กาวฏิอาฏฏัม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฆาวะฒิอาฒฒัม)
ชายคนหนึ่งกำลังประกอบเวลกาวฏิ หรือการใช้หอกทิ่มผิวหนังบริเวณหลังและอก โดยปลายหอกใช้แบกรับแท่นบูชาที่มีเทวรูปพระขันธกุมาร ตกแต่งด้วยขนนกยูง ในเทศกาลไทปูซัมที่ประเทศมาเลเซีย

กาวฏิอาฏฏัม (ทมิฬ: காவடி ஆட்டம்) หรือ กาวฏิยาฏฏัม (มลยาฬัม: കാവടിയാട്ടം) เป็นการพลีตนและพิธีบูชาที่ประกอบในพิธีบูชา (ยัญ) โดยผู้ศรัทธาในพระขันธกุมาร[1] เทพเจ้าแห่งการสงครามในคติฮินดู[1] พิธีกาวฏิอาฏฏัมเป็นส่วนสำคัญของเทศกาลไทปูซัม โดย กาวฏิ ("ภาระ") ในที่นี้หมายถึงภาระที่ศรัทธาชนได้ภาวนาร้องขอให้พระขันธกุมารทรงช่วย การทำกาวฏิอาฏฏัม ซึ่งแปลว่า "การร่ายรำด้วยภาระ" จึงเป็นการชำระบุญคุณหรือภาระที่ได้ติดไว้ให้พระขันธกุมารทรงช่วย[2]

ในวันเทศกาลไทปูซัม ผู้ศรัทธาในพระขันธกุมารจะเดินทางไปตามเส้นทางจาริกแสวงบุญที่มีกำหนดไว้ และขนหรือถือ "ภาระ" (กาวฏิ) ชนิดต่าง ๆ ขณะเดินทางไปด้วย กาวฏิรูปแบบที่ง่ายที่สุดเช่นการแยกหม้อนม (ปาลกาวฏิ; pal kavadi)[2] และอาจมีไปถึงการใช้ของมีคมทิ่มแทงทะลุส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย[2] ซึ่งมีหลายรูปแบบและความหนัก รูปแบบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการทิ่มร่างกายด้วยของมีคมเรียกว่า เวลกาวฏิ (vel kavadi) คือการทิ่ม เวล (หอก) ทะลุผิวหนังบริเวณอกและหลังรวม 108 ชิ้น หอกเหล่านี้จะถูกดัดเพื่อประกอบตั้งแท่นบูชา ประดับด้วยดอกไม้และขนนกยูงที่มีน้ำหนักมากและอาจสูงได้เป็นเมตร นอกจากนี้อาจพบการเดินลุยไฟและการถูกเฆี่ยนด้วยแส้เช่นกัน เชื่อกันว่าผู้เข้าร่วมการถือรับกาวฏินี้เข้าสู่สภาวะถูกสะกดจิต, ไม่รับรู้ความเจ็บปวด, ไม่มีเลือดไหล และจะไม่มีรอยแผลเกิดขึ้น

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Kent, Alexandra. Divinity and Diversity: A Hindu Revitalization Movement in Malaysia. University of Hawaii Press, 2005. (ISBN 8791114896)
  2. 2.0 2.1 2.2 Hume, Lynne. Portals.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]