ปสาทรูป

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปสาทรูป เป็นศัพท์ที่อยู่ในพระพุทธศาสนา ปสาท แปลว่าความใส คือ รูปที่มีความใส สามารถรับอารมณ์ได้

1. จักขุปสาทรูป (คือ ประสาทตา) เป็นรูปที่มีความใสดุจกระจกเงา ตั้งอยู่กลางตาดำ โตเท่าหัวเหา มีเยื่อตาบาง ๆ เจ็ดชั้นรองรับอยู่ สามารถที่จะรับภาพ (รูปารมณ์) ต่าง ๆจักขุปสาทรูปนี้ มีหน้าที่ 2 อย่าง คือ เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งจักขุวิญญาณจิต และ จักขุทวารวิถี

2. โสตปสาทรูป (คือ ประสาทหู) เป็นรูปที่มีความใสสามารถรับเสียง (สัททารมณ์) ได้ มีลักษณะเหมือนวงแหวน มีขนสีแดงเส้นละเอียดอยู่โดยรอบ หน้าที่ของโสตปสาทรูปมี 2 อย่าง คือ เป็นที่ตั้งแห่งโสตวิญญาณจิต (สถานที่ที่โสตวิญญาณจิตรับรู้เสียง) และ โสตทวารวิถี (ขบวนการของจิตที่เกิดดับติดต่อกันเป็นชุด ๆ ทางหู )

3. ฆานปสาทรูป (คือ ประสาทจมูก) เป็นรูปที่มีความใส สามารถรับกลิ่นต่าง ๆ (คันธารมณ์) ได้ มีลักษณะคล้ายเท้าแพะ ฆานปสาทรูปนี้มีหน้าที่ 2 อย่างเช่นเดียวกัน คือ เป็นที่ตั้งแห่งฆานวิญญาณจิต เพื่อรับกลิ่น และเป็นที่เกิดของฆานทวารวิถี

4. ชิวหาปสาทรูป (คือ ประสาทลิ้น) เป็นรูปที่มีความใสสามารถรับรสต่าง ๆ (รสารมณ์) ได้ ซึ่งมีลักษณะเหมือนกลีบดอกบัว ชิวหาปสาทรูปนี้ก็มีหนัที่ 2 อย่าง คือ เป็นที่ตั้งแห่งชิวหาวิญญาณจิต เพื่อรับรสต่าง ๆ และเป็นที่เกิดของชิวหาทวารวิถี

5. กายปสาทรูป (คือ ประสาทกาย) เป็นความใสของกายปสาทที่สามารถรับสัมผัสต่าง ๆ (โผฏ ฐัพพารมณ์ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ และ ธาตุลม) ได้ มีลักษณะเป็นความใสที่มีทั่วไปตามร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะถึงเท้า เว้นแต่เส้นผม เล็บ หรือหนังหนา ๆ จะไม่มีกายปสาท (ความรู้สึก) เวลาตัดผมตัดเล็บจึงไม่รู้สึกเจ็บ กายปสาทรูปทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ เป็นที่ตั้งแห่งกายวิญญาณจิต และเป็นที่เกิดของกายทวารวิถี

ปสาทรูป 5 เป็นรูปที่เกิดจากกรรม ปสาทรูป หมายถึง รูปที่มีความใสเป็นที่อาศัยเกิดของจิตประเภทปัญจวิญญาณ รูปที่มีความใสนี้มีอยู่ 5 อย่าง คือ จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป และกายปสาทรูป ตำแหน่ง รูปร่างสัญฐาน และการเรียงตัวของเนื้อเยื่อเฉพาะ ๆ ของรูปทั้ง 5 ไม่เหมือนกัน ปสาทรูป 5 จึงเป็นที่อาศัยเกิดของจิตได้เพียงบางดวง และไม่ก้าวก่ายกัน เช่น จักขุปสาทรูป เป็นที่ตั้งของจักขุวิญญาณเพื่อทำหน้าที่เห็นเท่านั้น ส่วนโสตปสาทรูปจะเหมาะสำหรับเป็นที่อาศัยเกิดของโสตวิญญาณเพื่อทำหน้าที่ได้ยินเท่านั้น จักขุวิญญาณจะไปอาศัยเกิดที่โสตปสาทรูป เพื่อทำหน้าที่เห็น หรือแม้แต่ทำหน้าที่ได้ยินก็ไม่ได้ ปสาทรูปอื่นก็เช่นเดียวกัน คือ เป็นที่อาศัยเกิดของจิตเฉพาะดวง โดยจิตนั้นมีความสามารถรับอารมณ์ได้เฉพาะอารมณ์ของตน ๆ ไม่ปะปนกัน

อ้างอิง[แก้]

อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนสังยุตต์ อนิจจวรรคที่ ๑ ๑. อัชฌัตติกอนิจจสูตร ที่มา: เอกสารประกอบการศึกษา พระอภิธรรมทางไปรษณีย์ ชุดที่ ๒ ชีวิตคืออะไร หลักสูตร: การศึกษาพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ ของ: อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย