นกบูบีตีนฟ้า
นกบูบีตีนฟ้า | |
---|---|
![]() | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Suliformes |
วงศ์: | Sulidae |
สกุล: | Sula |
สปีชีส์: | Sula nebouxii |
ชื่อทวินาม | |
Sula nebouxii Milne-Edwards, 1882 | |
ชนิดย่อย | |
| |
![]() | |
แผนที่แสดงถิ่นที่อยู่อาศัย |
นกบูบีตีนฟ้า (อังกฤษ: Blue-footed booby; ชื่อวิทยาศาสตร์: Sula nebouxii) เป็นนกบูบีชนิดหนึ่ง ในบรรดา 6 ชนิด จัดอยู่ในวงศ์นกบูบี (Sulidae)
เป็นนกทะเลที่มีขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง มีความยาวลำตัวได้ถึง 90 เซนติเมตร (36 นิ้ว) ความกว้างของปีกจากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่งถึง 1.5 เมตร (4.9 ฟุต[3])


นกบูบีตีนฟ้า มีลักษณะเด่นอันเป็นที่มาของชื่อ คือ ตีนที่เป็นพังผืดขนาดใหญ่เหมือนตีนเป็ดเป็นสีฟ้าหรือสีน้ำเงินสดในตัวผู้ ซึ่งสีฟ้านี้เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความแข็งแรงและช่วงอายุวัย นกตัวที่มีอายุมากและร่างกายไม่แข็งแรง สีฟ้าก็จะจืดจางลงไป นกตัวเมียจะเลือกตัวผู้ที่มีสีสดใส[4]
นอกจากนี้แล้วนกบูบีตีนฟ้า ยังเป็นนกบูบีเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่เมื่อจับคู่ผสมพันธุ์ ตัวผู้จะมีลีลาการเต้นรำด้วยการเต้นสลับขากัน กางปีก และส่งเสียงร้องเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ตัวเมีย ที่มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย ด้วยพฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้นกบูบีตีนฟ้าเป็นที่นิยมอย่างมากที่จะถ่ายภาพของผู้ที่นิยมการถ่ายภาพสัตว์ป่าหรือผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวผจญภัยธรรมชาติ ฤดูการผสมพันธุ์ของนกบูบีตีนฟ้าอยู่ในราวปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม[4]
เป็นนกที่สื่อสารกันด้วยเสียงร้องคล้ายเสียงผิวปาก เมื่อจับคู่กันแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีอีกฝ่ายกำลังบินอยู่ก็ตาม นกบูบีตีนฟ้าเป็นนกที่จับคู่เพียงตัวเดียวตลอดทั้งชีวิต ทำรังโดยการวางไข่ไว้บนพื้นดิน โดยมักสร้างอยู่ใกล้พุ่มไม้เพื่อช่วยในการบังกระแสลม วางไข่ครั้งละฟองเดียว หรือไม่เกิน 2 ฟอง บางครั้งอาจมากได้ถึง 3 ฟอง แต่ไข่ที่มีจำนวนมากถึงเช่นนี้ทำให้พ่อแม่นกไม่สามารถให้ความอบอุ่นในการฟักได้อย่างทั่วถึง ส่งผลถึงพัฒนาการของลูกนก ในยามกกไข่ แม่นกมักจะหันหน้าเข้าทางแสงแดดตลอด นักเดินเรือในยุคกลางจึงใช้พฤติกรรมของนกบูบีตีนฟ้าเป็นเข็มทิศ เมื่อฟักออกมาแล้ว ลูกนกจะแข่งขันกันเองในหมู่พี่น้อง ตัวที่แข็งแรงกว่าก็จะเป็นตัวที่อยู่รอดต่อไปจนเติบใหญ่[4]
นกบูบีตีนฟ้า หาปลาในทะเลกินเป็นอาหาร โดยมีพฤติกรรมบินโฉบเพื่ออาหาร โดยจะบินสูงขึ้นและหยุดอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เพื่อที่จะพับปีกให้แนบลู่กับลำตัว แล้วทิ้งตัวพุ่งดิ่งลงในน้ำ ซึ่งการบินลักษณะนี้ทำให้นกบูบีสามารถดำน้ำได้ลึกและจับปลาได้อย่างไม่พลาด นอกจากนี้แล้วยังมีส่วนหางที่ยาว ซึ่งหางนี้มีส่วนช่วยในการพยุงตัวให้บินโฉบเฉี่ยวไปมาได้อย่างคล่องแคล่ว และยังช่วยให้สามารถเปลี่ยนทิศทางในการบินและดำน้ำลงไปจับปลาได้อีกด้วย[5] อีกทั้งตีนที่เป็นพังผืดก็ช่วยให้ว่ายน้ำและดำน้ำได้อย่างดี จนสามารถพุ่งขึ้นบินสู่อากาศได้เลยเมื่อขึ้นมาบนผิวน้ำ [4]
นกบูบีตีนฟ้า กระจายพันธุ์ตลอดชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกา จนถึงหมู่เกาะกาลาปากอส และทิศใต้ของประเทศเปรู แต่ที่หมู่เกาะกาลาปากอสนั้น ไม่ได้มีนกบูบีตีนฟ้าอาศัยอยู่ในทุกเกาะ [4]
นกบูบีตีนฟ้า เป็นที่รู้จักครั้งแรกของชาวตะวันตก โดยชาร์ล ดาร์วิน ระหว่างการเดินทางไปยังหมูเกาะกาลาปากอส โดยการอนุกรมวิธานเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1822 ปีเดียวกับที่ดาร์วินเสียชีวิต โดยตัวอย่างต้นแบบแรกถูกส่งมาจากหมู่เกาะกาลาปากอส มีการศึกษาและจำแนกไว้ว่ามี 2 ชนิดย่อย คือ Sula nebouxii excisa Todd, 1948 และ Sula nebouxii nebouxii Milne-Edwards, 1882[2]

อ้างอิง
[แก้]- ↑ BirdLife International (2012). "Sula nebouxii". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2013.2. สืบค้นเมื่อ 26 November 2013.
- ↑ 2.0 2.1 "Sula nebouxii Milne-Edwards, 1882". ITIS Report.
- ↑ "Blue-footed Booby Day". Galapagos Conservation Trust. 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-31. สืบค้นเมื่อ 26 November 2012.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 "นกบู้บี้ ตีนฟ้า". now26. 28 February 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-21. สืบค้นเมื่อ 1 March 2015.
- ↑ นกบูบี BOOBY, หลังปกนิตยสาร แม็ค ม.ต้น. ปีที่ 14 ฉบับที่ 5: กันยายน 2537 ISSN 0857-1775
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้] ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Sula nebouxii ที่วิกิสปีชีส์