ข้ามไปเนื้อหา

นโยบายการจัดระเบียบใหม่ (คิวบา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรคอนเซตราเซียน (นโยบายการจัดระเบียบใหม่)
ค่ายกักกัน
ชาวคิวบาผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบใหม่
ที่ตั้งคิวบา
สร้างโดยวาราเลียโน เวเลอร์
ดำเนินการโดยราชอาณาจักรสเปน
ผู้ถูกกักกันชาวคิวบาในชนบท
จำนวนผู้ถูกกักกัน400,000 - 500,000
เสียชีวิต170,000 - 400,000[1][2]

นโยบายการจัดระเบียบใหม่ หรือ เรคอนเซตราเซียน (reconcentración) เป็นนโยบายการสร้างค่ายกักกันคนคิวบาขนาดใหญ่ในพื้นที่ชนบทของทั้งเกาะคิวบา โดยรัฐบาลอาณานิคมสเปนที่นำโดยข้าหลวงใหญ่ประจำคิวบาในตอนนั้น วาราเลียโน เวเลอร์ เพื่อที่จะแยกระหว่างคนชนบททั่วไปกับกลุ่มกบฏคิวบา ที่กำลังก่อกำเริบขนาดใหญ่เพื่อแยกตัวออกจากสเปน

นับตั้งแต่ปี 2438 เป็นต้นมา ความขัดแย้งระหว่างชาวคิวบากับสเปนอันเป็นเจ้าอาณานิคมเริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเข้าทุกที จนในที่สุดชาวคิวบาที่ไม่พอใจต่อนโยบายการบริหารประเทศของเจ้าอาณานิคม โดยเฉพาะกับพวกนายทุนน้ำตาล เลยตัดสินใจทำการลุกฮือก่อกบฏต่อต้านอำนาจของสเปน ด้วยศักยภาพของกองกำลังกบฏที่มีน้อยกว่าทั้งทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพล พวกเขาจึงเน้นการสู้รบในแบบสงครามกองโจรเป็นหลัก ซึ่งในการรบนี้ได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากชาวบ้าน ชาวสวนดั้งเดิมของคิวบาที่ไม่ใช่นายทุนน้ำตาลในประเทศ ทำให้กลุ่มกบฏมีเสบียงและสายข่าวที่ดีมาโดยตลอด ในทางกลับกันเจ้าอาณานิคมอย่างสเปนต้องเผชิญกับภาวะยุ่งยากในการจัดการกบฏ และทำให้การปราบปรามยืดเยื้อออกไปมากกว่าที่ควรจะเป็น

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มกบฏคิวบาและเจ้าอาณานิคมสเปน ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำตาลอันเป็นเศรษฐกิจหลักของคิวบา จนกระทั่งในปี 2439 รัฐบาลสเปนได้ส่งวาราเลียโน เวเลอร์เข้ามาประจำการเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำคิวบา[3] พร้อมมอบอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการกลุ่มกบฏให้ราบคาบ ในฐานะทหารแล้วเวเลอร์เข้าใจยุทธศาสตร์การรบของกลุ่มกบฏคิวบา และมองเห็นต้นตอของปัญหานี้ว่า ชาวบ้านตามชนบทเป็นคนคอยช่วยเหลือกลุ่มกบฏ หากจะจัดการกลุ่มกบฏก็ต้องแยกกบฏออกมาจากชาวบ้าน[4] ดังนั้นแล้วเวเลอร์จึงได้ประกาศใช้นโยบายการจัดระเบียบใหม่ เพื่อทำการจัดระเบียบพื้นที่ชนบททั้งหมดของเกาะ โดยแยกและอพยพชาวสวนยากจนตามชนบทเอามาไว้รวมกันในค่ายกักกันที่ถูกเรียกว่า “เมือง” ที่มีกำลังทหารโดยรอบ ค่ายกักกันหรือเมืองใหม่นี้มีพื้นที่จำกัดและไม่ได้มีพื้นที่เพาะปลูกกว้างขวางเหมือนพื้นที่ดั้งเดิม แต่รัฐบาลเวเลอร์ก็ประกาศบังคับให้ทุกคนในชนบทต้องย้ายอพยพมายังค่ายกักกันนี้ภายใน 8 วัน หากใครฝ่าฝืนก็จะถูกยิงทิ้งในข้อหากบฏ ส่งผลทำให้ทุกคนในชนบทถูกย้ายให้เข้ามายังค่ายกักกันที่กระจายไปตามเขตต่างๆทั่วทั้งเกาะ ส่วนที่ดินทำการเกษตรดั้งเดิมของชาวสวนผู้ยากจน รวมทั้งปศุสัตว์ของพวกเขาก็ถูกทำลายหลังจากย้ายคนเข้าไปอาศัยในเขตกักกัน

ผลจากการประกาศใช้นโยบายนี้ของเวเลอร์ ส่งผลทำให้มีชาวคิวบากว่า 1 ใน 3 ของเกาะในตอนนั้น ต้องอพยพไปตั้งถิ่นฐานในค่ายกักกันที่ทางรัฐบาลจัดเตรียมเอาไว้ให้ ซึ่งภายในค่ายกักกันนั้นก็ไม่ได้มีสุขอนามัยที่เหมาะสม อาหารขาดแคลนและมีไม่พอต่อความต้องการของผู้คน ทำให้เกิดภาวะอดอยากรุนแรงภายในค่ายกักกัน ตลอดจนเกิดโรคระบาดเข้าซ้ำเติม ส่งผลโดยตรงทำให้มีพลเรือนร่วม 400,000 คน ต้องเสียชีวิตไป ซึ่งแม้ว่าจะมีพลเรือนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ทว่าตัวของเวเลอร์ก็ยังส่งให้คงนโยบายกักกันเอาไว้ตลอดสมัยที่เข้าเป็นข้าหลวงใหญ่ผู้ปกครองคิวบา[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Stucki, Andreas (2017). Las guerras de Cuba. Violencia y campos de concentración (1868-1898). La Esfera de los libros
  2. Katherine Hirschfeld (2017). Health, Politics, and Revolution in Cuba Since 1898. p. 133.
  3. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ ency
  4. 4.0 4.1 Perez, Louis (1983). Cuba between Empires 1878-1902. University of Pittsburg Press. p. 55. ISBN 0822971976.