ซีวิลลอว์ (ระบบกฎหมาย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ระบบกฎหมายทั่วโลก

ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ (อังกฤษ: civil law) หรือเรียกอีกอย่างว่า ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร[1] เป็นระบบกฎหมายซึ่งได้รับอิทธิพลจากกฎหมายโรมัน ลักษณะพื้นฐานของซีวิลลอว์คือ เป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นระบบประมวล และมิได้ตัดสินตามแนวคำพิพากษาของศาล ระบบกฎหมายดังกล่าวจึงได้ยึดถือฝ่ายนิติบัญญัติเป็นบ่อเกิดหลักของกฎหมาย และระบบศาลมักจะใช้วิธีพิจารณาโดยระบบไต่สวน และศาลจะไม่ผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อนๆ

ในเชิงความคิด ซีวิลลอว์เป็นกลุ่มของแนวคิดและระบบกฎหมายซึ่งได้รับมาจากประมวลกฎหมายจัสติเนียน รวมไปถึงกฎหมายของชนเผ่าเยอรมัน สงฆ์ ระบบศักดินา และจารีตประเพณีภายในท้องถิ่นเอง รวมไปถึงความคิดเช่น กฎหมายธรรมชาติ แนวคิดในการจัดทำประมวลกฎหมาย และกลุ่มปฏิฐานนิยม (กลุ่มที่ยึดถือกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นหลัก)

ซีวิลลอว์ดำเนินจากนัยนามธรรม วางระเบียบหลักการทั่วไป และแบ่งแยกกฎระเบียบสารบัญญัติออกจากระเบียบพิจารณาความ ในระบบนี้จะให้ความสำคัญกับกฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นอันดับแรก เมื่อมีข้อเท็จจริงปรากฏขึ้น จะพิจารณาก่อนว่ามีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้หรือไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว ถ้ามีก็จะนำกฎหมายลายที่บัญญัติไว้นั้นนำมาปรับใช้กับข้อเท็จจริง หากไม่มีกฎหมายให้พิจารณาจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นนั้นๆ จารีตประเพณีก็คือ ประเพณีที่ประพฤติและปฏิบัติกันมานมนาน และไม่ขัดต่อศีลธรรม ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ถือว่าผิด และถ้าไม่มีจารีตประเพณีที่เกี่ยวข้อง กฎหมายจะอนุโลมให้ใช้บทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งก่อน จนในที่สุดหากยังไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งอีก ก็จะให้นำหลักกฎหมายทั่วไปมาปรับใช้ ดังนั้นในระบบนี้จึงไม่ยึดหลักคำพิพากษาเดิม จะต้องดูตัวบทก่อนแล้วถึงจะตัดสินคดีได้[2]

ภาพรวม[แก้]

หลักสำคัญของซีวิลลอว์คือการให้ประชาชนทุกคนสามารถรู้กฎหมายที่ตนและผู้พิพากษาต้องเคารพและปฏิบัติตาม โดยที่กฎหมายนั้นต้องเป็นลายลักษณ์อักษร ซีวิลลอว์เป็นระบบกฎหมายที่ใช้กันอย่างกว้างขวางที่สุดในโลก นำมาใช้ในลักษณะต่างๆ ประมาณ 150 ประเทศ และเป็นระบบกฎหมายที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน การล่าอาณานิคมทำให้ระบบซีวิลลอว์และระบบซีวิลลอว์อย่างยุโรปนำมาใช้อย่างกว้างขวางในประเทศกลุ่มละตินอเมริกา เอเชีย และแอฟริกา

บ่อเกิดสำคัญหลักของกฎหมายคือประมวลกฎหมาย ซึ่งเป็นประมวลที่รวบรวมกฎหมายที่บัญญัติขึ้นไว้อย่างเป็นระบบ การจัดทำประมวลกฎหมายมักจะเกิดจากการที่ฝ่ายนิติบัญญัติบัญญัติกฎหมายใหม่ขึ้นซึ่งได้รวมถึงกฎหมายในเรื่องเดียวกันนั้นที่มีอยู่แล้วและรวมถึงการตีความซึ่งผู้พิพากษาซึ่งได้ตีความไว้เป็นคำพิพากษา เพราะในบางกรณีการตีความกฎหมายโดยผู้พิพากษาอาจทำให้เกิดแนวคิดใหม่ทางกฎหมาย ระบบกฎหมายที่สำคัญอื่นของโลก เช่น ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ และระบบกฎหมายอิสลาม

ระบบกฎหมายซีวิลลอว์อาจแบ่งได้เป็น 4 ประเภท

  1. ซีวิลลอว์ที่ยังใช้กฎหมายโรมันและไม่มีแนวคิดในการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่ง ได้แก่ อันดอรา และซานมาริโน
  2. ซีวิลลอว์ที่เป็นระบบผสม กฎหมายโรมันเป็นบ่อเกิดกฎหมายที่สำคัญ แต่ยังได้รับอิทธิพลจากระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ด้วย ได้แก่ สกอตแลนด์ และประเทศที่ใช้กฎหมายโรมัน-ดัตช์ (แอฟริกาใต้ แซมเบีย ซิมบับเว ศรีลังกา และกียานา)
  3. ซีวิลลอว์ที่ใช้ประมวลกฎหมายเป็นหลัก เช่น ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว "ซีวิลลอว์" จะหมายถึงระบบกฎหมายซีวิลลอว์ประเภทนี้ และในบทความนี้จะเป็นการอธิบายถึงซีวิลลอว์ประเภทนี้เป็นหลัก
  4. ซีวิลลอว์ประเภทสแกนดิเนเวียน โดยมีพื้นฐานมาจากกฎหมายโรมันและกฎหมายจารีต รวมไปถึงการจัดทำประมวลกฎหมายบางส่วน กฎหมายของรัฐหลุยเซียน่าและควิเบกอาจถือได้ว่าใช้ระบบผสม ที่มีทั้งประมวลกฎหมายแพ่งในรูปแบบฝรั่งเศสและกฎหมายจารีตของฝรั่งเศสในยุคก่อนปฏิวัติ และยังได้รับอิทธิพลจากระบบคอมมอนลอว์ด้วย

ตัวอย่างที่สำคัญของซีวิลลอว์ ได้แก่ ประมวลกฎหมายนโปเลียน (1804) ซึ่งตั้งชื่อตามจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ตแห่งฝรั่งเศส ประมวลกฎหมายดังกล่าวประกอบด้วย 3 ส่วน กล่าวคือ กฎหมายลักษณะบุคคล ทรัพย์ และกฎหมายพาณิชย์ ประมวลกฎหมายนั้นจะประกอบด้วยหลักกฎหมายที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่การนำคำพิพากษาของศาลมารวบรวมให้เป็นกฎหมาย

ในบางครั้ง อาจเรียกระบบกฎหมายซีวิลลอว์ว่า ระบบกฎหมายโรมันใหม่ ระบบกฎหมายโรมันโน-เยอรมันิค หรือระบบกฎหมายยุโรป

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ศูนย์วิเทศอาเซียน, สำนักงานศาลยุติธรรม. "ภาพรวมระบบกฎหมายของแต่ละประเทศในอาเซียน". acc.coj.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-07. สืบค้นเมื่อ 2022-03-07.
  2. http://law.longdo.com/law/714/# เก็บถาวร 2010-09-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน มาตรา 4 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทย