมายังไม่มีใครมาจีบ และไม่รู้จะไปพึงพิงใคร

ปริศนา[แก้]

เป็นการตั้งทำถามที่ต้องใช้การตีความจึงจะเข้าใจความหมายที่แท้จริงของผู้สื่อสารหรือบางครั้งเป็นการประชดประชันผู้ฟัง เช่น

"อยากกินข้าว ให้ปลูกใส่พะลานหิน อยากมีศีล ให้ฆ่าพ่อตีแม่ อยากให้คนมาแวะ ให้ฆ่าหมู่เดียวกับ"

หมายถึง ถ้าจะกินข้าวให้ปลูกในลานหิน ถ้าอยากมีศีลให้ฆ่าพ่อแม่ ถ้าอยากให้คนมาหาให้ฆ่าเพื่อนทิ้ง ซึ่งเป็นการประชดประชันและความหมายจริงๆนั้นตรงกันข้ามกับข้อความในผญา

อวยพร[แก้]

ใช้อายพรในโอกาสต่างๆ เช่น "นอนหลับให้เจ้าได้เงินหมื่น นอนตื่นให้เจ้าได้เงินแสน แบมือไปให้ได้แก้วมณีโชติ โทษฮ้ายอย่ามาพาล มารฮ้ายอย่ามาเบียด” หมายถึง ตอนจะนอนหลับขอให้ได้เงินหมื่น นอนตื่นขอให้ได้เงินแสน กางมือออกได้แก้วมสปรารถนา โรคภัยอย่าได้เบียดเบียน


อ้างอิง[แก้]

  1. "ผญา ภูมิปัญญาอีสาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-11-18.
  2. "สุภาษิตโบราณอีสานรวบรวมไว้ให้ลูกหลานโดย คุณพ่อปรีชา พิณทอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-25. สืบค้นเมื่อ 2015-11-18.
  3. ""ผญา" ภูมิปัญญาของคนอีสาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-23. สืบค้นเมื่อ 2015-11-18.