ข้ามไปเนื้อหา

ปลาฉลามแม่น้ำฟันหอก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาฉลามแม่น้ำฟันหอก
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Chondrichthyes
อันดับ: Carcharhiniformes
วงศ์: Carcharhinidae
สกุล: Glyphis
สปีชีส์: G.  glyphis
ชื่อทวินาม
Glyphis glyphis
(Müller & Henle, 1839)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง[2] [3]
  • Carcharias glyphis Müller & Henle, 1839
  • Carcharhinus glyphis Müller & Henle, 1839

ปลาฉลามแม่น้ำฟันหอก หรือ ปลาฉลามฟันหอก (อังกฤษ: Speartooth shark; ชื่อวิทยาศาสตร์: Glyphis glyphis) เป็นปลาฉลามชนิดหนึ่ง จำพวกปลาฉลามแม่น้ำ จัดอยู่ในวงศ์ปลาฉลามครีบดำ (Carcharhinidae)

ปลาฉลามแม่น้ำฟันหอก เป็นปลาฉลามที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลแถบป่าชายเลนทางตอนเหนือของออสเตรเลีย, นิวกินี และบอร์เนียว โดยสามารถปรับตัวอาศัยให้อยู่ในน้ำจืดสนิทหรือน้ำกร่อยได้ มีรูปร่างเพรียวยาวสีเทา มีครีบหลังชิ้นที่ 2 ที่มีขนาดใหญ่และมีปื้นสีดำอยู่ใต้ครีบอกทั้ง 2 ข้าง มีซี่เหงือกทั้งหมด 5 ซี่ โดยที่ซี่แรกจะมีขนาดยาวกว่าซี่อื่น ๆ มีฟันรูปร่างเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ โดยฟันแถวบนนั้นมีลักษณะเป็นหยัก ฟันแถวล่างมีรูปร่างเหมือนหัวหอกแคบ ๆ และมีรอยหยักอยู่ตรงปลาย ใช้สำหรับกัดกินอาหารซึ่งได้แก่ ปลากระดูกแข็ง และสัตว์น้ำหน้าดินที่มีกระดองแข็งอย่างครัสเตเชียน เป็นอาหารโดยเฉพาะ

มีขนาดความยาวโดยเฉลี่ย 1 เมตร แต่เชื่อว่าอาจใหญ่ได้เต็มที่ถึง 2.5–3 เมตร

ปลาฉลามแม่น้ำฟันหอก ได้รับการบรรยายทางวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรกจากนักชีววิทยาชาวเยอรมัน 2 คน คือ โยฮันเนส มึลเลอร์ และยาค็อบ เฮนเล ในราวปี ค.ศ. 1839–41 โดยบรรยายจากตัวอย่างสตั๊ฟฟ์ของปลาฉลามเพศเมียความยาว 1 เมตร ที่ไม่ทราบที่มา (เป็นไปได้ว่าอาจจะมาจากทะเลจีนใต้ หรือมหาสมุทรอินเดีย) จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1843 นักมีนวิทยาชาวอเมริกันเชื้อสายสวิตเซอร์แลนด์ หลุยส์ อกาซซี่ ได้ตั้งสกุล Glyphis ขึ้นมาใหม่จากซากฟอสซิลที่พบในอังกฤษ คือ G. hastalis แต่อย่างไรก็ตามสกุล Glyphis ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับและถูกนำมาใช้ จนกระทั่ง แจ็ค เกอร์ริค ได้นำมาใช้ในปี ค.ศ. 1982 โดยเปลี่ยนมาจากสกุล Carcharhinus[3][4][5]

ภาพร่างต้นแบบของปลาฉลามแม่น้ำฟันหอก โดยมึลเลอร์และเฮนเล โดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Carcharias (Prionodon) glyphis

ปลาฉลามแม่น้ำฟันหอก ไม่ได้เป็นปลาที่ว่องไวปราดเปรียวเหมือนอย่างปลาฉลามในวงศ์เดียวกันชนิดอื่น ๆ ที่พบในทะเล โดยได้วิวัฒนาการตัวเองมาเป็นนักล่าในแม่น้ำที่มืดมิดและไหลเชี่ยวได้เป็นอย่างดี โดยใช้อีเล็กโทรเซปชั่นในการหาอาหาร และครีบหลังชิ้นที่ 2 ที่มีขนาดใหญ่เคลื่อนไหวด้วยความเร็วต่ำในกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว และจะให้กำเนิดลูกด้วยการคลอดออกมาเป็นตัวในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ลูกปลาแรกเกิดมีความยาว 50-59 เซนติเมตร และจะเพิ่มความยาวขึ้น 19 เซนติเมตรในทุก ๆ ปี[6][1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "Glyphis glyphis". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2010.2. 2005. สืบค้นเมื่อ 13 September 2010.
  2. จาก itis.gov
  3. 3.0 3.1 Müller, J. and F.G.J. Henle (1838–41). Systematische Beschreibung der Plagiostomen. Veit und Comp. p. 40.
  4. Roberts, T. R. (21 May 2007). "A new record for the speartooth carcharhinid shark Glyphis glyphis from Pulo Condor, South China Sea". Natural History Bulletin of the Siam Society 54 (2): 279–283.
  5. Compagno, L.J.V. (1984). Sharks of the World: An Annotated and Illustrated Catalogue of Shark Species Known to Date. Food and Agricultural Organization. pp. 506–509. ISBN 92-5-101384-5.
  6. Glyphis glyphis (Müller & Henle, 1839) จาก fishbase.org

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Glyphis glyphis ที่วิกิสปีชีส์