การทิ้งระเบิดลิเบีย (พ.ศ. 2529)
การทิ้งระเบิดลิเบียของสหรัฐ พ.ศ. 2529 ชื่อรหัสว่า ปฏิบัติการเอลโดราโดแคนยอน (อังกฤษ: Operation El Dorado Canyon) ประกอบด้วยการโจมตีทางอากาศร่วมของกองทัพอากาศ กองทัพเรือและเหล่านาวิกโยธินของสหรัฐอเมริกาต่อลิเบียเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2529 การโจมตีดังกล่าวมีขึ้นเพื่อสนองต่อเหตุระเบิดดิสโก้เธคเบอร์ลิน พ.ศ. 2529
จุดกำเนิด
[แก้]วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2529 เจ้าหน้าที่ลิเบียวางระเบิดไนท์คลับ "ลาแบล" (La Belle) ในเบอร์ลินตะวันตก เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตสามศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 229 คน เยอรมนีตะวันตกและสหรัฐอเมริกาได้รับสำเนาโทรเลขจากเจ้าหน้าที่ลิเบียในเยอรมนีตะวันออกผู้มีส่วนในเหตุดังกล่าว
หลังการเจรจาทางทูตหลายวันกับคู่เจรจายุโรปและอาหรับ ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน สั่งการโจมตีลิเบียเมื่อวันที่ 14 เมษายน โดยมีการโจมตีห้าเป้าหมายเมื่อเวลา 2.00 น. วันที่ 15 เมษายน โดยมีวัตถุประสงค์แถลงไว้ว่า การทำลายล้างดังกล่าวจะส่งข้อความและลดความสามารถของลิเบียในการสนับสนุนและฝึกผู้ก่อการร้าย เรแกนเตือนว่า "หากจำเป็น [พวกเขา]จะทำเช่นนั้นอีก"[1]
การตีโฉบฉวย
[แก้]การโจมตีเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 2.00 น. (เวลาลิเบีย) และกินเวลาสิบสองนาที โดยมีการทิ้งยุทโธปกรณ์หนัก 60 ตัน เครื่องบินทิ้งระเบิดเอฟ-111 สิบแปดลำ บินจากสหราชอาณาจักรทิ้งระเบิดสนามบินทริโปลี ศูนย์ฝึกมนุษย์กบที่สถานศึกษานาวิกแห่งหนึ่ง และค่ายทหารบับ อัล-อะซิเซียในกรุงทริโปลี ระหว่างการโจมตีค่ายทหารบับ อัล-อะซิเซีย เอฟ-111 เครื่องหนึ่งถูกขีปนาวุธแซมของลิเบียยิงตกเหนืออ่าวซิดรา ระเบิดบางส่วนตกผิดเป้าหมาย และถล่มสถานที่ทางทูตและพลเรือนในกรุงทริโปลี ส่วนสถานทูตฝรั่งเศสพลาดไปอย่างหวุดหวิด เอ-6 อินทรูเดอร์ และเอฟ/เอ-18 ฮอร์เน็ท รวมยี่สิบสี่ลำ บินมาจากเรือบรรทุกเครื่องบิน ทิ้งระเบิดเรดาร์และจุดยิงต่อสู้อากาศยานในเบงกาซีก่อนทิ้งระเบิดเบนินาและค่ายทหารจามาฮิริยา ระเบิดจำนวนหนึ่งพลาดเป้าหมายและถูกพื้นที่อยู่อาศัย ตลอดจนสถานทูตตะวันตกจำนวนหนึ่งในเบงกาซี[2][3][4]
ผล
[แก้]ฝ่ายลิเบีย มีทหารและเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 45 คน[5] พลเรือนเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง ตลอดจนมีเรดาร์ภาคพื้นหลักถูกทำลายไปห้าจุด[6] ส่วนมูอัมมาร์ กัดดาฟีรอดชีวิต เพราะได้รับการเตือนล่วงหน้าทางโทรศัพท์จากนักการเมืองอิตาลี เบ็ตติโน คราซี[7] ฝ่ายสหรัฐอเมริกา มีเครื่องบินทิ้งระเบิดลำหนึ่งถูกยิงตก ลูกเรือเสียชีวิต 9 นาย
ลิเบียสนองโดยการยิงขีปนาวุธสกั๊ดสองลูกไปยังสถานียามฝั่งสหรัฐอเมริกาบนเกาะลัมเบดูซาของอิตาลี ซึ่งผ่านข้ามเกาะไปและตกในทะเล[8]
การตีโฉบฉวยดังกล่าวทำให้รัฐบาลลิเบียถึงจุดอ่อนแอที่สุดในรอบ 17 ปี[9] มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในการก่อการร้ายที่ลิเบียมีส่วนเกี่ยวข้อง[9]
ด้วยเสียงรับ 79 เสียง ไม่รับ 28 เสียง และงดออกเสียง 33 เสียง สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติรับข้อมติที่ 41/38 ซึ่ง "ประณามการโจมตีทางทหารซึ่งกระทำผิดต่อสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนลิเบียจามาฮิริยา (Socialist People's Libyan Arab Jamahiriya) เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2529 ซึ่งประกอบด้วยการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ[10]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1986 Year in Review: Strike on Qaddafi
- ↑ Operation El Dorado Canyon
- ↑ Bernard Weinraub (April 15, 1986). "U.S. Jets Hit 'Terrorist Centers' in Libya; Reagan Warns of New Attacks If Needed". NY Times.
- ↑ Libya - Encounters with the United States
- ↑ Kira Salak: Rediscovering Libya
- ↑ Pollack, Kenneth M. Arabs At War, Military Effectiveness 1948–1991 University of Nebraska Press, 2002
- ↑ "Italy helped "save" Gaddafi by warning of US air raid". Monsters and Critics. Rome. October 30, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-05. สืบค้นเมื่อ February 25, 2011.
- ↑ Libyan Missiles
- ↑ 9.0 9.1 Davis, Brian L. (1990). Qaddafi, terrorism, and the origins of the U.S. attack on Libya. New York: Praeger Publishers. p. 183. ISBN 0-275-93302-4.
- ↑ A/RES/41/38. United Nations.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Flashback: 1986 Bombing of Libya – slideshow by Life
- Margaret Thatcher's statement on US bombing of Libya
- Operation El Dorado Canyon from Air Force Association magazine
- Excerpt from Victor Ostrovsky's The Other Side of Deception เก็บถาวร 2016-02-20 ที่ Archive-It, HarperCollins, 1994
- The Libyan Strike: How The Americans Did It (Operation El Dorado Canyon) at Air Power Australia (c) July 1986