ข้ามไปเนื้อหา

ฌูล อาร์ดวง-ม็องซาร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฌูล อาร์ดวง-ม็องซาร์
วังด็องปีแยร์

ฌูล อาร์ดวง-ม็องซาร์ (ฝรั่งเศส: Jules Hardouin-Mansart, ฟังเสียง; 16 เมษายน ค.ศ. 1646 - 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1708) เป็นสถาปนิกชาวฝรั่งเศส ที่ผลงานถือกันว่าเป็นผลงานของสมัยบาโรกฝรั่งเศส[1]ที่รุ่งเรืองที่สุดที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความยิ่งใหญ่โอ่อ่าของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ม็องซาร์ถือกันว่าเป็นสถาปนิกคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของยุโรปของคริสต์ศตวรรษที่ 17

ประวัติ

[แก้]

ฌูล อาร์ดวงเป็นชื่อเมื่อแรกเกิด ม็องซาร์ศึกษากับฟร็องซัว ม็องซาร์ สถาปนิกผู้มีชื่อเสียงผู้เป็นน้องของปู่[2] และเป็นผู้ที่นำลักษณะสถาปัตยกรรมคลาสสิกเข้ามาผสานเป็นสถาปัตยกรรมบาโรกฝรั่งเศส ม็องซาร์ได้งานเขียนผังและภาพร่างทางสถาปัตยกรรมของฟร็องซัวมาเป็นสมบัติและใช้ “ม็องซาร์” ต่อท้ายชื่อ นอกจากนั้นก็ยังศึกษากับลีเบราล บรูว์อ็อง (Libéral Bruant) สถาปนิกผู้สร้างสถานพยาบาลทหารผ่านศึกในปารีสที่เรียกว่า “โรงพยาบาลเลแซ็งวาลีด” (Les Invalides)

อาร์ดวง-ม็องซาร์รับราชการเป็นสถาปนิกเอกในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่มีหน้าที่รับผิดชอบการขยายพระราชวังแซ็ง-แฌร์แม็ง-ออง-แล และต่อมา พระราชวังแวร์ซายส์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1675 อาร์ดวง-ม็องซาร์มีตำแหน่งเป็น “Surintendant des Bâtiments du Roi” (ผู้อำนวยการงานเกี่ยวกับพระราชฐาน) ผู้มีหน้าที่ออกแบบส่วนต่อเติมทุกส่วนและสร้างบริเวณใหม่ที่พระราชวังแวร์ซายส์ ที่รวมทั้งปีกเหนือและใต้, ชาเปลหลวง (ร่วมกับรอแบร์ เดอ ก็อต, ค.ศ. 1710) และห้องกระจกอันเป็นที่รู้จักกันดีที่ตกแต่งโดยชาร์ล เลอ เบริง ภายนอกตัวพระราชฐาน อาร์ดวง-ม็องซาร์สร้างกร็องทรียานงและเรือนส้ม และรับงานพระราชฐานอื่นที่ไม่ไกลออกไปเท่าใดนักเช่นที่พระราชวังมาร์ลี (เริ่มในปี ค.ศ. 1679)

ภาพเหมือนของฌูล อาร์ดวง-ม็องซาร์ โดยอียาแซ็งต์ รีโก (Hyacinthe Rigaud)

ในบรรดางานที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในปารีสก็ได้แก่ สะพานปง-รัวยาล, โบสถ์แซ็ง-ร็อก, โดมใหญ่ของชาเปลหลวงที่โรงพยาบาลเลแซ็งวาลีดที่อุทิศให้แก่นักบุญหลุยส์ (ออกแบบเมื่อราวปี ค.ศ. 1680), จัตุรัสวิกตัวร์ (ค.ศ. 1684–ค.ศ. 1686) ตามด้วย จัตุรัสว็องโดม (ค.ศ. 1690) สถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้ยังคงตั้งเด่นสง่าเป็นที่น่าสนใจแก่นักท่องเที่ยวมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ตำแหน่งหน้าที่การงานอันสำคัญในฝรั่งเศสเปิดโอกาสให้อาร์ดวง-ม็องซาร์ได้สร้างอนุสรณ์สถานสำคัญ ๆ หลายแห่งของยุคนั้น และวางแนวลักษณะของสถาปัตยกรรมบาโรกตอนปลายของฝรั่งเศสในเชิงควบคุม (ที่ได้รับการตำหนิจากสถาบันการศึกษา) ที่กว้างไกลไปจนถึงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และอาจจะสะท้อนไปถึงคอนสแตนติโนเปิลก็เป็นได้ ในขณะเดียวกันการมีเจ้าหน้าที่ในกรมกองเป็นจำนวนมากก็ทำให้มักจะได้รับการติเตียนว่าอาร์ดวง-ม็องซาร์มิได้มีความรับผิดชอบโดยตรงต่อสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในการอำนวยการ

อาร์ดวง-ม็องซาร์ใช้หลังคาม็องซาร์ที่ตั้งตามชื่อปู่ในการสร้างวังด็องปีแยร์ที่สร้างสำหรับชาร์ล ออนอเร ดาลแบร์ ดยุคแห่งลุยน์ แห่งโชลน์ และแห่งเชอวเริซ ลูกเขยของฌ็อง-บาติสต์ กอลแบร์ แม้วังแบบสถาปัตยกรรมบาโรกฝรั่งเศสขนาดย่อมก็จะมี “ประธานมณฑล” เช่นเดียวพระราชวังแวร์ซายส์เองก็มี และด้านหน้าก็จะเป็นลานหน้าที่ปูด้วยกรวดที่เรียกว่า “ลานเกียรติยศ” (Cour d'Honneur) ที่ตั้งอยู่หลังประตูเหล็กดัดอันงดงามสองชั้น และล้อมรอบด้วยสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่เชื่อมติดต่อกันด้วยระเบียงที่วางอย่างสมมาตร

การตกแต่งแบบฝรั่งเศสจะเป็นหน้าจั่วทางเข้าที่ไม่วิจิตรเท่าใดนักขนาบด้วยศาลาใหญ่ที่ยื่นออกมาสองศาลา ด้านหลังตอนกลางจะยื่นยาวออกไประหว่างแปลดอกไม้ที่ปัจจุบันเป็นลานหญ้า อุทยานเป็นแบบอุทยานภูมิทัศน์ ที่ตกแต่งด้วยสระน้ำที่ออกแบบโดยอ็องเดร เลอ โนทร์ ภายในเป็นการตกแต่งอย่างหยดย้อย (sumptuous) ที่เปรียบได้กับพระราชวังเฮทโล (เนเธอร์แลนด์) สำหรับวิลเลียมที่ 3 แห่งออเรนจ์

อ้างอิง

[แก้]
  1. Frédérique Lemerle & Yves Pauwels, "Baroque Architecture", Flammarion, 2008
  2. Catholic Encyclopedia (1913)/Jules Mansard

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ฌูล อาร์ดวง-ม็องซาร์