ดาโต๊ะปังกาลัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ดาโต๊ะปังกาลัน หรือ ดาตูปังกาลัน (มลายู: Datok Pengkalan or Datu Pengkalan) เป็นเจ้าเมืองปัตตานีในช่วงปี พ.ศ. 2334-2352 โดยดำรงตำแหน่งเป็นรายาองค์ที่ 2 ในฐานะประมุขสูงสุดแห่งเมืองปัตตานี.

ในปี พ.ศ. 2328 ปัตตานีได้ตกเป็นประเทศราชของสยาม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงแต่งตั้งเติงกูลามีเด็น เป็นเจ้าเมืองปกครองปัตตานี ครั้นถึงปี พ.ศ.2332 เติงกูลามีเด็นคิดกู้เอกราชปาตานีจากสยามโดยได้ส่งศาสน์ให้พระเจ้าองเชียงสือ กษัตริย์แห่งอันนาม(เวียดนามในปัจจุบัน)ให้ยกทัพตีกรุงเทพทางทิศตะวันออก ส่วนท่านเองจะยกทัพตีกรุงเทพทางทิศใต้ แต่พระเจ้าองเชียงสือได้นำเรื่องดังกล่าวกราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงส่งพระยากลาโหมราชเสนาลงมาปราบ ในที่สุดเติงกูลามีเด็นเสียชีวิตลงในการปราบครั้งนั้น ต่อมาได้แต่งตั้ง "ดาโต๊ะปังกาลัน" ปกครองปัตตานีแทน พร้อมทั้งแต่งตั้ง (ขวัญซ้าย) ไปเป็นผู้ตรวจการสอดส่องดูแลการปกครองของดาโต๊ะปังกาลัน

"ทางการไทยมองว่าการที่เติงกูลามีเด็นเลือกติดต่อพระเจ้าองเชียงสือ เป็นเพราะตระกูลผู้ปกครองปัตตานีมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชวงศ์ที่ปกครองจามปาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนาม"

หลักฐานไทยระบุเกี่ยวกับดาโต๊ะปังกาลันว่า "มีสติปัญญาและมีอำนาจมากเมืองใกล้เคียงก็คร้ามกลัวอยู่" และทางมลายูระบุว่า "ดาโต๊ะปังกาลัน" เป็นหลานของ(วันฟากิฮ์ อาลี มหารายาเลลา หรือ นิอาลี) ซึ่งเป็นโอรสในสุลต่านอับดุลฮามิดชาร์ หรือ นิมุสตอฟา ดาตูยามู-จามปา และได้รับแต่งตั้งเป็นแม่ทัพใหญ่ปัตตานีในสมัยรายาอูงู นับว่าเป็นสายตระกูลเจ้านายมลายูที่ได้กำเนิดเป็นดาตูปกครองเมืองต่างๆเช่น ปกครองจามปา(เวียดนาม) ดาตูยามู(ยะหริ่ง) ดาตูปูยุด และดาตูกลันตัน นอกจากนั้นดาโต๊ะปังกาลันยังเป็นบุตรเขยของดาโต๊ะกรือเซะ ดาโต๊ะปังกาลันจึงมีฐานอำนาจที่เข้มแข็ง[1]

ภายใต้การปกครองของดาโต๊ะปังกาลัน เมืองปัตตานีมีความสงบระดับหนึ่ง แต่ยังเกิดความขัดแย้งทางการปกครองระหว่างเจ้าเมืองมลายูและข้าราชการสยามขึ้นบ่อยครั้ง จนในปี พ.ศ.2351 ดาโต๊ะปังกาลันและวงศ์พระญาติซึ่งเป็นเจ้าเมืองในการปกครองปัตตานี ผู้นำในท้องถิ่นใกล้เคียงรวมทั้งชาวปัตตานี ร่วมกันยกกำลังเข้าโจมตีข้าราชการสยามที่ปกครองอยู่จนต้องหนีไปสงขลา กองทัพจากนครศรีธรรมราชและสงขลากำลังไปถึงปัตตานี แต่ไม่สามารถเอาชนะได้ จนกระทั้งกองทัพจากกรุงเทพ นำโดยเจ้าพระยาพลเทพออกไปช่วย ในที่สุดปัตตานียอมแพ้อย่างสิ้นเชิง ส่วนดาโต๊ะปังกาลันก็เสียชีวิตระหว่างการสู้รบ

อ้างอิง[แก้]