ด็อยท์เชอร์แวร์คบุนท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาคารผลงานออกแบบของมีส ฟัน แดร์ โรเฮอ ภายในนิคมไวซ์เซินฮ็อฟ (1927)

ด็อยท์เชอร์ แวร์คบุนท์ (เยอรมัน: Deutscher Werkbund; ภาษาเยอรมัน: [ˈdɔʏtʃər ˈvɛrkbʊnd], “สมาคมช่างฝีมือเยอรมัน”) เป็นสมาคมสัญชาติเยอรมันที่ประกอบด้วยศิลปิน สถาปนิก นักออกแบบ และนักออกแบบอุตสาหกรรม ก่อตั้งขึ้นในปี 1907 และกลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในพัฒนาการของสถาปัตยกรรมมอเดิร์นและการออกแบบอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการเกิดขึ้นของการออกแบบแบบเบาเฮาส์ในยุคต่อมา เป้าหมายแรกเริ่มของสมาคมนั้นเพื่อสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ในระดับอุตสาหกรรมกับผู้ชำนาญการในการออกแบบเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของเยอรมนีในตลาดโลก สมาคมจึงมีลักษณะไม่เป็นขบวนการศิลปะมากเท่ากับที่เป็นความพยายามในการผสานหัตถศิลป์ท้องถิ่นและเทคนิคการผลิตในระดับอุตสาหกรรมโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เยอรมนีมีความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมกับสหรัฐหรือสหราชอาณาจักร คติพจน์ของสมาคมคือ ฟ็อม โซฟาคิซเซิน ซุม ชแตทเทเบา (เยอรมัน: Vom Sofakissen zum Städtebau; จากหมอนอิงโซฟา ไปถึงการสร้างนคร) ซึ่งบ่งบอกถึงความสนใจขององค์กรซึ่งมีความกว้างขวาง

ประวัติศาสตร์[แก้]

ด็อยท์เชอร์ แวร์คบุนท์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อสถาปนิก โยเซฟ มาเรีย โอลบรีค เดินทางออกจาเวียนนามายังดาร์มชตัทในเยอรมนีเมื่อปี 1899 เพื่อตั้งนิคมศิลปิน (artists' colony) จากคำเชิญชวนของแอร์เนิสท์ ลูยส์ ดยุกใหญ่แห่งเฮสเซอ[1] แวร์คบุนด์จึงก่อตั้งขึ้นโดยโอลบรีค, เพเทอร์ เบเรินส์, ริชาร์ด รีเมอชมิท, บรูเนา เพาล์ และคณะ ในปี 1907[1] ที่มิวนิก

แรกเริ่มองค์การมีสถาปนิกสิบสองคน และบริษัทธุรกิจสิบสองเจ้าเป็นสมาชิก สถาปนิกที่ว่านี้ได้แก่เพเทอร์ เบเรินส์, เทโอโดร์ ฟีเชอร์ (ประธานองค์การคนแรก), โยเซฟ ฮ็อฟมัน, บรูโน เพาล์, มักซ์ ล็อยเงอร์ และ รีชาร์ด รีเมอชมิท สถาปนิกคนอื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับโครงการ รวมถึง ไฮน์ริค เทซเซอโนว และเฮนรี ฟัน เด เฟ็ลเทอ ชาวเบลเยียม ในปี 1914 องค์การมีสมาชิกถึง 1,870 คน ในจำนวนนี้มีบุคคลระดับหัวหน้าพิพิธภัณฑ์[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Wendy Moonan (7 December 2007), German Design for an Industrial Age The New York Times.
  2. Joan Campbell, The German Werkbund: The Politics of Reform in the Applied Arts (Princeton University Press, 2016)