คุกหลวงนครบาล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คุ้มขุนแผน แต่เดิมเป็นที่ตั้งของคุกหลวงนครบาล

คุกหลวงนครบาล เป็นที่คุมขังนักโทษการเมืองและนักโทษร้ายแรงในสมัยกรุงศรีอยุธยา ยังใช้เป็นสถานที่ในการพิพากษาคดี โดยเฉพาะการดำน้ำและลุยไฟพิสูจน์ความสัตย์ซื่อของคู่กรณีด้วย ต่อมาปี พ.ศ. 2483 ปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้นำของคณะราษฎรซึ่งเป็นชาวอยุธยา ได้ทำการย้ายจวนสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา มาสร้างขึ้นในบริเวณคุกหลวงนครบาลเก่าแห่งนี้ ใช้ชื่อบ้านทรงไทยนี้ว่า คุ้มขุนแผน[1]

อาณาบริเวณ[แก้]

สถานที่ตั้งของคุกหลวงนครบาล มีผู้คนสัญจรไปมาและเป็นย่านที่พลุกพล่านแห่งหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา บริเวณคุกหลวงจะมีสภาพเป็นเกาะเล็ก เกาะน้อยอยู่กลางบึง บริเวณข้างเคียงมีวัดเกษ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งเรือนจำ หอกลอง เตือนภัยเมื่อมีเหตุร้ายแรงแก่บ้างเมือง สี่แยกตะแลงแกง ที่ประหารเสียบหัวประจาน[2] ศาลพระกาฬที่สถิตแห่งเทพผู้มีอำนาจและศาลที่สถิตแห่งเทพยดาอารักษ์ผู้คุ้มครองป้องกันบ้างเมือง

ตามกฎมณเฑียรบาล ตัวพระนครศรีอยุธยาแบ่งออกเป็น 4 แขวง โดยกำหนดให้ หอกลอง เป็นจุดกึ่งกลางของการแบ่งเขตการปกครองดูแล ซึ่งในแต่ละแขวงการปกครองดูและความสงบเรียบร้อย จะมีขุนนางตำแหน่ง ออกหลวง และ ออกขุนแขวง เป็นนายกองตำรวจรับผิดชอบ นายตำรวจเหล่านี้จะถือดาบติดมืออยู่เสมอ มีพวกแขนลายเป็นนายขมังธนูเป็นบริวาร[1] และเช่นเดียวกัน เมื่อมีคนกระทำความผิด ตำรวจแขวงจะเป็นผู้จับกุมผู้กระทำความผิดส่งเข้าไปกักขังในคุกหรือเรือนจำของแต่ละแขวง แขวงต่าง ๆ มีหน้าที่ในการจับกุมผู้กระทำความผิดขังคุกไว้เพื่อรอการพิพากษาคดี ถ้าเป็นคดีเล็กน้อยที่มีบทลงโทษต่ำกว่าเบี้ยแสนลงมา จะพิจารณากันในแขวงนั้น ๆ ได้ แต่ถ้ามีโทษมากกว่านั้น ถ้าเจ้ากรมเจ้ากองจ่ายค่าหญ้าช้าง (ค่าปรับ) ให้สมตามมาตรา จะให้ถ่ายตัวไปพิจารณากันเอง ในแต่ละกรมกอง ส่วนอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากนั้น ถ้าเป็นคดีสำคัญต้องพิจารณาว่าความกันในศาลหลวง โดยพระยายมราช ผู้ถือตราพระยมขี่สิงห์ มีอำนาจลงโทษโจรถึงตาย รวมทั้งลงโทษพวกข้าหนีเจ้าทั้งในเมืองและหัวเมืองทั้งหมด การนำนักโทษร้ายแรงมาให้พระยายมราชพิจารณาคดีความ ก็จะต้องนำมาเข้าคุกหลวงนครบาลหรือเรือนจำกลางเพื่อรอการพิจารณาคดีที่กระทรวงนครบาล ดังนั้นในคุกกลางหรือคุกหลวงนครบาลจึงีแต่นักโทษการเมือง นักโทษที่มีคดีอุกฉกรรจ์เป็นส่วนใหญ่[3]

ทางทิศใต้ของคุกหลวง คือ วัดเกษ มีพระเจดีย์ประธานทรงปรางค์และวิหารทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของการจัดศาสนสถานโดยทั่วไปของสมัยนั้น ความผิดแผกแตกต่างไปของศาสนาสถานแห่งนี้ภายหลังการบูรณะก็คือ ลักษณะของพระเจดีย์ที่มีฐานสูงมากจนผิดสัดส่วนผิดแบบแผนไปทั้งองค์ ในการขุดแต่งและบูรณะเมื่อสมัยต้น ๆ ผู้รับผิดชอบให้ความในใจเกี่ยวกับหลักฐานทางด้านวิชาการน้อยมาก ต่อมาเมื่อมีนักวิชาการได้นำหลักฐานซึ่งเป็นภาพเก่าก่อนการขุดแต่งและบูรณะมาเสนอเปรียบเทียบ จึงเห็นได้ชัดถึงความแตกต่างและความผิดพลาดในการตัดสินใจบูรณะมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้บริเวณหลังวัดเกษมีสระแปดเหลี่ยม ขนาดใหญ่อยู่ 1 สระ เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2534 ได้รับการขุดแต่งและบูรณะระหว่างที่ำทการขุดลอกเพื่อบูรณะนั้น ได้พบว่าที่กึ่งกลางของสระมีเสาไม้หลักอยู่คู่หนึ่ง ซึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่า สระแห่งนี้อาจสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการดำน้ำเพื่อพิสูจน์ความสัตย์จริงต่อคู่กรณี ส่วนด้านทิศตะวันออกนอกคลองนครบาลมีหอกลองตั้งอยู่ ปัจจุบันผุพังสูญหายไปหมดทั้งสิ้น[3]

นักโทษและสภาพความเป็นอยู่[แก้]

คุกหลวงนครบาลเป็นคุกที่กักขังนักโทษการเมืองและนักโทษร้ายแรง ในเหตุการณ์ตอนต้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ภายหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ได้กวาดต้อนจับพวกฝรั่งเศสและพวกเข้ารีตมากักขังไว้ โดยนายทหารและพลทหารฝรั่งเศสเข้าไปอยู่ในคุกนั้น ได้พบพวกมิชชันนารี นักเรียน กับพวกฝรั่งเศสที่ติดคุกอยู่แห่งเดียวพร้อมกันหมด ในตอนกลางวัน นักโทษเหล่านี้จะต้องไปขนขยะมูลฝอย ของโสโครกต่าง ๆ ล้างท่อ ล้างที่อุจจาระ ลากเสา ลากซุง และทำงานหนักต่าง ๆ อีกหลายอย่าง จึงอยู่กันด้วยความทรมานแสนสาหัส ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2233 มองซิเดอร์โปมา พร้อมด้วยล่ามได้ไปหาออกญายมราชซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบัญชาคุก ขอให้ออกญายมราชอนุญทตให้ปลูกคุกขึ้นต่างหาก สำหรับขังพวกฝรั่งเศสโดยเฉพาะ ซึ่งต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม พระเจ้าแผ่นดินทรงสงสารพวกมิชชันนารี และพวกนักเรียนที่ได้รับทุกขเวทนา จึงได้มีรับสั่งปล่อยพวกมิชชันนารีและพวกนักเรียนทั้งหมด แต่จะต้องให้พวกมิชชันนารีและนักเรียนหาประกันเสียก่อน และเมื่อพ้นโทษแล้วจะต้องอยู่ในบ้านหลังหนึ่งซึ่งเจ้าพนักงานจะได้ปลูกขึ้นใกล้กับคุกและจะต้องมีเจ้าพนักงานควบคุม ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม พระคลังได้ใช้พื้นที่สำหรับใช้ปลูกบ้าน ซึ่งมีลักษณะคล้ายเกาะเล็ก ๆ อยู่กลางบึงใหญ่ข้างหลังคุก และห่างจากคุกระยะพอปืนยิงถึง เกาะนี้ยาวประมาณ 11 วา และกว้าง 5 วา[3]

วันที่ 15 สิงหาคม เจ้าพนักงานได้ถอดโซ่ตรวนและพวงคอออกจากพวกมิชชันนารี 9 คน และนักเรียน 14 คน และได้ปลดปล่อยให้ออกจากคุกหลวงนครบาล[3]

ในคุกหลวงนครบาล มีสภาพความเป็นอยู่อย่างลำบากและทรมาน มีบันทึกจากคณะบาทหลวงฝรั่งเศส บันทึกว่า มีจำนวนนักโทษที่มีอยู่ในคุก จำนวนไม่น้อยอีกด้วย พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งเกิดศึกกลางเมืองระหว่างพระมหาอุปราชวังหน้ากับเจ้าฟ้าอัยฝ่ายวังหลวง ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ใน พ.ศ. 2275 ว่า “ในครั้งนั้น ฝ่ายวังหน้าได้ยกพลทหารวังหน้าประมาณ 500 คน มาทางถนนป่าผ้าเขียว เข้าพังคุกแล้วปล่อยนักโทษประมาณ 700 คน” นักโทษเหล่านี้คงเป็นกองกำลังของทัพวังหน้าเข้าต่อสู้วังหลวงจนได้รับชัยชนะ และได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศต่อจากพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระในเวลาต่อมา[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 วัดเกษ
  2. นวะมะรัตน, ปวัตร์ (มกราคม 2557). อยุธยาที่ไม่คุ้นเคย. มติชน. ISBN 9789740212256.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. 2542. p. 1028. ISBN 9748365301.