ชาร์ลี แชปลิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ชาร์ลีย์ แชปลิน)
ชาร์ลี แชปลิน
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด16 เมษายน ค.ศ. 1889(1889-04-16)
Charles Spencer Chaplin, Jr.
เสียชีวิต25 ธันวาคม ค.ศ. 1977(1977-12-25) (88 ปี)
เวอแว, สวิตเซอร์แลนด์
คู่สมรสMildred Harris
(1918–1920 บุตร 1 คน)
Lita Grey
(1924–1927 บุตร 2 คน)
Paulette Goddard
(1936–1942)
Oona O'Neill
(1943–1977 บุตร 8 คน)
ปีที่แสดง1899–1976[1]
รางวัล
ออสการ์Academy Honorary Award
1929 The Circus
1972 Lifetime Achievement
Best Original Music Score
1972 Limelight

เซอร์ชาลส์ สเปนเซอร์ แชปลิน จูเนียร์ (อังกฤษ: Sir Charles Spencer Chaplin, Jr., KBE) หรือรู้จักกันในชื่อ ชาร์ลี แชปลิน (Charlie Chaplin; 16 เมษายน ค.ศ. 1889–25 ธันวาคม ค.ศ. 1977) นักแสดงตลกชาวอังกฤษ ผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่ง ในยุคต้นถึงยุคกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ของฮอลลีวูด อีกทั้งยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ซึ่งมีผลงานโดดเด่นหลายเรื่องด้วยกัน ตัวละครที่เขาแสดงซึ่งมีผู้จดจำได้มากที่สุดคือ "คนจรจัด" (The Tramp) ซึ่งมักปรากฏตัวในลักษณะคนจรจัดซึ่งสวมเสื้อนอกคับตัว สวมกางเกงและรองเท้าหลวม สวมหมวกดาร์บีหรือหมวกโบว์เลอร์ ถือไม้เท้าซึ่งทำจากไม้ไผ่ และไว้หนวดจุ๋มจิ๋ม แชปลินเป็นบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดคนหนึ่งในยุคภาพยนตร์เงียบ ดังจะเห็นได้จากการที่เขาทั้งแสดง กำกับ เขียนบท อำนวยการสร้าง และรวมไปถึงประพันธ์ดนตรีประกอบในภาพยนตร์ของเขาเอง

ผลงานบางเรื่องของเขาเช่น The Great Dictator, Monsieur Verdoux ทำให้เขาถูกโจมตีว่าเป็นผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ เนื่องจากเขามีความคิดทางการเมืองที่ขัดกับรัฐบาล นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาถูกสั่งห้ามเข้าอเมริกาอีก [2]

ประวัติ[แก้]

ชีวิตวัยเด็ก[แก้]

ชาร์ลี แชปลิน เกิดที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1889[3] โดยพ่อของแชปลิน (ชาร์ลี แชปลิน ซีเนียร์) เป็นนักร้องและนักแสดง แม่ชื่อลิลี ฮาร์ลีย์ เป็นนักแสดงและนักร้องโอเปรา แชปลินมีพี่ชายต่างพ่ออีกคนชื่อ ซิดนีย์ (Sydney) พ่อและแม่ของแชปลินหย่ากันตั้งแต่เขายังเล็ก ซึ่งทั้งหมดร่วมผจญชีวิตอันลำบากยากเข็ญมาด้วยกัน วันหนึ่งแม่ของแชปลินซึ่งป่วยเป็นโรคหลอดลมอักเสบ ต้องหยุดแสดงกลางคันเพราะเจ็บคอ ไม่มีเสียง ผู้ชมโห่ฮาไม่พอใจอย่างมาก ผู้จัดการเวทีไม่รู้จะ แก้ปัญหาอย่างไร บังเอิญเหลือบไปเห็นเด็กชายแชปลิน จึงพาออกมาแนะนำตัวต่อผู้ชมแล้วให้แชปลินแสดงแทนแชปลินร้องเพลงและเต้นระบำตามที่แม่หัดให้โดยไม่เคอะเขิน การแสดงของเขาเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมอย่างไม่คาดฝัน และนั่นเป็นการแสดงบนเวทีครั้งแรกของเข แต่เป็นครั้งสุดท้ายของแม่

เมื่อแม่ไม่สามารถยึดอาชีพนักแสดงได้ต่อไป ความเป็นอยู่ในครอบครัวก็ลำบากขึ้น แชปลินและพี่ชายต้องเร่ขายของและทำงานรับจ้างหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ในที่สุดแม่ก็เสียสติ เขาและพี่ชายต้องเข้าพึ่งสถานสงเคราะห์เด็กอนาถา

แม้จะประสบปัญหาทางการเงิน แต่ความฝันของแชปลินก็ยังไม่หมดไป ทุกเย็นเขาจะไปเดินเตร่แถวสำนักจัดหานักแสดง เมื่ออายุ 12 ปี แชปลินได้งานแสดงงานแรกเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ชื่อ บิลลี (Billy) ในละครเรื่อง เชอร์ล็อก โฮมส์ และได้งานต่อมาในเรื่อง Jim, The Romance of a Cockney และเริ่มเป็นที่รู้จัก แชปลินได้เข้ากลุ่มนักแสดงที่ชื่อ The Eight Lancashire Lads และได้รับความนิยมมากขึ้นจากฝีมือการเต้นแท็ปของเขา ซึ่งเพียงครั้งแรกที่แชปลินได้อวดฝีมือในการแสดง นักวิจารณ์ก็เขียนชมว่า แชปลิน เป็น... "ดาราที่อนาคตจะสุกใสแน่นอน"

ในช่วงปี 1912–1913

เข้าสู่วงการแสดง[แก้]

แชปลินได้มีโอกาสเดินทางไปอเมริกาโดยร่วมไปกับคณะละครของเฟรด คาร์โน และได้รับการติดต่อให้แสดงภาพยนตร์ของบริษัทคีย์สโตน แชปลินสร้างความชื่นชอบให้แก่ผู้ชมด้วยภาพของตัวตลกที่สวมเสื้อคับ กางเกงหลวม รองเท้าขนาดใหญ่ สวมหมวกใบจิ๋ว ควงไม้เท้า และติดหนวดแปรงสีฟันเหนือริมฝีปากภาพยนตร์ทุกเรื่องของแชปลินทำรายได้อย่างงดงามเป็นที่กล่าวขวัญตามหน้าหนังสือพิมพ์และร้านกาแฟ หลังจากที่ประสบความสำเร็จทางด้านการแสดง แชปลินก็ขอเขียนบทและกำกับการแสดงเอง

ตัวละครที่มีชื่อเสียงที่สุดของแชปลินคือ "คนจรจัด" (The Tramp)

ผลงานเรื่องแรกของเขาคือเรื่อง Caught in the Rain ในเวลา 1 ปี บริษัทคีย์สโตนก็มีหนังที่แชปลินแสดงถึง 35 เรื่อง แต่ละเรื่องทำรายได้สูงทั้งสิ้น ในระหว่างนี้แชปลินมีรายได้อาทิตย์ละ 200 เหรียญ เมื่อสัญญาครบ 1 ปี แชปลินก็ลาออกจากคีย์สโตนเพราะบริษัทฯ ไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนอาทิตย์ละ 1,000 เหรียญตามที่เขาเรียกร้องได้

แชปลินทำงานกับบริษัท เอสซันเนย์ และมิวชวล ฟิล์ม ตามลำดับ กับบริษัทหลังนี้ เขาได้ค่าจ้างอาทิตย์ละ 20,000 เหรียญและเงินโบนัสอีกปีละ 150,000 เหรียญ ค่าตัวของแชปลินเพิ่มเป็นปีละ 1 ล้าน 2 แสนเหรียญ เมื่อทำสัญญากับบริษัทเฟิสต์ เนชั่นแนล ในเวลานั้นแชปลิน กลายเป็นมหาเศรษฐีย่อย ๆ คนหนึ่ง และกลายเป็นอัจฉริยศิลปินของโลก

ภาพยนตร์ของแชปลิน[แก้]

ตัวละครที่มีชื่อเสียงที่สุดของแชปลินคือ "คนจรจัด" (The Tramp) ปรากฏตัวครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง Kid Auto Races at Venice (1914) ส่วนหนังที่สร้างชื่อเสียงให้เขาคือ The Kid (1921) , City Light (1931) , Modern Times (1936) และ The Great Dictator (1940)

ภาพยนตร์เงียบของแชปลิน มิใช่ภาพยนตร์ตลกธรรมดา แต่เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนความคิดที่มีต่อสังคมและมนุษย์ โดยเฉพาะความคิดที่มีต่อสังคมในระบบทุนนิยม ดังจะเห็นได้จากผลงานเด่น ๆ เช่น The Gold Rush เป็นเรื่องของยุคคลั่งทองในอเมริกาสะท้อนภาพชีวิตของคนอเมริกันในยุคต้นของระบบทุนนิยมที่สังคมเต็มไปด้วยการแย่งชิงและฉวยโอกาส คนรวยยิ่งรวยขึ้น ในขณะที่คนจนไม่มีโอกาสที่จะยกระดับตัวเอง เรื่อง City Lights ชี้ถึงผลการเติบโตของสังคม เรื่อง Modern Times แสดงถึงชีวิตของคนในสังคมอุตสาหกรรมที่มีการแบ่งงานกันทำอย่างเป็นระเบียบเครื่องยนต์กลไกต่าง ๆ ได้รับการพัฒนา หนังเปรียบเทียบให้เห็นว่ามนุษย์ตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และระบบการทำงานของสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น[4][5]เรื่อง Modern Times เป็นภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกของแชปลิน(แต่ออกมาในฉากเสียงวิทยุในคุกและฉากที่ตัวเขาเองกำลังร้องเพลง)

ประพันธ์เพลงและดนตรี[แก้]

นอกจากบทบาทการแสดงเป็นนตัวตลกผู้ยิ่งใหญ่ในยุคภาพยนตร์เงียบแล้ว แชปลินยังได้แต่งเพลงประกอบในภาพยนตร์ต่างๆ ไว้หลายเพลงด้วยกัน อาทิเพลง This is my song (ในภาพยนตร์ The Countess From Hong Kong), เพลง Smile (ในเรื่อง Modern Times , Sing a song (เรื่อง The Gold Rush), Now that it’s ended, Mandolin Serenade, Without you, The spring song (จากเรื่อง A King in New York) และ Beautiful, Wonderful Eyes (ใน City Lights), Weeping Willows เป็นต้น

ชาร์ลี แชปลินได้รับออสการ์สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมจากหนังเรื่อง Limelight ในปี 1972

ชีวิตส่วนตัวและครอบครัว[แก้]

แชปลินไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องความรัก เขาผ่านการหย่าร้างกับนักแสดงดาราสาวถึง 3 คน ได้แก่ มิตเลต ฮารีต (มีบุตร 1 คน), ลิตตา เกลต (มีบุตร 2 คน), พลาเล็ตส์ กล็อตดา จนมาพบกับ อูนา โอนีล ซึ่งเป็นการแต่งงานครั้งที่ 4 ชีวิตครอบครัวของเขาก็มีความสุขอย่างแท้จริง มีบุตรธิดารวมทั้งหมด 8 คน

เอ็ดน่า เพอร์เวียนซ์ นางเอกคู่บุญที่แสดงคู่กับชาร์ลีมากที่สุดถึงสี่สิบเรื่อง เอ็ดน่าเป็นรักแรกของชาร์ลีแต่ก็เป็นรักที่ไม่สมหวังเพราะว่าความเจ้าชู้ของชาร์ลี ทำให้เขาต้องเข้าพิธีวิวาห์กับมิตเลต ฮารีต แต่ยังไงก็ตามชาร์ลีและเอ็ดน่าก็ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเสมอมา ถึงแม้ว่าเวลาที่ยุคของภาพยนตร์เสียงเข้ามาแทนที่ภาพยนตร์เงียบ ทำให้เอ็ดน่าไม่มีงานแสดงอีกและมีชีวิตค่อนข้างยากลำบาก แต่ชาร์ลีก็มักที่จะให้โอกาสเธอมาร่วมแสดงฉากสมทบเล็กๆ น้อยๆ ในภาพยนตร์เสียงยุคหลังของเขา และช่วยเหลือจุนเจือโดยส่งเงินเบี้ยเลี้ยงให้เธอใช้ทุกเดือนจนกระทั่งเมื่อเธอเสียชีวิตเมื่อปี 1958

บุตรของชาร์ลี แชปลิน ได้แก่ เจอรัลดีน แชปลิน, ซิดนี่ แชปลิน, โจเซฟิน แชปลิน, วิคทอเรีย แชปลิน, ไมเคิล แชปลิน, คริสโตเฟอร์ แชปลิน, ยูจีน แชปลิน, นอร์มัน สเปนเซอร์ แชปลิน, แอนเน็ต เอมิลี่ แชปลิน, เจน แชปลิน

ถูกว่าเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์[แก้]

The Great Dictator (1940)

ในปี 1940 ชาร์ลี แชปลินสร้างภาพยนตร์เรื่อง The Great Dictator เป็นภาพยนตร์ล้อเลียนฮิตเลอร์ เป็นภาพยนตร์เสียงเรื่องต่อมาของชาร์ลี แชปลิน ซึ่งสอดแทรกความคิดทางการเมืองของเขาไปด้วย เป็นเรื่องของฮิงเกลผู้นำตลอดกาลแห่งรัฐโทมาเนีย ผู้นำที่บ้าคลั่งอำนาจและสงครามและมีความฝันสูงสุดคือการที่จะได้ครองโลก โดยเดินเรื่องคู่ไปกับ ช่างตัดผมชาวยิว ที่หน้าตาเหมือนกันกับผู้นำฮิงเกล ที่เคยไปออกรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและเมื่อกลับมาก็ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลโรคจิตนับสิบปี จนเมื่อออกมาจากโรงพยาบาล ก็พบว่าบ้านเมืองของเขาภายใต้การปกครองของฮิงเกล ไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป

แชปลินในขณะนั้นถึงเป็นมหาเศรษฐีแต่ก็มีปัญหาอย่างหนักเรื่องทัศนคติทางการเมือง โดยเฉพาะเขากำลังถูกจับตามองจากรัฐบาลอเมริกาในข้อหาฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ [6] ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ประสบความสำเร็จด้านวิจารณ์และประสบความสำเร็จอย่างดีด้านรายได้ [7]

ในปี 1947 ชาลี แชปลิน ได้สร้าง กำกับ และแสดงภาพยนตร์ขาวดำออกมาเรื่อง Monsieur Verdoux เป็นภาพยนตร์ตลก เกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่องชาวฝรั่งเศส บทภาพยนตร์อ้างอิงมาจากเรื่องจริง ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้รับความนิยม อีกทั้งยังถูกต่อต้านจากหลายฝ่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกากล่าวหาว่าแชปลินเป็นพวกฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ อีกทั้งก่อนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้ฉาย แชปลินโดนแกล้งจากฝ่ายเซนเซอร์ของรัฐบาลอเมริกา และจากความผิดหวังกับประเทศสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ ทำให้เขาถูกโจมตีว่าเป็นผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ เนื่องจากเขามีความคิดทางการเมืองที่ขัดกับรัฐบาล นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาพร้อมกับครอบครัวต้องถูกสั่งออกจากอเมริกาและห้ามเข้าอเมริกาอีก ในปี 1952[8][9]

แจ็ก เลมมอน (ซ้าย) แชปลิน (ขวา) ขึ้นรับรางวัลออสการ์เกียรติยศ ในปี 1972

ช่วงบั้นปลายชีวิต[แก้]

ในปี 1972 ชาร์ลี แชปลินกลับมายังสหรัฐอเมริกาอีกครั้งในรอบ 20 ปี เพื่อมาได้รับรางวัลออสการ์เกียรติยศ (Academy Honorary Award) ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 44 ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตที่ได้ขึ้นรับรางวัลออสการ์ด้วยตนเอง เขากล่าวคำขอบคุณทุกคนที่ยังระลึกถึงเขาได้และเขารู้สึกซาบซึ้งใจมากจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ทุกคนในงานลุกขึ้นตบมือให้เขานานมากจนถึงกับบันทึกไว้ในสถิติของการจัดงานเลยว่าเป็นการสแตนดิ้งโอเวชั่นที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ของออสการ์[10]

ช่วงบั้นปลายชีวิต ชาร์ลี แชปลิน พำนักอยู่กับอูนาและลูก ๆ ที่สวิตเชอร์แลนด์ ในปี 1975 เขาได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ให้เป็น เซอร์ชาลส์ สเปนเซอร์ แชปลิน จูเนียร์ (Sir Charles Spencer Chaplin, Jr.)

ถัดมาอีก 2 ปี ในวันคริสต์มาส 25 ธันวาคม 1977 ชาร์ลี แชปปลิน ก็ถึงแก่กรรมอย่างสงบ ปิดฉากอัจฉริยนักแสดงดาวตลกระดับโลกผู้เป็นไอดอล ของนักแสดงหลายๆคน ไปด้วยวัย 88 ปี [11]

ในวันที่ 1 มีนาคม 1978 โลงศพของ ชาร์ลี แชปปลิน ถูกขุดและถูกขโมยโดยคนว่างงาน คือ Roman Wardas และ Gantcho Ganev เพื่อเรียกค่าไถ่จากภรรยาของ ชาร์ลี แชปลิน ทั้งคู่ถูกจับจากการร่วมมือครั้งใหญ่ของตำรวจในเดือนพฤษภาคม โลงศพของ ชาร์ลี แชปปลิน ถูกขุดพบในสนามหญ้าใกล้กับหมู่บ้าน Noville และถูกกลับมาฝังใหม่ที่สุสานในเมือง Corsier โดยถูกล้อมรอบด้วยคอนกรีตเสริมใยเหล็ก

อ้างอิง[แก้]

  1. "Trivia for A Woman of Paris: A Drama of Fate (1923)". Internet Movie Database. สืบค้นเมื่อ 22 June 2007.
  2. "ชาลี แชปปลิน ตำนานแห่งเสียงหัวเราะ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-23. สืบค้นเมื่อ 2013-11-11.
  3. หัวร่อร่า น้ำตาริน: อนุสติจากชีวิตตลกเอกของโลก – ชาลี แชปลิน โดย ธีรภาพ โลหิตกุล
  4. ชาร์ลี แชปลิน: สุภาพบุรุษพเนจร โดย จิตรลดา อุดมประเสริฐกุล
  5. "Modern Times" บทเรียนเศรษฐศาสตร์ของชาลี แชปลิน[ลิงก์เสีย]
  6. The Great Dictator - อย่าฟังคนบ้า จะพาไปตาย
  7. "The Great Dictator สยบเผด็จการด้วยเสียงหัวเราะ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-13. สืบค้นเมื่อ 2013-11-11.
  8. หนังตลกที่ตลกไม่ออกของ ชาลี แชปลิน Monsieur Verdoux (1947)
  9. ข้อคิดจาก ตลกระดับโลก ชาร์ลี แชปลิน ในยุคแห่งความเกลียดชังในอเมริกา (ไทย)[ลิงก์เสีย]
  10. รายการ แฟนพันธุ์แท้ 2013 เรื่อง ออสการ์ ครั้งที่ 2 ออกอากาศ 15 มีนาคม 2556
  11. รำลึก 122 ปี "ชาร์ลี แชปลิน" ราชาตลกสุดคลาสสิคผู้ยิ่งใหญ่ ที่อยู่ในใจคนทั้งโลก!![ลิงก์เสีย] ค้นพบเมื่อ 8 กันยายน 2556

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]