บ้านราชาวดีหญิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บ้านราชาวดีหญิง หรือ สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านราชาวดี (หญิง) จังหวัดนนทบุรี เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้งอยู่เลขที่ 78/15 หมู่ที่ 1 ซอย ติวานนท์-ปากเกร็ด 1 ถนนติวานนท์ ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120 ให้บริการดูแล คุ้มครอง และพัฒนากลุ่มเด็กที่มีความพิการทางสมองและปัญญาเพศหญิง อายุระหว่าง 7-18 ปี จำนวน 430 คน โดยเปิดดำเนินการ มาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2540

บ้านราชาวดีหญิงเป็นองค์กรที่จัดบริการอย่างมีมาตรฐานร่วมกับครอบครัว ชุมชน และสังคม เพื่อให้เด็กพิการพึ่งตนเองได้ตามศักยภาพ

วิสัยทัศน์

พัฒนาเด็ก คืนสู่สังคม อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

วัตถุประสงค์[แก้]

  • เพื่อให้การเลี้ยงดู ฟื้นฟู และพัฒนาเด็กหญิงพิการทางสมองและปัญญาที่มีอายุระหว่าง 7-18 ปี ในกรณี
  • เด็กถูกทอดทิ้ง เร่ร่อน พลัดหลง หรือขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู
  • ครอบครัวประสบปัญหาทางสังคมหรือไม่สามารถให้การเลี้ยงดูได้อย่างเหมาะสม
  • รับอุปการะต่อจากหน่วยงานอื่นๆทั้งภาครัฐและเอกชน

พันธกิจ[แก้]

  1. ฟื้นฟูสมรรถภาพด้านร่างกายตามศักยภาพของเด็กพิการ
  2. สงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพแก่เด็กพิการให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ สวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
  3. สนับสนุนชุมชน เครือข่ายให้มีส่วนร่วมในการจัดบริการสวัสดิการทางเลือกแก่เด็กพิการในสถานคุ้มครองฯ
  4. พัฒนาศักยภาพเด็กพิการให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ตามศักยภาพของตนเอง

การดำเนินงาน[แก้]

1. บริการด้านการเลี้ยงดู
ให้บริการปัจจัยสี่ โดยจัดให้บริการอาหาร 3 มื้อ ตามหลักโภชนาการ มีที่พักอาศัยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก จัดหาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนเครื่องนอน
และของใช้ที่จำเป็น มีพี่เลี้ยงและเจ้าหน้าที่พยาบาลดูแลด้านสุขภาพ และการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง
2. บริการด้านการฟื้นฟู พัฒนา
ให้การตรวจประเมิน วินิจฉัย วางแผนการรักษา บำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายทางด้านกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด มีการจัดหากายอุปกรณ์ เครื่องช่วยเหลือเด็กพิการประเภทต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพความพิการ
และส่งเสริมพัฒนาการโดยการฝึกทักษะการช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวัน ตลอดจนจัดกิจกรรมนันทนาการต่างๆ
3. บริการด้านการศึกษาและอาชีวบำบัด
จัดให้ได้รับการศึกษาและพัฒนาตามความเหมาะสม ตามความสามารถและศักยภาพของเด็ก จัดฝึกอาชีพในลักษณะอาชีวบำบัด ตามความถนัด
และความสนใจโดยเน้นเพื่อฟื้นฟูศักยภาพของเด็ก รวมถึงจัดหาอาชีพให้ตามความเหมาะสม
4. บริการด้านสังคมสงเคราะห์
จัดทำทะเบียนประวัติ และดำเนินการด้านเอกสารสิทธิประโยชน์ สวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวก ให้คำปรึกษา แก้ไขปัญหาพฤติกรรม จัดบริการที่เหมาะสมให้เป็นรายบุคคล
โ ดยทีมสหวิชาชีพ ตลอดจนแนะนำผู้ปกครองของผู้รับบริการให้สามารถเข้าถึงสิทธิและประโยชน์ที่ควรจะได้รับตามที่กฎหมายกำหนด

5. บริการด้านอื่นๆ

สนับสนุนชุมชน และให้เครือข่ายมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ จัดบริการสวัสดิการแก่เด็กพิการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเด็กต่อไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม