คิตช์-อิตี-คิปี

พิกัด: 46°00′15″N 86°22′55″W / 46.00412°N 86.38201°W / 46.00412; -86.38201
นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คิตช์-อิตี-คิปี
Big Spring
ทิวทัศน์ของแหล่งน้ำซับคิตช์-อิตี-คิปี
ที่ตั้งเทศมณฑลสคูลคราฟต์, รัฐมิชิแกน
พิกัด46°00′15″N 86°22′55″W / 46.00412°N 86.38201°W / 46.00412; -86.38201
ประเภทน้ำซับ
ตำแหน่งของแหล่งน้ำซับคิตช์-อิตี-คิปี
ตำแหน่งของแหล่งน้ำซับคิตช์-อิตี-คิปี

คิตช์-อิตี-คิปี (อังกฤษ: Kitch-iti-kipi) เป็นแหล่งน้ำซับน้ำจืดธรรมชาติใหญ่ที่สุดในรัฐมิชิแกน[1][2][3] ความหมายของชื่อสถานที่แห่งนี้ในภาษาโอจิบเวคือ "น้ำซับเย็นใหญ่" [1] บางครั้งเรียกที่แห่งนี้ว่า "น้ำซับใหญ่" (Big Spring)[2][4] ชาวโอจิบเวเป็นผู้ริเริ่มเรียกพื้นที่นี้ว่าคิตช์-อิตี-คิปีหรือ "กระจกแห่งสรวงสวรรค์" ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันในปัจจุบัน[4][5]

น้ำซับคิตช์-อิตี-คิปีเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของพื้นที่อัพเพอร์เพนีซูลา รัฐมิชิแกน[4] ตั้งอยู่ภายในอุทยานแห่งรัฐพามส์บุค ในทาวน์ชิพธอมป์สัน เทศมณฑลสคูลคราฟต์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองแมนิสตีค (Manistique)[6][7] ปี ค.ศ. 1926 รัฐมิชิแกนได้รับพื้นที่น้ำซับและส่วนที่ติดต่อกัน โดยมีเงื่อนไขให้พื้นที่กลายเป็นอุทยาน ตั้งแต่นั้นรัฐมิชิแกนได้ซื้อที่ดินโดยรอบและได้ขยายขอบเขตของอุทยานเป็นอย่างมาก[4]

รูปร่างและลักษณะ[แก้]

คิตช์-อิตี-คิปีเป็นสระรูปวงรีสีเขียวมรกตขนาด 300 × 175 ฟุต (91 × 53 ม.) และลึกประมาณ 40 ฟุต (12 ม.)[4] น้ำซับอุณหภูมิคงที่ 45 °F (7 °C) จะไหลจากรอยแยกใต้หินปูน 10,000 ยูเอสแกลลอนต่อนาที (630 ลิตร/วินาที) ตลอดทั้งปี[4][2] แรงดันไฮดรอลิกดันน้ำบาดาลขึ้นมาสู่พื้นผิว ซึ่งยังไม่ทราบว่าน้ำปริมาณมหาศาลมาจากที่ใด ลักษณะของสระคล้ายคลึงกับหลุมยุบอื่น แต่แตกต่างที่มีการเชื่อมต่อสู่ทะเลสาบอินเดียที่อยู่ใกล้เคียงด้วยชั้นหินอุ้มน้ำ (ทางน้ำใต้ดิน) สระน้ำซับขนาดเล็กนี้เกิดจากการละลายของชั้นบนสุดของหินปูน แล้วถล่มลงมาสู่ถ้ำ อันเกิดจากการกระทำของน้ำใต้ดิน [1]

ด้วยน้ำซับมีน้ำใส จึงสามารถเห็นปลาและลำต้นของต้นไม้โบราณมีแร่ห่อหุ้มกิ่งก้านอย่างชัดเจน[4] สปีชีส์ของปลาที่พบโดยทั่วไป ได้แก่ ปลาเทราต์ทะเลสาบ ปลาเทราต์น้ำตาลและปลาเทราต์ลำธาร ในบางครั้งอาจพบปลาเพริชเหลือง และปลาสปีชีส์อื่นที่เคลื่อนที่ไปมาระหว่างน้ำซับแห่งนี้และทะเลสาบอินเดีย[1]

คำว่า Kitch-iti-kipi มีหลายความหมายในภาษาของชาวโอจิบเว ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองท้องถิ่น ความหมายบางส่วนได้แก่ "แหล่งน้ำยิ่งใหญ่" (The Great Water), "ท้องนภาสีฟ้าที่ฉันเห็น" (The Blue Sky I See) และ"น้ำซับฟองผุด" (Bubbling Spring) แม้ไม่มีเสียงใดมาจากน้ำซับแห่งนี้ แต่ชนพื้นเมืองอเมริกันกลุ่มอื่นเรียกที่แห่งนี้ว่า "เสียงคำราม" (The Roaring), "น้ำเสียงกลอง" (Drum Water) และ "เสียงอัสนี" (Sound of Thunder) [6] ผลของภาพลานตาทำให้เห็นรูปร่างและรูปทรงของน้ำซับเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เกิดจากการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของมวลทรายด้วยการไหลของน้ำ[4]

ประวัติ[แก้]

รัฐมิชิแกนได้รับมอบคิตช์-อิตี-คิปีในปี ค.ศ. 1926 บันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่าช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 จอห์น ไอ. เบลแลร์ เจ้าของร้านห้าเซนต์ (Five and Dime store) ในเมืองแมนิสตีค ได้ค้นพบแหล่งน้ำซับมีลักษณะคล้ายหลุมดำในพื้นที่ป่าหนาแน่นของอัพเพอร์เพนีซูลา รัฐมิชิแกนและได้หลงรักสถานที่แห่งนี้ คิตช์-อิตี-คิปีซ่อนอยู่ท่ามกลางไม้ล้มและพบว่าคนตัดไม้ใช้พื้นที่ใกล้เคียงเป็นที่ทิ้งขยะ[6]

เบลแลร์เล็งเห็นศักยภาพของพื้นที่ในฐานะจุดพักผ่อนหย่อนใจสาธารณะ เขาสามารถซื้อพื้นที่บริเวณนี้เป็นของเขาเสียเองก็ได้ ทว่าเขาโน้มน้าวให้แฟรงค์ ปามส์ซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัทปามส์บุคแลนด์ให้ขายแหล่งน้ำซับและพื้นที่อีก 90 เอเคอร์ให้กับรัฐมิชิแกนในราคา 10 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีข้อตกลงให้ใช้พื้นที่เป็นอุทยานสาธารณะตลอดไป พร้อมทั้งให้มีชื่อว่าอุทยานแห่งรัฐพามส์บุค[6] รัฐมิชิแกนได้ซื้อพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มเติม จนในปัจจุบันมีพื้นที่กว่า 300 เอเคอร์[4]

แพ[แก้]

ภาพตามเข็มนาฬิกาจากซ้ายไปขวา: (1) น้ำซับผุดขึ้นมาจากทราย; (2) ปลาท่ามกลางกิ่งไม้ใต้น้ำ; (3) แพชมทิวทัศน์

คิตช์-อิตี-คิปีมีแพสังเกตการณ์บังคับเองพานักท่องเที่ยวไปยังจุดดีที่สุดเพื่อเยี่ยมชมลักษณะใต้ผืนน้ำ[4][2] โดยแพสังเกตการณ์มีสายเคเบิลยึดให้เจ้าหน้าที่อุทยานหรือนักท่องเที่ยวเป็นผู้ดึงสายเคเบิลให้แพสังเกตการณ์เคลื่อนที่ข้ามสระน้ำซับ แพสังเกตการณ์มีหน้าต่างให้นักท่องเที่ยวได้ชมการไหลที่รวดเร็วของน้ำซับ นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถมองออกไปด้านข้างเพื่อชมทัศนียภาพได้เช่นกัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของรัฐมิชิแกนและกลุ่มพลเรือนอนุรักษ์มิชิแกนดำเนินการสร้างแพ, ท่าเรือ, ร้านขายอาหารและเครื่องดื่มและที่พักเจ้าหน้าที่เมื่อปี ค.ศ. 2013[8]

ตำนานชนพื้นเมืองอเมริกัน[แก้]

มีตำนานหลายเรื่องอ้างว่าเป็นของชนพื้นเมืองอเมริกันเกี่ยวกับคิตช์-อิตี-คิปี อย่างไรก็ตามแหล่งข้อมูลบางแหล่งเสนอแนะว่าเบลแลร์อาจเป็นผู้สร้างตำนานขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์อุทยาน[1][6]

มีตำนานหนึ่งกล่าววถึง คิตช์-อิตี-คิปี เป็นหัวหน้าเผ่าวัยหนุ่มในพื้นที่ เขาบอกคนรักของเขาว่าเขารักเธอมากกว่าหญิงผมดำรายอื่นที่เต้นรำอยู่ใกล้กระโจมเปลือกไม้ของเขา เธอต้องการให้เขาเข้าสู่บททดสอบแห่งความรักและเรียกร้องให้ "พิสูจน์" บททดสอบการอุทิศตนของเขาคือเขาต้องล่องเรือแคนูในน้ำซับลึกเข้าไปในพื้นที่ป่าสนชุ่มน้ำ จากนั้นเธอจะกระโดดจากกิ่งไม้ที่ยื่นออกมาด้วยความเชื่อใจ แล้วเขาจะรับเธอจากเรือแคนูเพื่อพิสูจน์ความรัก[4] ดังนั้นเขาจึงนำเรือแคนูบอบบางของเขาไปยังน่านน้ำเย็นจัดของทะเลสาบเพื่อตามหาเธอ ท้ายที่สุดเรือแคนูของเขาก็พลิกคว่ำในความพยายามนี้ เขาจมน้ำตายในความพยายามที่จะสนองความไร้สาระของความรักที่มีต่อหญิงสาวชาวอเมริกันพื้นเมือง ซึ่งปรากฏว่าเธอกลับมาที่หมู่บ้านของเธอกับหญิงสาวชาวอเมริกันพื้นเมืองอื่น ๆ พวกเธอหัวเราะเกี่ยวกับภารกิจไม่มีความหมายของเขา ดังนั้นจึงตั้งชื่อน้ำซับตามชื่อของเขาเพื่อเป็นการระลึกถึง[9]

อีกตำนานหนึ่งกล่าวถึงหญิงสาวชาวพื้นเมืองอเมริกันในพื้นที่จะหยดน้ำผึ้งลงบนเปลือกไม้เบิร์ชแล้วจุ่มลงในน้ำซับ จากนั้นจะนำสิ่งนั้นมามอบให้แก่หัวหน้าเผ่าวัยหนุ่มที่พวกเธอชื่นชอบ เพื่อให้เขาเป็นรักแท้ตลอดไป[6]

อีกตำนานหนึ่งกล่าวถึงต้นทามาแรค (tamarack) ซึ่งขึ้นอยู่ตามแนวตลิ่งของแหล่งน้ำซับ เชื่อว่าเมื่อใช้สากกะเบือบดเปลือกไม้ขนาดเล็กแล้วใส่ไว้ในกระเป๋าเปล่า ๆ ยามเที่ยงคืนเศษนั้นจะเปลี่ยนเป็นทองคำอย่างน่าอัศจรรย์[6]

อีกตำนานหนึ่งกล่าวถึงพ่อแม่บางคนมายังน้ำซับเพื่อแสวงหาชื่อสำหรับลูกชายหรือลูกสาวเกิดใหม่ พวกเขาจะอนุมานว่าได้ชื่อใหม่จากเสียงของน้ำกระเพื่อม เช่น ซาตู (ที่รัก), คาคูชิกา (ตาโต), นาตูโกโร (ดอกไม้งาม) และเวชิ (ปลาน้อย) เป็นต้น[6] ตำนานอื่น ๆ ยังกล่าวอีกว่าชนพื้นเมืองอเมริกันมอบพลังฟื้นฟูพิเศษให้กับน้ำในน้ำซับ[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "A Spring with a story to tell". Detroit Free Press. Detroit, Michigan. August 30, 1999. p. 19 – โดยทาง Newspapers.com สิ่งพิมพ์เผยแพร่เข้าถึงแบบเปิด อ่านได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Madison, George; Lockwood, Roger N. (October 2004). "Manistique River Assessment". Fisheries Special Report 31 (PDF). Ann Arbor: Michigan Department of Natural Resources. pp. 65–72. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ December 20, 2007. สืบค้นเมื่อ May 12, 2008.
  3. U.S. Geological Survey Geographic Names Information System: คิตช์-อิตี-คิปี
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 "Big Spring (Kitch-iti-kipi)". Exploring the North. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 10, 2008. สืบค้นเมื่อ May 12, 2008.
  5. "Michigan". St. Louis Post-Dispatch. St. Louis, Missouri. June 2, 2002. p. 128. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 13, 2020. สืบค้นเมื่อ July 14, 2020 – โดยทาง Newspapers.com สิ่งพิมพ์เผยแพร่เข้าถึงแบบเปิด อ่านได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 6.7 6.8 Michigan Department of Natural Resources. "Palms Book State Park Detail". Michigan Department of Natural Resources. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 2, 2008. สืบค้นเมื่อ May 12, 2008.
  7. DuFresne, Jim; Clifton-Thornton, Christine (1998). Michigan State Parks: A Complete Recreation Guide. Seattle: The Mountaineers Books. p. 9. ISBN 0-89886-544-1. สืบค้นเมื่อ May 12, 2008 – โดยทาง Google Books.
  8. "'Big Spring' park gets $140,000 in renovations". Livingston County Daily Press and Argus. Howell, Michigan. June 15, 2003. p. 13 – โดยทาง Newspapers.com สิ่งพิมพ์เผยแพร่เข้าถึงแบบเปิด อ่านได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย.
  9. "Kitchitikipi: Big Spring". Upper Michigan Waterfalls. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 15, 2008. สืบค้นเมื่อ May 12, 2008.