จิตรกรรมภูมิทัศน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จิตรกรภูมิทัศน์)
“เดินเล่นในฤดูใบไม้ผลิ” (Strolling About in Spring) ราว ค.ศ. 600
คนเกี่ยวข้าว” (The Harvesters) โดย ปิเอเตอร์ บรูเกล ค.ศ. 1565
“ร้อนผิดฤดูที่เวอร์มอนท์” (Indian Summer) โดยวิลลาร์ด ลีรอย เมทคาลฟ ซึ่งเป็นภาพเขียนนอกสถานที่

จิตรกรรมภูมิทัศน์ (ภาษาอังกฤษ: Landscape art) เป็นจิตรกรรม ที่แสดงทิวทัศน์เช่นภูเขา, หุบเขา, ต้นไม้, แม่น้ำ, และป่า และมักจะรวมท้องฟ้า นอกจากนั้นสภาวะอากาศก็อาจจะมีส่วนสำคัญในการวางองค์ประกอบของภาพด้วย

ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 ชาวโรมันตกแต่งห้องด้วยจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นภาพภูมิทัศน์ซึ่งพบที่ปอมเปอีและเฮอร์คิวเลเนียม

คำว่า “landscape” มาจากภาษาดัทช์ landscape “landschap” ซึ่งหมายถึงบริเวณที่เก็บเกี่ยวแล้ว และนำเข้ามาใช้ในภาษาอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เมื่อต้น คริสต์ศตวรรษที่ 15 การเขียนภาพภูมิทัศน์เป็นศิลปะการเขียนแบบหนึ่งในยุโรป ซึ่งใช้เป็นฉากหลังของกิจการต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะคริสต์ศาสนา เช่น ภาพในหัวเรื่อง “พระเยซูหนีไปอียิปต์”, หรือฉากการเดินทางของแมไจเพื่อนำของขวัญมาให้พระเยซู หรือ ภาพเขียนเกี่ยวกับนักบุญเจอโรมเมื่อไปจำศีลอยู่ในทะเลทราย

การเขียนภาพภูมิทัศน์ของจีนจะเป็นภูมิทัศน์ล้วน ๆ ถ้ามีคนอยู่ในรูปก็จะเป็นส่วนประกอบที่ไม่สำคัญหรือเพียงเป็นสิ่งเทียบถึงขนาดของธรรมชาติ และเป็นการเชิญชวนให้ผู้ชมภาพมีความรู้สึกว่ามีส่วนร่วมในภาพเขียน การเขียนภาพลักษณะนี้มีลักษณะสมบูรณ์แบบมาตั้งแต่การเขียนภาพด้วยหมึก

ในยุโรปจอห์น รัสคิน[1] และ เซอร์เค็นเน็ธ คลาคกล่าวว่าการเขียนภาพภูมิทัศน์เป็นศิลปะที่สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนเกิดความซาบซึ้งในความสวยงามของธรรมชาติ[2] คลาคกล่าวว่าในการเขียนภาพภูมิทัศน์ตั้งอยู่บนพื้นฐานสี่อย่าง: การยอมรับในสัญลักษณ์ที่เห็น, ความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับธรรมชาติ, การสร้างจินตนิยมที่มึพี้นฐานมาจากความกลัวธรรมชาติ และ ความเชื่อที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะลงเอยด้วยดีที่เป็นสิ่งที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้

ในสหรัฐอเมริกาช่างเขียนภาพสกุลศิลปะลุ่มแม่น้ำฮัดสันที่รุ่งเรื่องราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีชื่อเสียงในการวิวัฒนาการเขียนภาพภูมิทัศน์ นักเขียนภาพกลุ่มนี้สร้างภาพเขียนขนาดยักษ์เพื่อจะสามารถพยายามแสดงความยิ่งใหญ่ของภูมิทัศน์ตามที่เห็น ปรัชญาของงานของทอมัส โคลซึ่งถือกันว่าเป็นผู้ก่อตั้งตระกูลการเขียนนี้ก็เช่นเดียวกับปรัชญาการเขียนภาพภูมิทัศน์ในยุโรป — เป็นความศรัทธาของมนุษย์ที่ทำให้มีความรู้สึกดีขึ้นจากการซาบซึ้งในคุณค่าของความสวยงามและความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ งานของศิลปินตระกูลแม่น้ำฮัดสันรุ่นหลังเช่นงานของ แอลเบิร์ต เบียร์สตัดท์จะสร้างงานที่สร้างความน่ากลัวขึ้นโดยการเน้นอำนาจของธรรมชาติ

นักสำรวจ, นักธรรมชาติวิทยา, ชาวทะเล, พ่อค้า, หรือผู้ตั้งถิ่นฐานที่มาถึงแผ่นดินแคนาดาเมื่อสมัยแรก ๆ ในการสำรวจต้องเผชิญกับธรรมชาติที่ค่อนข้างจะอันตรายจากทะเล นักสำรวจเหล่านี้พยายามปรับปรุงสถานการณ์โดยการทำแผนที่, บันทึก, และตั้งหลักแหล่ง ความเข้าใจธรรมชาติจากการสังเกตของแต่ละคนก็ต่างกันไป บันทึกจากความรู้สึกเหล่านี้มีตั้งแต่ถูกต้องตามความเป็นจริงไปจนการจินตนาการที่เกินความจริงเอามาก ๆ และการสังเกตเหล่านี้ก็ถูกบันทึกในรูปของภาพภูมิทัศน์ ภาพเขียนที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการเขียนภาพภูมิทัศน์คานาดาคือภาพจากจิตรกรใน “กลุ่มเจ็ดคน” (Group of Seven) ที่มีชื่อเสียงในคริสต์ทศศตวรรษ[3]

ภาพภูมิทัศน์แบบต่าง ๆ[แก้]

  • “Vedute” เป็นภาษาอิตาลีที่แปลว่า “ทิวทัศน์” ใช้ในการเขียนภาพภูมิทัศน์ซึ่งนิยมกันในคริสต์ศตวรรษที่ 18
  • “ภูมิทัศน์ฟ้า” หรือ “ภูมิทัศน์เมฆ” (Skyscape หรือ Cloudscape) คือการเขียนภาพเมฆ, สภาวะอากาศ หรือบรรยากาศ
  • “ภูมิทัศน์ผิวพระจันทร์” (Moonscape) คือการเขียนภาพภูมิทัศน์ของพระจันทร์
  • “ภูมิทัศน์ทะเล” (Seascape) คือการเขียนภาพภูมิทัศน์ทะเล มหาสมุทร และหาด
  • “ภูมิทัศน์แม่น้ำ” (Riverscape) คือการเขียนภาพภูมิทัศน์ของแม่น้ำหรือลำธาร
  • “ภูมิทัศน์เมือง” (Cityscape หรือ townscape) คือการเขียนภาพภูมิทัศน์ของเมือง
  • “ภูมิทัศน์สิ่งสร้าง” หรือ “ภูมิทัศน์สถาปัตยกรรม” (Hardscape) คือการเขียนภาพภูมิทัศน์ของบริเวณที่ลาดด้วยยางหรือคอนกรีต เช่นถนน หรือทางเดินเท้า หมู่บ้านที่เป็นคอนกรีต หรือบริเวณอุตสาหกรรม
  • “ภูมิทัศน์เหินฟ้า” (Aerial landscape) คือการเขียนภาพภูมิทัศน์ผิวโลกเหมือนกับมองจากอากาศ โดยเฉพาะที่เห็นจากเรือบินหรือยานอวกาศ การเขียนเช่นนี้จะไม่มีขอบฟ้า และอาจจะรวมกับ “ภูมิทัศน์ฟ้า” เช่นงานของจอร์เจีย โอคีฟ หรือ งาน “ภูมิทัศน์ผิวพระจันทร์” ของ แนนซี เกรฟส์ (Nancy Graves) หรืองาน “ภูมิทัศน์สิ่งสร้าง” โดย อีวอน จาเค็ท (Yvonne Jacquette)
  • “ภูมิทัศน์เหนือจริง” (Inscape) คือการเขียนภาพภูมิทัศน์ที่มักจะเป็นแบบลัทธิเหนือจริง หรือ แบบนามธรรม

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Modern Painters, volume three, contains the relevant section, "Of the novelty of landscape".
  2. Clark, Landscape into Art, preface.
  3. "Landscapes" in Virtual Vault เก็บถาวร 2016-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, an online exhibition of Canadian historical art at Library and Archives Canada

ดูเพิ่ม[แก้]