ฉบับร่าง:วัดเขาโบสถ์ (จังหวัดระยอง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในอดีตพื้นที่บริเวณเชิงเขานั้นเป็นพื้นที่ชาก สำหรับเวลามีการลงแขกช่วยกัน ทำนาบ้าง ปลูกมันบ้าง ในภายหลังชุมชนเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นจึงได้มีการดำริสร้างเป็นสถานที่พักสงฆ์ขึ้นมาไว้สำหรับเป็นสถานที่ทำบุญกัน เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๐๐ มี นายจักจั่น นายเรไร นายสุดใจ นายสายบัว ซึ่งเป็นคนจันทบุรีพร้อมด้วยชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาเป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้น โดยร่วมกันจัดหาที่ดินและก่อสร้างเป็นสำนักสงฆ์ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อจะได้เป็นที่พำนักของสงฆ์ และใช้เป็นที่ประกอบกิจทางศาสนาสำหรับทำสังฆกรรมในการสวดพระปาติโมกข์ โดยใช้พื้นที่บริเวณเชิงเขาทำเป็นโรงอุโบสถ เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้ตั้งชื่อว่า “สำนักสงฆ์เขาชากแขก” ตามชื่อของหมู่บ้าน ที่มีเรื่องเล่าว่าสถานที่นี้เดิมมีพวกแขกได้มาทำไร่อ้อยซึ่งต่อมาได้เลิกร้างไป ต่อมาภายหลังเจ้าอาวาสพร้อมด้วยชาวบ้านได้จัดหาที่ดินเพิ่มขึ้นที่พื้นราบ และได้ย้ายลงมาสร้างสำนักสงฆ์ใหม่ที่พื้นที่ราบด้านล่าง เนื่องจากการเดินทางขึ้นลงเขายากลำบาก และได้ดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุ และสร้างโรงอุโบสถขึ้นแทนการใช้ภูเขาในการทำสังฆกรรม

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๒๑ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ชื่อว่า “วัดเขาชากแขก” ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้มีการเสนอขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าพระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าตัวอุโบสถนั้นสร้างขึ้นเมื่อใดมิได้ถูกจดบันทึกเอาไว้ ถ้าดูจากสถาปัตยกรรมแล้ว รูปทรงนั้นเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาตอนกลาง ภายหลังปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้มีการเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่เพราะเห็นว่าชื่อ “วัดเขาชากแขก" ไม่ไพเราะและไม่เหมาะสม จึงพร้อมใจกันเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดเขาโบสถ์ " ตามลักษณะของวัด คือมีโบสถ์หลังเดิมซึ่งเคยสร้างไว้ชั่วคราวบนเขาและเพื่อให้สอดคล้องกับชื่อของชุมชน

ในสมัยนั้นการคมนาคมไม่ได้สะดวกเหมือนปัจจุบัน การก่อสร้างโรงอุโบสถหลังหนึ่งจะต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะอุโบสถหลังเก่านั้นเป็นอุโบสถแบบโบราณมีทางเข้าออกทางเดียวที่เราเรียกกันว่า “โบสถ์มหาอุตม์” ถือว่ามีความเข้มขลังตามความเชื่อกันมาตั้งแต่อดีตกาลว่าถ้าจะทำพิธีเป่าเสกเลขยันต์อะไรต้องใช้โบสถ์มหาอุตม์ในการทำพิธีถึงจะศักดิ์สิทธิ์ อยู่ยงคงกระพัน

ในอดีตที่ผ่านมาเล่ากันจากรุ่นสู่รุ่นว่า พื้นที่ด้านบนภูเขาได้มีการสร้างพระเจดีย์ขนาดเล็กรูประฆังคว่ำไว้เป็นอนุสรณ์สถาน (ปัจจุบันชำรุดเสียหายไปแล้ว) ต่อมาในภายหลังได้มีการก่อสร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ขึ้นมาทดแทน และได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ และบูรณะแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖ อยู่บนพื้นที่ยอดเขา ซึ่งในสมัยนั้นคนในชุมชนจะเรียกกันว่า “เจดีย์เขาโบสถ์” มาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันวัดมีอายุที่แน่ชัดเท่าไรมิอาจทราบได้ แต่เป็นวัดที่ตั้งขึ้นในบวรพระพุทธศาสนามาก็ราว ๑๔๔ ปี (ณ. พ.ศ. ๒๕๖๕) ซึ่งพระอุโบสถหลังเก่าก็ได้ชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา ต่อมาได้มีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นมาทดแทนจนแล้วเสร็จ และได้ดำเนินการขอพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่อีกครั้ง โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งได้มีการจัดงานปิดทองผูกสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕