ปูแป้น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปูแป้น
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Arthropoda
ไฟลัมย่อย: Crustacea
ชั้น: Malacostraca
อันดับ: Decapoda
อันดับฐาน: Brachyura
วงศ์: Varunidae
สกุล: Varuna
สปีชีส์: V.  litterata
ชื่อทวินาม
Varuna litterata
(Fabricius, 1798)
ชื่อพ้อง[1]

ปูแป้น หรือ ปูจาก หรือ ปูใบไม้ (อังกฤษ: Green tidal crab; ชื่อวิทยาศาสตร์: Varuna litterata) เป็นครัสเตเชียนจำพวกปูชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์ Varunidae

ปูแป้น จัดเป็นปูขนาดเล็กมีขนาดประมาณ 5–7 เซนติเมตร กระดองแบนและมีสีน้ำตาลแกมเหลือง สีของกระดองจะเข้มกว่าสีของขาเดิน มีหนามข้างกระดองหยักเป็นฟันเลื่อยมี 2 ซี่ ขอบตาเว้าระยะห่างพอ ๆ กัน ก้ามซ้ายขวามีลักษณะค่อนข้างแบนและขนาดใกล้เคียงกัน ขนอ่อนเส้นสั้น ๆ เรียงติดกันเป็นแผงตามขอบบนด้านในของข้อที่ 3–4 ส่วนข้อที่ 5 มีหนามยื่นยาวอยู่หนึ่งอันเล็ก ๆ อีกข้างละอัน ข้องที่ 4 ขาเดินทั้งสี่ไม่มีหนาม แต่มีขนอ่อนเรียงเต็มนิ้วของขาเดินแบนกว้าง ซึ่งจากลักษณะขาและขนทำให้เป็นปูแป้นเป็นปูที่ว่ายน้ำเร็วอีกชนิดหนึ่ง

เนื่องด้วยความที่มีกระดองลักษณะแบนแป้น จึงได้ชื่อว่า "ปูแป้น"[2]

ปูแป้น มีลักษณะคล้ายกับปูแสม แต่มีขนาดเล็กกว่าและผิวกระดองเรียบกว่า แต่ไม่มีพฤติกรรมในการขุดรูอยู่เหมือนปูแสม ตอนกลางวันจะหลบอยู่ตามโคนต้นไม้ตามแหล่งที่อยู่อาศัย และออกหากินในเวลากลางคืน[2] พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในหลายจังหวัดของไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยในภาคตะวันออก และภาคใต้ทั้งสองฝั่งทะเล โดยถือเป็นปูสองน้ำ เนื่องจากขณะที่ยังเป็นตัวอ่อนอยู่นั้นจะอาศัยอยู่ในทะเล จากนั้นลอยตามน้ำขึ้นมาอาศัยในน้ำจืดและน้ำกร่อยจนเป็นตัวเต็มวัย พอถึงฤดูสืบพันธุ์ก็จะเดินทางไปผสมพันธุ์และปล่อยไข่ในทะเล[3] มีถิ่นที่อยู่ตามแหล่งน้ำที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้นน้ำลง เช่น ป่าจาก หรือนาข้าว ในที่ ๆ เป็นน้ำกร่อย [2]

ฤดูสืบพันธุ์ของปูแป้นจะมีในช่วงกลางปีถึงปลายปีราวเดือนสิงหาคม–ธันวาคม โดยจะมีปรากฏการณ์ปูแป้นจำนวนมากอพยพเข้าในวางไข่ในแหล่งน้ำจืด โดยสถานที่ ๆ พบได้มากที่สุดในประเทศไทย คือ แม่น้ำเวฬุ และลำคลองสาขา ในเขตตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี จนเป็นงานเทศกาลของจังหวัดที่เรียกว่า "เทศกาลดูปูแป้น ชื่นชมธรรมชาติ" ในช่วงเดือนตุลาคม–พฤศจิกายนของทุกปี ปูแป้นจะมีจำนวนมากลอยมาตามกระแสน้ำหรือเกาะตามใบไม้ หรือเศษวัสดุต่าง ๆ ถึงขนาดใช้อวนหรือสวิงช้อนจับได้คราวละมาก ๆ ในเวลากลางคืน โดยจะปรากฏมากที่สุดในช่วง 2 วันหลังคืนวันเพ็ญของเดือนพฤศจิกายน (วันลอยกระทง) และจะเกิดต่อเนื่องเพียง 1–2 วัน ครั้งละ 90–120 นาที ซึ่งจะเป็นช่วงที่น้ำขึ้นน้ำลงขึ้นเต็มที่ในรอบปี นิยมนำไปปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย เช่น ผัดปูแป้นกับก๋วยเตี๋ยวเส้นจันทร์ หรือจับปิ้งปูแป้นดองน้ำปลา[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Varuna litterata (Fabricius, 1798)". WoRMS taxon details. สืบค้นเมื่อ 5 December 2015.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "ภัตตาคารบ้านทุ่ง 05 ธันวาคม 2558 ตอน ปูแป้น". ไทยพีบีเอส. 5 December 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 5 December 2015.
  3. "ปูแป้น". สนุกดอตคอม. 5 December 2015. สืบค้นเมื่อ 5 December 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]