ทรีเซินแบร์ค

พิกัด: 47°7′5″N 9°32′36″E / 47.11806°N 9.54333°E / 47.11806; 9.54333
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ทรีเซินแบร์ก)
ทรีเซินแบร์ค
ธงของทรีเซินแบร์ค
ธง
ตราราชการของทรีเซินแบร์ค
ตราอาร์ม
เขตเทศบาลทรีเซินแบร์คในประเทศลีชเทินชไตน์ (สีแดง)
เขตเทศบาลทรีเซินแบร์คในประเทศลีชเทินชไตน์ (สีแดง)
พิกัด: 47°7′5″N 9°32′36″E / 47.11806°N 9.54333°E / 47.11806; 9.54333
ประเทศ ลีชเทินชไตน์
หมู่บ้านดูที่ ชุมชน
พื้นที่
 • ทั้งหมด29.77 ตร.กม. (11.49 ตร.ไมล์)
ความสูง884 เมตร (2,900 ฟุต)
ประชากร
 (2558)
 • ทั้งหมด2,596 คน
เขตเวลาUTC+1 (CET)
 • ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)CEST
รหัสไปรษณีย์9497
รหัสพื้นที่7004
รหัส ISO 3166LI-10
เว็บไซต์www.triesenberg.li
ทรีเซินแบร์ค (พ.ศ. 2530)
ชุมชนแห่งหนึ่งในเทศบาลทรีเซินแบร์ค มองลงไปยังหุบเขาซึ่งเป็นพื้นราบ (แม่น้ำไรน์)

ทรีเซินแบร์ค (เยอรมัน: Triesenberg, ท้องถิ่น: Trisabäärg) เป็นเทศบาล (Gemeinde) หนึ่งใน 11 แห่งของประเทศลีชเทินชไตน์ อยู่ในเขตเลือกตั้งตอนบน (Oberland [โอเบอร์ลันท์]) มีพื้นที่ 29.77 ตารางกิโลเมตร[1] ถือเป็นเทศบาลที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศ และยังตั้งอยู่สูงที่สุดในประเทศ ความสูงของพื้นที่ในเทศบาลอยู่ระหว่าง 700–2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล[1] ส่วนศูนย์กลางเทศบาลตั้งอยู่ที่ความสูง 884 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทรีเซินแบร์คประกอบด้วยพื้นที่สองส่วนซึ่งไม่ติดต่อกัน ส่วนหนึ่งอยู่ตรงกลางประเทศ มีพื้นที่ใหญ่กว่าอีกส่วน มีอาณาเขตติดต่อกับเทศบาลอื่นหลายแห่ง และอีกส่วนอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ติดต่อกับเทศบาลวาดุซ ชาน และประเทศออสเตรีย ทรีเซินแบร์คมีประชากรทั้งสิ้น 2,596 คน (พ.ศ. 2558)[2] มีความหนาแน่นประชากร 97 คน/ตร.กม.

ประวัติศาสตร์[แก้]

ยุคก่อนประวัติศาสตร์–อาณาจักรโรมัน[แก้]

พื้นที่ในเขตเทศบาลทรีเซินแบร์คถูกใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยพบหลักฐานเป็นฟางที่ใช้ในการปศุสัตว์ ซึ่งปัจจุบันชิ้นส่วนถูกเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์แห่งรัฐประเทศลีชเทินชไตน์ (Liechtensteinisches Landesmuseum) และของจำลองแสดงในพิพิธภัณฑ์บ้านเกิดวัลเซอร์ (Walser Heimatmuseum) ต่อมาเมื่ออิทธิพลของอาณาจักรโรมันได้ขยายมาถึง พื้นที่เกษตรกรรมต่าง ๆ ถูกตั้งชื่อในภาษาของชาวโรมัน เช่น กุฟลีนา (Guflina), รุงเกลีนา (Runggelina), ลาวาดีนา (Lavadina) เป็นต้น และชื่อดังกล่าวยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ภาษาโรมันก็ได้มีอิทธิพลมาตั้งแต่ก่อนหน้าการตั้งถิ่นฐานของชาววัลเซอร์

การตั้งถิ่นฐานของชาววัลเซอร์[แก้]

ชาววัลเซอร์ (Walser) ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในพื้นที่เทศบาลทรีเซินแบร์คตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 บันทึกหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดมาจาก ค.ศ. 1355 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการที่ชาววัลเซอร์ได้รับสิทธิ์ครอบครองพื้นที่บริเวณมัลบุนในปัจจุบันและได้กล่าวด้วยว่า "เคยครอบครองมาก่อน" ทำให้ทราบว่าชาววัลเซอร์ได้อาศัยในพื้นที่นี้มาตั้งแต่ก่อน ค.ศ. 1335 และได้รับศักดินาเป็นพื้นที่ในเทือกเขาแอลป์ เมื่อแรกนั้นชาววัลเซอร์ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่บนที่สูงและต่อมาจึงขยายชุมชนลดระดับลงมาทางหุบเขา ทำให้ปรากฏเป็นชุมชนหลายแห่งตั้งอยู่กระจายตามเชิงเขา[3]

สมัยใหม่[แก้]

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โครงสร้างทางเศรษฐกิจของทรีเซินแบร์คเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ชาวทรีเซินแบร์คในวัยทำงานส่วนใหญ่ทำงานบนพื้นที่ราบ (ซึ่งเป็นพื้นที่เทศบาลอื่นหรือเมืองหลวง) และไปกลับทุกวัน ปัจจุบันแรงงานมากกว่า 2 ใน 3 ของทรีเซินแบร์คทำงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการบนพื้นราบ ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมในเทศบาลทรีเซินแบร์คลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากนโยบายการฟื้นฟูสภาพที่ดินระหว่าง ค.ศ. 1960 ถึง 1993

อาณาเขต[แก้]

เทศบาลทรีเซินแบร์คมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

ส่วนที่ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับเทศบาลทรีเซิน ชาน และวาดุซ (เมืองหลวงของประเทศ)
  • ทิศเหนือ ติดต่อกับเทศบาลพลังเคิน
  • ทิศใต้ ติดต่อกับเทศบาลทรีเซิน และบัลท์เซิร์ส ซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาของเทือกเขาแอลป์
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับพื้นที่ภูเขาของเทศบาลชาน วาดุซ และบัลท์เซิร์ส
ส่วนที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับพื้นที่ภูเขาของเทศบาลวาดุซ และชาน
  • ทิศเหนือ ติดต่อกับพื้นที่ภูเขาของเทศบาลชาน
  • ทิศใต้และทิศตะวันออก ติดต่อกับประเทศออสเตรีย

ชุมชน[แก้]

การตั้งถิ่นฐานในเทศบาลทรีเซินแบร์คมีลักษณะเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กเป็นกลุ่มกระจายไปบนเชิงเขาที่ความสูงต่างกัน ทำให้เป็นแหล่งพักตากอากาศและแหล่งเล่นสกีที่นิยมของประเทศ ชุมชนในเทศบาลทรีเซินแบร์ค เช่น

  • โรเทินโบเดิน (Rotenboden)
  • โยนาโบเดิน (Jonaboden)
  • วังเงอร์แบร์ค (Wangerberg)
  • ชไตน์ออร์ท (Steinort)
  • ลาวาดีนา (Lavadina)
  • ซามีนา (Samina)
  • มาเซ็ชชา (Masescha)
  • ซีลุม (Silum)
  • มัลบุน (Malbun) - พื้นที่รีสอร์ตสกีเพียงแห่งเดียวและชุมชนที่อยู่สูงที่สุดของประเทศ[4]
  • กาไฟล (Gaflei)
  • ชเต็ค (Steg) - ชุมชนท่ามกลางหุบเขามีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก
  • ซึคคา (Sücka)


ภาษา[แก้]

เทศบาลทรีเซินแบร์คมีภาษาที่สำเนียงแตกต่างจากพื้นที่รอบข้างเรียกว่า สำเนียงเยอรมันวัลเซอร์ (Walserdeutsch) ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากภาษาของชาววัลเซอร์ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานถาวรในพื้นที่เทศบาลในปัจจุบันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 (ยุคกลาง)[5] สำเนียงท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์นี้ยังคงได้รับการส่งเสริมและธำรงไว้โดยเทศบาล สำเนียงดังกล่าวยังเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงความหลากหลายทางภาษาศาสตร์ของประเทศลีชเทินชไตน์ นอกจากนี้ชาวทรีเซินแบร์คยังพูดภาษาเยอรมันมาตรฐานและภาษาท้องถิ่นเยอรมันแอลิแมนนิก (Alemannic German) อีกด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Zahlen und Fakten ("ตัวเลขและข้อเท็จจริง") เก็บถาวร 2016-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซด์เทศบาลทรีเซินแบร์ค, สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2559 (เยอรมัน)
  2. Bevölkerungsstatistik 30. Juni 2015 ("สถิติประชากร ณ วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558") โดยสำนักสถิติ (Amt für Statistik), สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2559 (เยอรมัน)
  3. Die Walser – wer sind sie? ("ชาววัลเซอร์ พวกเขาเป็นใคร") เก็บถาวร 2016-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซด์เทศบาลทรีเซินแบร์ค, สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2559
  4. Was läuft im Winter mit dem vielen Schnee? ("มีอะไรในฤดูหนาวที่มีหิมะมาก") เก็บถาวร 2016-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซด์เทศบาลทรีเซินแบร์ค, สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2559 (เยอรมัน)
  5. P. Christiaan Klieger, The Microstates of Europe: Designer Nations in a Post-Modern World (2014), หน้า 41

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]