หลุยส์ ลาร์นอดี
หลุยส์ ลาร์นอดี | |
---|---|
เกิด | พ.ศ. 2362 |
เสียชีวิต | พ.ศ. 2442 (80 ปี) |
อาชีพ | บาทหลวง |
หลุยส์ ลาร์นอดี หรือ บาทหลวง ลาร์นอดี (ฝรั่งเศส: L' Abbé Larnaudie; พ.ศ. 2362 - พ.ศ. 2442) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสและมิชชันนารีคณะเยสุอิต ผู้นำวิทยาการการถ่ายภาพเข้ามาในประเทศไทย เป็นผู้ถ่ายภาพเจ้านายชั้นผู้ใหญ่และขุนนางในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2388 และเป็นผู้สอนการถ่ายภาพให้แก่พระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) และพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล)[1]
หลุยส์ ลาร์นอดี มีความรู้ในวิชาช่าง ฟิสิกส์ เคมี และวิทยาศาสตร์ สามารถประดิษฐ์เครื่องจักร เครื่องกล และความรู้ในการชุบโลหะ[2] เดินทางเข้ามาสยาม เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2388[3] พร้อมกับนำกล้องถ่ายรูปที่พระสังฆราชปาลเลอกัวซ์ สั่งซื้อมาจากปารีส มาด้วย
หลุยส์ ลาร์นอดี ได้เรียนภาษาไทยกับพระสังฆราชปาลเลอกัวซ์ อยู่นาน 6 เดือน และได้บวชเป็นบาทหลวง เป็นผู้ช่วยเขียน สัพะ พะจะนะ พาสา ไท พจนานุกรมสี่ภาษา ของปาลเลอกัวซ์ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2397 และได้เดินทางร่วมกับคณะทูตไทย นำโดยพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต บุนนาค) เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส และเข้าเฝ้าจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ในปี พ.ศ. 2404 กับ พ.ศ. 2410 ทำหน้าที่ล่าม[2]
หลุยส์ ลาร์นอดี เสียชีวิตในรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2442 อายุ 80 ปี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. ๑๐๐ ปีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระพุทธชินราชประจำปี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม รัตนโกสินทรศก ๑๒๓. กรุงเทพฯ : ดำรงวิทยา, 2548. 132 หน้า. ISBN 974-93740-5-3
- ↑ 2.0 2.1 เอนก นาวิกมูล. ลิ้นชักภาพเก่า ประมวลภาพ จากคอลัมน์เปิดกรุภาพเก่าในนิตยสารแพรวรายปักษ์ และคอลัมน์ลิ้นชักภาพเก่าในวิทยาจารย์. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์วิญญูชน, พ.ศ. 2550. 392 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-94365-2-3
- ↑ Charles Mayniard. Le second Empire en Indo-Chine. ปารีส : Sociate S'editions Scientifiques, ค.ศ. 1891.