ดีเทอร์ รามส์
ดีเทอร์ รามส์ | |
---|---|
ดีเทอร์ รามส์ ที่ Vitsœ | |
เกิด | วีสบาเดิน, รัฐเฮ็สเซิน, ประเทศเยอรมนี | 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1932
สัญชาติ | เยอรมัน |
อาชีพ | นักออกแบบอุตสาหกรรม |
มีชื่อเสียงจาก | สินค้า บราวน์, เครื่องโกนหนวด Vitsœ 606 Universal Shelving System |
ดีเทอร์ รามส์ (อังกฤษ: Dieter Rams) นักออกแบบอุตสาหกรรมชาวเยอรมัน เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะนักออกแบบที่ปฏิวัติรูปแบบเครื่องใช้ไฟฟ้าของ บราวน์ และ เฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตในประเทศอังกฤษของ Vitsœ ทั้งยังร่วมงานกับสถานศึกษาด้านการออกแบบอุตสาหกรรมต่างๆที่เน้นลัทธินิยมการใช้งานจริง (functionalism) ในแนวการทำงานออกแบบ ดีเทอร์ รามส์ มีความเชื่อในเรื่อง "การออกแบบที่น้อยกว่า แต่ดีกว่า" ("less but better") ซึ่งเป็นแนวทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีลักษณะที่ "ตัดทอนสิ่งไม่จำเป็น"[1] แต่มีคุณภาพที่ตอบสนองผู้ใช้แบบเหนือกาลเวลา (timeless) ผลงานเหล่านี้ยังมีอิทธิพลต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์รุ่นหลังเป็นจำนวนมาก และทำให้ ดีเทอร์ รามส์ เป็นที่รู้จักทั่วโลก
ชีวประวัติการทำงาน
[แก้]ดีเทอร์ รามส์ เริ่มเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์และการตกแต่งภายในที่ โรงเรียนศิลปะวีสบาเดน (Wiesbaden School of Art) ประเทศเยอรมนี ช่วงหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นานนัก เขาพักการศึกษาเพื่อรับประสบการณ์การฝึกงานช่างไม้ 1 ปี และหลังจากจบการศึกษาในปี 1953 เขาเริ่มประกอบวิชาชีพครั้งแรกกับสถาปนิกที่ชื่อ คาร์ล-อ็อตโต อาเปล (Karl-Otto Apel) ที่แฟรงก์เฟิร์ตในเยอรมนี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เยอรมนีกำลังฟื้นฟูประเทศหลังจากการแพ้สงคราม ทำให้เขาได้มีโอกาสร่วมงานกับสำนักงานสถาปนิกจากอเมริกันอย่าง Skidmore, Owings & Merrill (SOM)
หลังจากทำงานกับอาเปลไม่นาน ปี 1955 เขาก็เปลี่ยนงานไปเป็นสถาปนิกและนักออกแบบภายในให้กับบริษัทขายเครื่องใช้ไฟฟ้า บราวน์ เมื่อทำงานเพียง 4 ปี เขาก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น Chief Design Officer ดูแลงานออกแบบอุตสาหกรรมในปี 1961 และก็ตำรงตำแหน่งนี้มาจนถึงปี 1995
เขายอมรับว่า การใกล้ชิดกับตาของเขาที่เป็นช่างไม้ รวมทั้งงานสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะงานของสถาปนิกเยอรมันเช่น Mies van der Rohe และ Walter Gropius ได้ส่งอิทธิพลไปถึงการทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์ของเขาเป็นอย่างมาก และการได้ทำงานกับสถาปนิกอย่าง SOM และอาเปล ก็ทำให้เขาเรียนรู้ถึงความใส่ใจในรายละเอียดทุกๆ ขั้นตอนการออกแบบ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในขั้นตอนการทำแบบจำลอง และต้นแบบเป็นอย่างมาก[2]
"งานออกแบบมีหน้าที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ของสิ่งนั้นต้องตรงกับนิสัยและเข้ากันได้กับสภาพแวดล้อมของผู้ใช้"
— Dieter Rams
หลักการ "Good Design"
[แก้]ดีเทอร์ รามส์ นำเสนอแนวคิดเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ในกล่าวสุนทรพจน์ ณ เมืองนิวยอร์ก ถึงความสำคัญของการนำ “ศาสตร์ของผู้ใช้” (User-centered Design) มาเป็นหัวใจหลักในการออกแบบ จากการตั้งคำถามตัวเองว่า "การออกแบบของฉันเป็นการออกแบบที่ดีไหม" ("Is my design good design?") คำตอบที่เขาก่อขึ้นกลายเป็นรากฐานสำหรับหลักสิบประการที่โด่งดังของเขา คือ "หลักการออกแบบที่ดี" (Good Design Principles)[3]:
- ต้องมีความสดใหม่ หรือ เป็นนวัตกรรม (good design is innovative) - การออกแบบที่สร้างสรรค์ขึ้นเรื่อยๆ จะควบคู่ไปกับการปรับปรุงเทคโนโลยีซึ่งไม่อาจสิ้นสุดลงได้ เนื่องจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ต่อเนื่องจะถือเป็นโอกาสใหม่สำหรับการออกแบบใหม่อยู่เสมอ
- ต้องเกิดประโยชน์กับผู้ใช้อย่างแท้จริง (good design makes a product useful) - เมื่อผลิตภัณฑ์ถูกซื้อเพื่อนำมาเพื่อตอบสนองการใช้งานนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ยังต้องคำนึงถึงด้านความงามและจิตวิทยาของผู้ใช้ การออกแบบที่ดีต้องเน้นถึงประโยชน์ใช้สอยของผลิตภัณฑ์ซึ่งไม่มีสิ่งใดกีดขวางในการเข้าถึงประโยชน์นั้น และสามารถตอบโจทย์ของผู้ใช้ได้ตรงเป้าหมาย
- ต้องมีความสวยงาม (good design is aesthetic) - คุณภาพด้านสุนทรียศาสตร์ของผลิตภัณฑ์เป็นส่วนชี้นำสำคัญไปสู่ความเป็นประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ถูกนำมาใช้ทุกวันจะมีผลต่อผู้คนและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ใช้ ดังนั้นวัตถุที่ได้รับการออกแบบและผลิตอย่างดีเท่านั้นจึงจะสามารถมีความสวยงาม
- ต้องทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจได้อย่างง่ายดาย (good design makes a product understandable) - การออกแบบที่ดีจะสามารถอธิบายโครงสร้างที่ประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ ดีกว่านั้นคือ สามารถแสดงการทำงานของผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจนโดยการใช้การหยั่งรู้ของผู้ใช้ และที่ดีที่สุดคือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่อธิบายตัวมันเองได้
- ต้องทำให้เกิดประสบการณ์ที่ลื่นไหลไม่สร้างความรำคาญในการใช้ (good design is unobstrusive) - ผลิตภัณฑ์เป็นเหมือนเครื่องมือในการเติมเต็มความต้องการของผู้ใช้ ไม่เป็นเพียงของตกแต่งหรืองานศิลปะ การออกแบบที่ดีควรเป็นแบบที่เป็นกลางและไม่ฟุ่มเฟือยเพื่อให้ผู้ใช้มีพื้นที่ว่างสำหรับการแสดงออกความเป็นตัวเอง
- ต้องซื่อสัตย์และตรงไปตรงมา (good design is honest) - การออกแบบที่ดีไม่ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูมีนวัตกรรม มีประสิทธิภาพ หรือมีคุณค่า มากกว่าที่เกินความเป็นจริง หรือไม่พยายามที่ให้คำสัญญากับผู้บริโภคที่ไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้
- ต้องคงทนอยู่ได้ยืนนาน (good design is long-lasting) - โดยหลีกเลี่ยงการเป็นสินค้าแฟชั่นหรือตามกระแสและยังต้องไม่ดูโบราณ การออกแบบที่ดีนั้นไม่เหมือนการออกแบบสินค้าแฟชั่นตรงที่จะสามารถใช้งานได้เป็นเวลานานหลายๆปี แม้กระทั่งในปัจจุบันเราจะอยู่ในสังคมของการใช้แล้วทิ้งก็ตาม
- ต้องเจาะลึกถึงรายละเอียดต่างๆอย่างครบถ้วน (good design is thorough down to the last detail) - ไม่มีอะไรที่จะออกแบบไปโดยพลการ การดูแลเอาใจใส่และความถูกต้องแม่นยำในเข้าใจผู้ใช้ในกระบวนการออกแบบแสดงความเคารพต่อผู้บริโภค
- ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (good design is environmentally friendly) - การออกแบบที่ดีต้องทำให้เกิดส่วนสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยประหยัดทรัพยากรและลดมลภาวะทางกายภาพและมลภาวะทางตาได้ตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์
- ต้องทำให้เรียบง่ายอย่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (good design is as little design as possible) - "น้อยกว่า แต่ดีกว่า" เพราะมุ่งเน้นประเด็นที่สำคัญ และผลิตภัณฑ์จะตัดทิ้งในทุกสิ่งที่ไม่จำเป็น กลับสู่ความบริสุทธิ์ กลับสู่ความเรียบง่าย
“งานออกแบบที่ดีที่สุด คืองานออกแบบที่น้อยที่สุด”
— Dieter Rams
ผลงานออกแบบที่โดดเด่น
[แก้]-
ชั้นวางระบบโมดูล่า 606 Universal Shelving System, Vitsœ, 1960
-
Braun SK 61
-
Tonarmwaage, 1962
-
Braun Dieter Rams Lighter
-
ภาพเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ออกแบบโดย Jon Ive และ Dieter Rams
อ้างอิง
[แก้]- ↑ http://www.tcdc.or.th/articles/design-creativity/14980/#Design-Icon--ดีเทอร์-รัมซ์-Dieter-Rams-
- ↑ https://themomentum.co/successful-opinion-dieter-rams/
- ↑ https://www.vitsoe.com/de/ueber-vitsoe/gutes-design
- ↑ https://www.fastcompany.com/1669725/dieter-rams-on-good-design-as-a-key-business-advantage
- ↑ https://www.tcdcconnect.com/content/1175/10-principles-diter-rams[ลิงก์เสีย]