ปราสาทไฮเดิลแบร์ค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปราสาทไฮเดิลแบร์ค
มุมมองจากทิศเหนือ

ปราสาทไฮเดิลแบร์ค (เยอรมัน: Heidelberger Schloss) เป็นปราสาทเก่าในเมืองไฮเดิลแบร์ค ประเทศเยอรมนี เป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างจากยุคเรอแนซ็องส์ที่สำคัญที่สุดในตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อใด แต่ปราสาทหลังนี้ได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกในปีค.ศ. 1214 เมื่อจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ได้พระราชทานปราสาทหลังนี้ให้แก่ลุดวิจที่ 1 ดยุกแห่งบาวาเรีย ตั้งแต่นั้นมา ปราสาทหลังนี้ก็อยู่ในการครอบครองโดยตระกูลวิทเทลส์บัค จากการที่ปราสาทขนาดนี้มีขนาดใหญ่และตั้งอยู่บนเชิงเขา หน้าปราสาทมีแม่น้ำเนคคาร์ไหลผ่าน ปราสาทหลังนี้จึงเป็นป้อมปราการอย่างดีในการป้องกันข้าศึก

ในศตวรรษที่ 17 ได้เกิดสงครามครั้งใหญ่ขึ้นสองครั้งในทวีปยุโรป คือสงครามสามสิบปีและสงครามเก้าปี ปราสาทแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการปกครองของแคว้นพาลาทิเนตที่ต้องเผชิญกับการโจมตีสู้รบหลายครั้งจนปราสาทได้รับความเสียหายอย่างมาก แม้ผู้ปกครองแต่ละคนจะมีการซ่อมแซมแต่ก็ไม่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเนื่องจากภาวะสงคราม จนกระทั่งเมื่อสงครามสิ้นสุดลงในปี 1697 คาร์ลที่ 3 ฟรีดริช ผู้ปกครองพาลาทิเนตมีความคิดที่จะซ่อมแซมปราสาทหลังนี้ให้เสร็จ แต่ก็ต้องเป็นอันระงับไปเนื่องจากขาดแคลนเงิน

ในปี 1720 เกิดความขัดแย้งทางนิกายในเมืองไฮเดิลแบร์คขึ้น ทำให้เจ้าชายคาร์ลที่ 3 ฟรีดริช ผู้นับถือคาทอลิกทรงย้ายราชสำนักไปยังเมืองมันน์ไฮม์และสูญเสียสิทธิทั้งหมดในปราสาท เจ้าชายคาร์ลทรงสร้างวังแห่งใหม่ขึ้นที่มันน์ไฮม์ ตั้งแต่นั้นมา ปราสาทแห่งนี้ก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจใยดีมากนักและค่อยๆพังทลาย ชาวเมืองมักขึ้นไปเอาอิฐ ไม้ เหล็ก จากปราสาทแห่งนี้ไปสร้างบ้านเรือนของตน รัฐบาลของรัฐบาเดินต้องใช้เวลาร่วมครึ่งศตวรรษเพื่อพิจารณาว่าจะทุบปราสาทหลังนี้ทิ้งดีหรือไม่ จนกระทั่งได้ข้อสรุปในปี 1868 ว่ารัฐบาลจะทำการรักษาและบูรณะปราสาทหลังนี้ การบูรณะปราสาทหลังนี้ได้แล็วเสร็จในปี 1900 โดยใช้เงินบูรณะไปทั้งสิ้น 520,000 มาร์ค การบูรณะทำเฉพาะบางส่วนเท่านั้น ส่วนใหญ่ของปราสาทยังคงเป็นซากปรักหักพัง

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2[แก้]

ในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อปี 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จทอดพระเนตรปราสาทไฮเดิลแบร์คเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2450 และได้เสด็จลงไปทอดพระเนตรถังบ่มไวน์ขนาดใหญ่ที่อยู่ในคลังเก็บไวน์ด้านล่างของปราสาท โดยพระองค์ได้กล่าวถึงถังบ่มไวน์ใบนี้ในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 21 ว่า ถังบ่มไวน์ใบนี้มีความจุมากถึง 4,000 แกลลอน

นอกจากนี้พระองค์ยังได้ฉายภาพบรรยากาศของปราสาทไฮเดิลแบร์ครวมถึงตัวเมืองไฮเดิลแบร์ค

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ปราสาทไฮเดิลแบร์ค