คุยเรื่องแม่แบบ:กฎหมายไทย

ไม่รองรับเนื้อหาของหน้าในภาษาอื่น
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ[แก้]

สำหรับกฎหมายไทย ในส่วนของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2550 เข้าใจว่ามีลำดับศักดิ์สูงกว่าพระราชบัญญัติธรรมดาแล้วครับ --Vetbook 16:57, 12 กันยายน 2551 (ICT)

กฎมณเทียรบาล[แก้]

ในแง่ของรัฐธรรมนูญในความหมายอย่างกว้างนั้น กฎมณเทียรเป็นจารีตการปกครองอย่างหนึ่งที่อยู่คู่กับอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งอำนาจดังกล่าวสูงสุด ดังนั้นกฎที่ใช้ในการควบคุมอำนาจสูงสุด จึงอาจเรียกว่ารัฐธรรมนูญได้ แต่เป็นเพียงรัฐธรรมนูญที่่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น การที่เรียกว่ากฎใช้เฉพาะกลุ่มคนก็เห็นว่าไม่น่าจะใช้ เนื่องจากลักษณะของกฎมณเทียรบาลที่ยังมีผลในปัจจุบันก็คงเป็นเรื่องว่าด้วยการใช้อำนาจสูงสุดของประมุขประเทศและการสืบทอดอำนาจนั้น จุดนี้เทียบได้กับรัฐธรรมนูญที่ไม่มีลายลักษณ์อักษรของอังกฤษครับ --Vetbook 17:00, 12 กันยายน 2551 (ICT)

อธิบายจ้า[แก้]

๑. พระราชบัญญัติ

ขอแหล่งอ้างอิงสำหรับความเข้าใจเช่นนั้นด้วยจ้า ไม่เห็นมีมาตราไหนของรัฐธรรมนูญฯ (พ.ศ. ๒๕๕๐) บัญญัติไว้ให้มีลำดับศักดิ์สูงกว่าเช่นว่านั้นเลยนะ

ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๕๑). พจนานุกรมกฎหมายไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่สาม). กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. หน้า ๒๓๗-๒๓๘. ว่า "...[เดิม] พระราชบัญญัติมีอยู่ชนิดเดียว แต่บัดนี้ รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีอีกชนิดหนึ่ง เรียก 'พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ' ซึ่งจะกำหนดสาระสำคัญหรือรายละเอียดของเรื่องบางเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดหลักการไว้..." หมายความว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี่เป็นพระราชบัญญัติชนิดหนึ่งค่ะ

๒. กฎมนเทียรบาล (เขียนว่า "มน-" เปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ ดูนะจ๊ะ)

เค้าเคยสงสัยว่ามันอยู่ลำดับศักดิ์ไหน เคยเปิดเจอในหนังสือบางเล่มว่าอยู่ระดับเดียวกะรัฐธรรมนูญ ก็เลยลองถามอาจารย์เค้าดู (ผศ.ชยันติ ไกรกาญจน์) 'จารย์บอกว่า เมื่อก่อนเราเคยถือกันอย่างนั้น แต่บัดนี้ตกลงกันว่ากฎมนเทียรบาลนั้นเป็นกฎระเบียบที่ใช้เฉพาะกลุ่มคน จะเอามานับเนื่องกับกฎหมาย (ซึ่งใช้บังคับเป็นการทั่วไป) นั้นไม่เหมาะสมและจัดลำดับยาก สำหรับเรื่องนี้ไว้จะไปหาเอกสารอ้างอิงมานะจ๊ะ

แต่เค้าออกจะงง ๆ เง็ง ๆ อยู่กะคำอธิบายกฎมนเทียรบาลที่พี่เขียนมาอยู่นะ แสดงว่าพี่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับกฎมนเทียรบาลเลยหรือเปล่า (อะ โปรดอย่าโกรธเค้านะที่ว่าแบบนี้) กฎมนเทียรบาลนั้นเป็นลายลักษณ์อักษรมาตั้งแต่แรกมีแล้ว โดยเป็นกฎหมายที่พราหมณ์นำเข้ามาจากอินเดีย มาจากคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์อีเล่มเดียวกะที่เป็นต้นกำเนิดกฎหมายตราสามดวงนั้นแล กฎมนเทียรบาลแต่โบราณมีสามประเภท (เดี๋ยวจะว่ากันยาว ขอไม่อธิบายนะคะ) ปัจจุบันที่ใช้บังคับอยู่แบบสำคัญ ๆ ก็เหมือนจะมีฉบับเดียวคือเรื่องการสืบลูกสืบหลานของพวกเจ้า (ชื่อ กฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗)

แต่ที่บอกว่า "ปัจจุบันก็คงเป็นเรื่องว่าด้วยการใช้อำนาจสูงสุดของประมุขประเทศ" ยิ่งไม่ถูกเลย เพราะกฎมนเทียรบาลไม่ได้เป็นเรื่องการใช้อำนาจเลย กฎมนเทียรบาล ชื่อก็แปลอยู่แล้ว่า "กฎว่าด้วยระเบียบวิธีการปกครองภายในพระราชมนเทียร" คือในวังนั้นแหละจ้ะ และยิ่งของไทยแต่เดิม... อะไหน ๆ ก็อธิบายละกัน 55+ กฎมนเทียรบาลมีสามประเภท คือ ๑) ตำราว่าด้วยการพระราชพิธีต่าง ๆ วันนี้เดือนนี้จะไปทำพิธีอะไรบ้าง เขากำหนดไว้ ๒) ธรรมนูญว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ภายในวัง เช่น สนมจะมีกี่คน ตรงนั้นใครดูแล ตรงนี้ใครทำอะไร และ ๓) กำหนดว่าด้วยประเพณีข้อปฏิบัติต่าง ๆ ของราชสำนัก เช่น การเข้าเฝ้า การแห่เจ้า ทำยังไง ฯลฯ

"การที่เรียกว่ากฎใช้เฉพาะกลุ่มคนก็เห็นว่าไม่น่าจะใช้" ใช่สิคะ ก็ใช้สำหรับพวกเจ้าเท่านั้น ไม่ได้มาใช้กับคนทั่วไปเสียหน่อย ถึงแม้ว่าปัจจุบันเจ้ากะคนทั่วไปจะมีสถานะเดียวกันแล้วก็ตาม แต่พอดีกฎมนเทียรบาลเป็นสิ่งตกค้างมาจากระบบการปกครองเดิมน่ะ ที่กำหนดให้ใช้บังคับแก่คนกลุ่มนั้นเท่านั้น

แหล่งอ้างอิงเรื่องกฎมนเทียรบาลค่ะ: โพยม เลขยานนท์. (๒๕๒๖). "กฎมนเทียรบาล". สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (เล่ม ๑ : ก-กลากเหล็ก). (พิมพ์ครั้งที่สาม). กรุงเทพฯ : ไพศาลศิลป์การพิมพ์. หน้า ๔๐-๔๕.

——YURi | จิ๊จ๊ะ - ๑๒ กันยายน ๒๕๕๑, ๑๗:๒๙ นาฬิกา (GMT+7)

จะบอกว่า "มนเทียรบาล" มาจากคำ "มนเทียร" คือที่อยู่ของเจ้า ก็คือวัง + "บาล" ที่แปลว่า ปกครอง ค่ะ (เช่น รัฐบาล แปลว่า การปกครองรัฐ เป็นต้น)

——YURi | จิ๊จ๊ะ - ๑๒ กันยายน ๒๕๕๑, ๑๗:๓๓ นาฬิกา (GMT+7)

ต่อเรื่องพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ[แก้]

ขอโทษครับ ขออนุญาตอธิบายแบบนี้นะครับ ลำดับศักดิ์ของกฎหมายที่เรียงกันอยู่ก็ไม่มีกฎหมายไหนเขียนไว้หรอกครับว่ากฎหมายใดสูงกว่ากัน คงมีแต่รัฐธรรมนูญที่ระบุว่าตรเป็นกฎหมายสูงสุด ส่วนกฎหมายธรรมดาก็มักจะบอกว่ากฎหมายอื่นใดขัดหรือแย้งกับตนก็ไม่ให้มีผลบังคับใช้ ฉะนั้นการดูลำดับศักดิ์ที่แท้จริงแล้วต้องดูตามที่มาของกฎหมาย และความผูกโยงกับอำนาจสูงสุด โดยการตีความจึงจะดูออก

รัฐธรรมนูญที่เราศึกษากันมักจะศึกษากันในรูปแบบกฎเกณฑ์ที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร แต่เพื่อไม่ให้มีเนื้อหาสาระยาวจนเกินไป จึงต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วย กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีมานานแล้วในต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคพื้นยุโรป ของไทยเรามีครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งให้มีพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญรวม 8 ฉบับ ซึ่งปัญหาเรื่องลำดับศักดิ์ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญยังเป็นที่ถกเถียงกันเรื่อยมา เพราะหากพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ในทางกฎหมายนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกก็ย่อมทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ถูกยกเลิกด้วย แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่คลี่คลายแม้ในช่วงรัฐประหารที่ผ่านมา

ต่อมาในรัฐธรรมนูญปี 2550 ให้มีทั้งหมด 9 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญปี 2550 มีในมาตรา 138 – 141 ซึ่งถ้าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีศักดิ์เท่าพระราชบัญญัติจริง จะไม่มีการแก้ไขในส่วนนี้ แต่เจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาข้อถกเถียงทั้งหมดเกี่ยวกับลำดับศักดิ์ของรัฐธรรมนูญ

คราวนี้มาดูจุดที่ชี้ให้เห็นว่าระหว่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกับพระราชบัญญัติธรรมดานั้นต่างกัน ในรัฐธรรมนูญฉบับ 40 กระบวนการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเหมือนกับการตราพระราชบัญญัติธรรมดา ทำให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 เรื่องยุบพรรคไทยรักไทยวินิจฉัยว่าเมื่อกระบวนการตราพระราชบัญญัติและกระบวนการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเหมือนกัน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจึงมีศักดิ์เท่ากฎหมายธรรมดา

แต่ตอนนี้หลักการเปลี่ยนไปแล้วเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดกระบวนการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไว้เป็นพิเศษต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 อยู่ 4 ประการ

1) ผู้มีอำนาจเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอยู่ใน ม.139 คือ คณะรัฐมนตรี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา หรือ รวมกับส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา หรือประธานองค์อิสระ ซึ่งต่างจากการตราพระราชบัญญัติธรรมดา คือ

- ม.142 ร่างพระราชบัญญัติธรรมดา ส.ว. ร่วมเสนอด้วยไม่ได้

- ม.163 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10000 คน เสนอได้แต่พระราชบัญญัติธรรมดา

- ม.139 ศาลธรรมดาทุกศาลสามารถเสนอพระราชบัญญัติธรรมดาได้เท่านั้น

2) ร่างพระราชบัญญัติธรรมดา ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงินจะเสนอได้ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 142 วรรคสอง แต่ถ้าเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ แม้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินก็เสนอได้โดยที่ไม่ต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี ตาม มาตรา 140

3) การลงมติให้ความเห็นชอบพระราชบัญญัติธรรมดาใช้คะแนนเสียงข้างมากธรรมดา แปลว่าว่าสภา 400 คน เข้าประชุม 200 เห็นชอบ 101 คนก็ใช้ได้ แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 140 วาระแรกและวาระที่สองใช้เสียงข้างมากธรรมดา แต่วาระที่สามใน 140(2) ต้องใช้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดของแต่ละสภา นั่นแปลว่า ถ้าสภา 400 คนต้องได้ 201 คนไม่ว่าจะเข้าประชุมกี่คนก็ตาม และถึงแม้ผ่านสภาผู้แทนฯมาแล้ว วุฒิสภา 150 คนหากโหวตเห็นชอบแค่ 75 คน ก็อาจทำให้ร่างตกไปได้

4) ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัตินั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับให้ต้องส่งร่างให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่อาจเสนอให้วินิจฉัยได้ ตามมาตรา 154 แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 141 บังคับให้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่สภาเห็นชอบแล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญใน 30 วัน

จึงเข้าใจว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2550 จึงน่าจะมีศักดิ์ที่สูงกว่าพระราชบัญญัติธรรมดา --Vetbook 18:18, 12 กันยายน 2551 (ICT)

การสะกด[แก้]

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้เขียนเป็น "มนเทียร" ใช้ ท (ทหาร) เข้าใจว่าคำนี้มาจากคำบาลีว่า "มนฺทิร" ซึ่งแปลว่า "เรือน" เมื่อแผลง อิ เป็น เอีย คำว่า "มนฺทิร" จึงกลายเป็น "มนเทียร" ทำนองเดียวกับแผลงคำว่า "วชิร" เป็น "วิเชียร" หรือ "พาหิร" เป็น "พาเหียร" และ "ปกีรณกะ" เป็น "ปเกียรณกะ" อย่างไรก็ดีการใช้คำว่ากฎมณเฑียรบาลนั้นเริ่มมาจากการที่รัชกาลที่ 6 ทรงเริ่มใช้ก่อนจึงมีความนิยมหลังจากนั้นมา ส่วนคำว่า กฎมณเทียรบาล นั้นใช้มาแต่อยุธยา จึงสามารถใช้ได้เช่นกัน และราชบัณฑิตมิได้ถือว่าเป็นการสะกดผิดแต่อย่างใด ที่ผมเสนอให้ใช้กฎมณเฑียรบาลเพราะเข้าใจว่าน่าจะเป็นการสะกดที่มีความทั่วไปและเข้าใจง่ายกว่า เพราะแม้แต่ในวิกิซอร์สเองก็ใช้การสะกดว่า กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ตามที่ร.6 ทรงสะกดไว้ ผมจึงเสนอให้ใช้การสะกดอย่างหลังจะได้มีความเป็นเอกภาพเหมือนกัน --Vetbook 18:37, 12 กันยายน 2551 (ICT)

กฎมณเทียรบาลต่อ[แก้]

ส่วนเรื่องกฎมณเฑียรบาล ที่คุณ YURi ให้เหตุผลดีมาก และขอโทษที่อธิบายไม่รู้เรื่องแต่แรก เอาเป็นว่าผมจะลองเล่าเรื่องมองต่างมุมละกัน

ที่บอกว่า กฎมนเทียรบาลมีสามประเภท คือ ๑) ตำราว่าด้วยการพระราชพิธีต่าง ๆ วันนี้เดือนนี้จะไปทำพิธีอะไรบ้าง เขากำหนดไว้ ๒) ธรรมนูญว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ภายในวัง เช่น สนมจะมีกี่คน ตรงนั้นใครดูแล ตรงนี้ใครทำอะไร และ ๓) กำหนดว่าด้วยประเพณีข้อปฏิบัติต่าง ๆ ของราชสำนัก เช่น การเข้าเฝ้า การแห่เจ้า ทำยังไง ฯลฯ ผมเห็นว่าน่าจะมีมากกว่า 3 ประเภทนี้ เพราะลักษณะของกฎหมายไทยแต่โบราณนั้น การรวมหมวดหมู่นั้นมักรวมหมวดหมู่ให้สะดวกในการบังคับใช้ กฎหมายจึงมีลักษณะต่างๆ ปะปนกันซ่อนอยู่ ซึ่งจะยกตัวอย่างกฎมณทียรบาลของพระเจ้ารามาธิบดีบรมไตรโลกนารถ ซึ่งภายหลังมารวมเป็นกฎมณเทียรบาลในกฎหมายตราสามดวงของรัชกาลที่ 1 นั้น มีหลายมาตราที่พูดถึงการจัดสรรและการจำกัดอำนาจสูงสุดในการบริหารบ้านเมือง

เช่น มาตรา 8 พระลูกเธอกินเมืองถวายบังคม แก่สมเดจหน่อพระพุทธิเจ้า พระเยาวราชถวายบังคมแก่พระพุทธิเจ้าลูกเธอกินเมือง..... แสดงให้เห็นถึงลำดับศักดินา และวิธีการปกครองบ้านเมืองตามศักดินาด้วย โดยผู้ปกครองเมืองลูกหลวงให้ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ และผู้ปกครองเมืองหลานหลวงให้ขึ้นตรงต่อผู้ปกครองเมืองลูกหลวงอีกชั้น ลองเทียบกับ ม.3 ของรัฐธรรมนูญก็เห็นว่าเป็นทำนองเดียวกัน เพียงแต่มีผู้ใช้อำนาจแทนพระมหากษัตริย์เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีมาตรา 145 ที่กำหนดว่าในแต่ละเดือนพระเจ้าแผ่นดินต้องเสด็จกลดพระราชพิธีอะไรบ้าง มาตรา 146 กำหนดว่าในแต่ละวันพระเจ้าแผ่นดินต้องมีพระราชนุกิจอันใดบ้าง อันนี้ก็พอจะชี้ให้เห็นว่าทำไมกฎมณเทียรบาลแต่ก่อนลำดับศักดิ์จึงสูงเท่ารัฐธรรมนูญ ก็เพราะพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยอยุธยาทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงสุดของแผ่นดิน แต่ทรงเลือกที่จะรับสิ่งที่เรียกว่าธรรมะในการปกครองเข้ามาจำกัดอำนาจตน (คล้ายคลึงกับธรรมราชาของสมัยสุโขทัยในแง่ของการจำกัดอำนาจ แต่ต่างกันที่วิธี) โดยรับเข้ามาผ่านพราหมณ์ (เข้าใจว่า พระธรรมศาสตร์มิได้รับผ่านมาจากอินเดียโดยตรง แต่รับผ่านมาทางมอญเรียกมนูธรรมศาสตร์ของพระมโนสาราจารย์) ธรรมะดังกล่าวซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจสูงสุดดังกล่าวจึงลำดับศักดิ์เท่ารัฐธรรมนูญในปัจจุบัน

และการที่อำนาจสูงสุดอยู่ที่พระมหากษัตริย์ได้สืบเนื่องเรื่อยมา ซึ่งภายหลังเมื่อมีการยกกฎหมายสมัยใหม่ขึ้นใช้ ตั้งแต่กฎหมายลักษณะอาญา จนไปถึงพระราชบัญญัติต่างๆ ได้มีผลลบล้างระบบกฎหมายเก่าลง แต่จารีตการปกครองยังคงอยู่ จารีตที่ว่าคือจารีตที่ใช้ธรรมะในการจำกัดอำนาจตน เพียงแต่ได้รับการทำให้มีระบบลักษณะแบบเดียวกับฝรั่งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 5 ลักษณะของธรรมราชาก็กลายเป็นกษัตริย์สมัยใหม่อย่างฝรั่ง แต่มีธรรมะที่ไม่ปรากฏเป็นตัวหนังสือคอยจำกัดกรอบการใช้พระราชอำนาจอยู่ ซึ่งตรงนี้จึงเป็นจุดต่างระหว่างพระมหากษัตริย์ไทยกับกษัตริย์ฝรั่ง และเป็นจุดที่ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของกฎมณเทียรบาล ค่อยๆ ซึมซับจากการเป็นอักษรเข้าไปรูปจารีตประเพณีแทน ตรงนี้จึงเข้าใจว่ามีลักษณะที่เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ด้วย

แม้ในปัจจุบันผู้พระมหากษัตริย์จะอยู่ใต้รัฐธรรมนูญก็ตาม แต่คณะราษฎรก็ยังให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ (ซึ่งตรงนี้จะขอข้ามเกี่ยวกับอำนาจสูงสุดไป) และแม้กฎมณเทียรบาลหลายเรื่องมิได้มีผลบังคับแล้ว แต่เชื่อว่ากฎมณเทียรบาลว่าด้วยการจำกัดกรอบอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยธรรมยังคงมีอยู่และมีสภาพบังคับในฐานะจารีตการปกครอง ดังนั้นแม้ในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่เห็นว่าพระมหากษัตริย์เป็นเพียงประมุขของประเทศอย่างฝรั่ง แต่แท้จริงแล้วพระมหากษัตริย์ของเราล้วนทรงธรรมด้วย --Vetbook 19:53, 12 กันยายน 2551 (ICT)