ซอ (การร้อง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ซอ คือลำนำที่ขับร้องด้วยทำนองไพเราะ โดยมีซอเป็นเครื่องดนตรีที่ให้ทำนอง ซอจะต้องขับร้องด้วยถ้อยคำที่สัมผัสคล้องจองกัน ตามท่วงทำนองของเพลงซอ นั้น ๆ ซอแต่ละทำนองนั้นจะส่งคำสัมผัสและคำรับสัมผัสที่ไม่เหมือนกัน “คำซอ” หรือบทขับร้องซอนั้น จะไม่ส่งสัมผัสเหมือนบทค่าวหรือบทกวีเลย แต่จะสัมผัสโยงถ้อยคำ ในทำนองแต่ละเพลงนั้นโดยเฉพาะเท่านั้น

ทำนองซอมีอยู่ด้วยกันหลายทำนอง แต่ก็ไม่มีประวัติที่ทราบแน่ชัด ที่เกี่ยวกับผู้แต่งทำนองซอนั้น ๆ นอกจากจะให้ชื่อทำนองซอนั้นตามสถานที่ อันเป็นที่มาของทำนองซอนั้น ๆ เอาไว้ เช่นทำนองตั้งเชียงใหม่ ทำนองเชียงแสน ทำนองล่องน่านลำปาง ล่องน่านปั่นฝ้าย ซอพม่า ซอเงี้ยว ซออื่อ ซอจะปุ ซอละม้าย และ ซอพระลอเป็นต้น

คำศัพท์เฉพาะ[แก้]

ซอ"การจะซอนั้นต้องประกอบไปด้วย จั้งซอ คู้ถ้อง จั้งปี่-จั้งซึง ผาม

  • จั้งซอ" คือผู้ที่สามารถ ขับขานซอได้ มีปฏิภาณ ไหวพริบ เป็นเลิศ
  • "คู้ถ้อง" คือจั้งซอ ชายและหญิง ที่ซอเป็นคู่ ร้องโต้ตอบกัน
  • "จั้งปี่-จั้งซึง" คือผู้ที่ทำหน้าที่บรรเลงดนตรีประกอบการขับ
  • "ผาม" เวทีหรือปะรำเล็ก ๆ นั้นเอง ขนาด 4 x 4 เมตร สูง 1.5-2 เมตร

ผู้บรรเลง[แก้]

ผู้ที่ขับร้องซอนั้นเรียกกันว่า “จั้งซอ” และผู้เป่าปี่ที่ให้ทำนองนั้นเรียกว่า “จั้งปี่” ซึ่งปี่ที่ใช้นำมาบรรเลงนั้น นิยมใช้ปี่ 5 เล่ม (เลา) ครั้นต่อมาจั้งปี่มีงานมาก จึงได้แยกย้ายไปเป่าปี่ให้กับจั้งซอคู่อื่น ๆ ปี่ก็ลดลง 1 เล่ม เหลือเป็นปี่จุม 4 ประกอบด้วย ปี่แม่ ปี่กลาง ปี่ก้อย ปี่เล็ก

“จุม” หมายถึงชุด หรือหมู่นั้นเอง และในสมัยปัจจุบันนี้ จั้งปี่รุ่นเก่าค่อยหมดไปจากล้านนา วงปี่ซอจึงเหลือเพียง จุม 3 เท่านั้น และได้มีซึงเข้ามาบรรเลงร่วม ประมาณ 10 กว่าปีมานี้เอง เป็นที่น่าสังเกตว่า ซอที่ใช้ปี่นั้น จะมีเพียงเฉพาะในจังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ เท่านั้น ซอทาง แพร่ น่าน จะใช้ซึงกับสล้อ เรียกว่าซอล่องน่าน

“จั้ง” ถ้าจะแปลเป็นความหมายภาษาไทยนั้นคือ “นัก” นั้นเอง เช่น นักร้อง นักดนตรี แต่ภาษาไทยถิ่นเหนือจะเรียกว่า จั้งซอ จั้งปี่ จั้งแต้ม จั้งซึง ก็คือผู้ที่มีความสามารถในทางนั้น ๆ

* "จั้ง" คือคำว่า จ่าง ภาษาไทยก็คือ ช่าง นั่นเอง .. คำว่า "จ่าง" คนพื้นถิ่นภาคเหนือมักออกเสียงเร็ว ทำให้ฟังเป็น "จั้ง" ก็คือ "จ่าง" หรือ "ช่าง" นั่นเอง

*** จ่าง ในความหมายของคนล้านนา คือ "ผู้ที่ทำเป็น" หรือ "ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ" ทางภาคกลางเรียกกว่า "นัก" เช่น นักร้อง นักเต้น นักดนตรี นักปั้น

ความเป็นมาของจั้งซอและซอถ้อง[แก้]

“คู่ถ้อง” คำว่าถองนั้นหมายถึง การตอบโต้ ถามไถ่ หรือสนทนาแลกเปลี่ยนคำพูดกันระหว่างชายหญิง ส่วน“จั้งซอ” คือผู้ที่มีความชำนาญในการขับซอ

ธรรมเนียมของคนล้านนานั้น หากว่าเป็นลูกผู้หญิง เมื่อลูกหลานเรียนจบชั้นประถม เมื่อไม่ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านหรือดูแลน้อง ๆ แล้ว พ่อแม่ก็อาจจะนำไปฝากฝังกับครูซอที่ชอบพอกัน เพื่อให้ลูกหลานของตนเองนั้นร่ำเรียนวิชาซอ ผู้จะเป็นจั้งซอ จะต้องไปเรียนวิชาซอที่เรียกกันว่า “ไปตั้งขันเฮียนซอ” จากจั้งซอที่มีชื่อเสียง หรือจั้งซอที่ตนเองนิยมชมชอบนั้นเอง โดยมากในสมัยก่อนจำต้องไปอาศัยอยู่กับครูซอเสียเลย ไปปรนนิบัติวัฏฐาก ตั้งแต่ ตักน้ำ ซักผ้า ถูเรือน หุงข้าว ทำอาหาร ตามประเพณีอันเป็นธรรมเนียมระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ เมื่ออาจารย์ถ่ายทอดวิชาให้ ก็จะต้องหมั่นฝึกฝนท่องจำ และเมื่อพอมีความสามารถในเชิงซอบ้างพอสมควร ก็จะต้องติดตามครูไปทุกหนทุกแห่งที่ครูไปลงผามซอ ซึ้งจะต้องคอยไปดูลีลาท่าทางของครู เพื่อที่จะได้นำมาใช้กับตนเองเมื่อยามที่เจนจบวิชาซอ และออกผามในโอกาสต่อไป อีกทั้งการที่ได้ออกไปสัมผัสผามซอนั้น ช่วยให้เกิดความเคยชินจะได้ไม่เกิดความประหม่าเมื่ออกผามใหม่ ๆ

อ้างอิง[แก้]