จุลชัยยะมงคลคาถา
จุลชัยยะมงคลคาถา หรือ หรือจุลละชัยปกรณ์ หรือ ไชยน้อย เป็นวรรณกรรมภาษาบาลีผสมภาษาลาว มีลักษณะเป็นบทสวดที่นิยมสวดกันในแว่นแคว้น 2 ฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันยังใช้สวดกันอยู่ในกลุ่มวัดป่าสายพระอาจารย์เสาร์ กันตะสีโล-พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระคาถานี้พรรณนาชัยชนะของพระพุทธเจ้า เหนือหมู่มารทั้งปวงทั้งล่วงพ้นอำนาจของพรหม มาร เทวดา ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 และสรรพสัตว์ อีกทั้งความชั่วร้ายทั้งร้าย เชื่อกันว่า เป็นบทสวดที่มีอานุภาพมาก สามารถขจัดปัดเป่าเรื่องเลวร้าย และภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง ทั้งแก่ตัวผู้สวดสาธยาย และบ้านเมืองของผู้สวดสาธยายนั้น
ที่มา[แก้]
จุลชัยยะมงคลคาถา เป็นคาถาในหมวดเดียวกับพระคาถามหาชัยยะมงคลคาถา หรือ ไชยใหญ่ และพระคาถาไชยหลวง ซึ่งนิยมใช้สวดสาธยายกันในงานมงคลในแถบแว่นแคว้น 2 ฝั่งแม่น้ำโขง การแพร่หลายของพระคาถานี้ปรากฏโดยทั่วไปในแถบภาคอีสานของไทย และภาคกลางจนถึงภาคเหนือของลาว จากการสำรวจโดยหอสมุดดิจิตอลหนังสือใบลานลาว พบคัมภีร์ใบลานเกี่ยวกับบทสวดไชยน้อย ไชยใหญ่ หรือไชยหลวงจำนวนหนึ่ง ทั้งในเมืองหลวงพระบาง นครหลวงเวียงจันทน์ แขวงคำม่วนทางภาคกลาง และในแขวงไชยบุรี ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งมีพื้นที่ประชิดกับภาคเหนือของไทย [1]
ทฤษฎีเกี่ยวกับที่มาของจุลชัยยะมงคลคาถา มีอยู่หลายทฤษฎี ข้อมูลที่แพร่หลายที่สุดในประเทศไทย คือการระบุว่า พระมหาปาสมันตเถระ พระเถระแห่งอาณาจักรกัมพูชาโบราณ ผู้อุปการะพระเจ้าฟ้างุ้ม มหาราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง และพระเถรผู้อัญเชิญพระบางและพระไตรปิฎกมายังแผ่นดินลาว คือผู้รจนาพระคาถานี้ ซึ่งหากทฤษฎีนี้เป็นความจริง พระคาถานี้น่าจะรจนาขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 ในช่วงก่อนหรือหลังจากที่พระเถระเดินทางจากกัมพูชามาประกาศพระศาสนาในอาณาจักรล้านช้างในปีพ.ศ. 1902
ทั้งนี้ ผู้แต่งจุลไชยปกรณ์ หรือตำนานพระคาถาจุลชัยยะมงคลคาถา ตามทัศนะของ พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ แห่งวัด วัดไตรสิกขาทลามลตาราม บ้านฝาง ต.บ้านแพด อ.คำตากล้า จ.สกลนคร คือพระมหาเทพหลวง แห่งนครหลวงพระบาง โดยนำความจากคัมภีร์สมันตปาสาทิกา โดยรจนาเป็นภาษาบาลีผสมกับภาษาพื้นเมือง แต่ไม่ปรากฏว่าระบุถึงปีที่รจนาแต่อย่างใด [2]
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการในประเทศลาวบางรายระบุว่า จุลชัยยะมงคลคาถา เป็นผลงานของเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก หรือ "ญาคูขี้หอม" โดยท่านมีช่วงชีวิตในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22 โดยฝ่ายลาวเรียกพระคาถานี้ว่า "จุลละไชยยะสิทธิมงคลคาถา" หรือ "จุลละไซยะสิททิมุงคุนคาถา" [3]
ตำนานเชิงมุขปาฐะ[แก้]
ทั้งนี้ มีตำนานในเชิงมุขปาฐะเกี่ยวกับที่มาของพระคาถานี้ หนึ่งในนั้นพรรณนาโดยพระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ แห่งวัดไตรสิกขาทลามลตาราม บ้านฝาง ต.บ้านแพด อ.คำตากล้า จ.สกลนคร ซึ่งได้กล่าวถึงความเป็นมาของจุลลไชยยะปกรณ์ หรือบทขัด หรือตำนานของจุลชัยยะมงคลคาถา ไว้ว่า เป็นพระคาถาที่แสดงถึงชัยชนะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือนัยหนึ่งคือชัยชนะของพระพุทธศาสนาต่อสิ่งชั่วร้ายที่เคยมีอิทธิพลในแถบถิ่นลุ่มแม่น้ำโขง โดยกล่าวว่า ต้นบทจุลชัยยะมงคลคาถา ที่เรียกว่า จุลละชัยปกรณ์ ได้บอกเล่าถึงเหตุการณ์เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ว่า เมื่อครั้งพระโสณะ และพระอุตระ รับอาราธนาพระเจ้าอโศกมหาราชและพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ เพื่อมาเป็นสมณทูตประกาศพระศาสนาในแผ่นดินสุวรรณภูมินั้น พระเถระทั้ง 2 รูปได้ผจญกับปีศาจท้องถิ่น ในรูปของเงือก หรือผีเสื้อน้ำ ซึ่งได้ซักถามพระเถระว่า สิ่งใดฤๅที่เรียกว่า เทวธรรม พระเถระจึงวิสัชนาเป็นพระคาถาว่า หิริโอตัปปะสัมปันนาฯ เป็นอาทิ ซึ่งเป็นพระคาถาเทวธรรม ซึ่งยกมาจากเทวธรรมชาดก และปรากฏอยู่ในช่วงปกรณ์ หรือพรรณนาที่มาของจุลชัยยะมงคลคาถา ความว่า
สุโข พุทธานัง อุปปาโท | สุขา สัทธัมมะเทสะนา |
สุขา สังฆัสสะ สามัคคี | สะมัคคานัง ตะโป สุโข |
ทิวา ตะปะติ อาทิจโจ | รัตติง อาภาติ จันทิมา |
สันนัทโธ ขัตติโย ตะปะติ | ฌายี ตะปะติ พ๎ราห๎มะโณ |
อะถะ สัพพะมะโหรัตติง | พุทโธ ตะปะติ เตชะสา |
หิริโอตตัปปะ สัมปันนา | สุกกา ธัมมา สะมาหิตา |
สันโต สัปปุริสา โลเก | เทวาธัมมาติ วุจจะเร |
สันติปักขา อะปัตตะนา | สันติปาทา อะวัญจะนา |
มาตาปิตา จะ นิกขันตา | ชาตะเวทะปะติกกะมะ |
สุวัณณะภูมิ คัจฉันต๎วานะ | โสณุตตะรา มะหิทธิกา |
ปิสาเจ นิทธะมิต๎วานะ | พ๎รัห๎มะชาลัง อาเทเสยยุง |
เอเต สัพเพ ยักขา ปะลายันตุ ฯ[4] |
ในจุลลไชยยะปกรณ์ ยังอ้างข้อความจากคัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ที่ระบุว่า "สุวณฺณภูมิ คจฺฉนฺตฺวาน โสณุตฺตรา มหิทฺธิกา ปิสาเจ นิทฺธมิตฺวาน พฺรหฺมชาลํ อเทสิสุ" ความว่า "พระโสณะและพระอุตตระผู้มีฤทธิ์มาก ไปสู่สุวรรณภูมิ ปราบปรามพวกปีศาจแล้ว ได้แสดงพรหมชาลสูตร" ซึ่งคัมภีร์สมันตปาสาทิกาพรรณนาไว้ว่า พระโสณะและพระอุตตระ ได้แสดงอภินิหาริย์ปราบนางผีเสื้อน้ำและทรงแสดงธรรมพรหมชาลสูตร อันเป็นสูตรว่าด้วยข่ายอันประเสริฐ ประกอบด้วย ศีลน้อย ศีลกลาง และศีลใหญ่ เป็นการสั่งสอนให้เวไนยสัตว์ทั้งหลายประพฤติตนอยู่ในสรณะและศีล พระธรรมเทศนาของพระเถระเจ้า ยังให้ชาวสุวรรณภูมิประเทศได้บรรลุธรรมประมาณ 60,000 คน อีกทั้งยังมีกุลบุตรออกบวชประมาณ 3,500 คน [5]
แม้ว่า มุขปาฐะเกี่ยวกับตำนานของจุลชัยยะมงคลคาถา และข้อความจากคัมภีร์สมันตปาสาทิกา จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด (มุขปาฐะว่าพระเถระเจ้าวิสัชนาเทวธรรม ขณะสมันตปาสาทิกาว่า พระเถระแสดงพรหมชาลสูตร) แต่สิ่งที่สอดคล้องกันคือ การประกาศความยิ่งใหญ่ของพระรัตนตรัยให้ชาวพื้นเมืองได้ประจักษ์ สามารถปราบมิจฉาทิษฐิทั้งหลาย ให้หันมาเชื่อถือศรัทธาในพระธรรมวินัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นสัมมาทิษฐิ
ความเชื่อ[แก้]
พุทธศาสนิกชนในแถบลุ่มน้ำโขง นิยมสวดพระคาถานี้ โดยเชื่อว่าจะยังให้เกิดความเป็นสวัสดิมงคล ขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้พ้นไป โดยกล่าวกันว่า แม้แต่หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระอริยเจ้าแห่งจังหวัดเลย แนะนำให้สาธุชนได้สวดสาธยาย โดยเฉพาะในงานมงคลพิธี ท่านกล่าวไว้ว่า "ถ้ามีศึกสงครามหรือมีความยุ่งยากในบ้านเมือง หรือแม้แต่ในครอบครัว ให้สาธยายมนต์บทนี้เป็นประจำจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้"
อ้างอิง[แก้]
บรรณานุกรม[แก้]
- วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล. "จุลชัยยะมงคลคาถา." จาก http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/praythaisoadmon13.htm เก็บถาวร 2014-10-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ. "ความเป็นมาของจุลลไชยยะปกรณ์." จากพระธรรมเทศนาในพรรษา ปีพ.ศ. 2548
- ທິພພະມົນຕ໌ ຈະຕຸວີກ : ສົມເດັຈພຣະເຈົ້າສຣີສວ່າງວົງສ ເປັນສັດທາສ້າງ ดู http://www.bailane.com/Blog/ViewBlog.aspx?sid=0&hid=30134[ลิงก์เสีย]
- ຫໍສະໝຸດດິຈິຕອລໜັງສືໃບລານລາວ. ໄຊນ້ອຍ / ໄຊໃຫຍ່ / ໄຊຫຼວງ ดู http://www.laomanuscripts.net
- สมันตปาสาทิกาแปล มหามกุฏราชวิทยาลัย
ต้นฉบับ[แก้]
