คัตสึโดชาชิง
คัตสึโดชาชิง (ญี่ปุ่น: 活動写真; โรมาจิ: Katsudō Shashin; "ภาพเคลื่อนไหว") หรือบางครั้งเรียกว่า ชิ้นส่วนมัตสึโมโตะ เป็นฟิล์มสตริปภาพเคลื่อนไหวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลงานอนิเมะญี่ปุ่นที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ทราบ โดยไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างผลงาน หลักฐานบ่งชี้ว่าสร้างขึ้นก่อน ค.ศ. 1912 ดังนั้นฟิล์มสตริปชิ้นนี้อาจมีมาก่อนการจัดแสดงภาพยนตร์การ์ตูนของตะวันตกในญี่ปุ่น โดยมีการค้นพบ คัตสึโดชาชิง ในชุดสะสมภาพยนตร์และเครื่องฉายในเกียวโตเมื่อ ค.ศ. 2005
ฟิล์มสตริปความยาวสามวินาทีแสดงให้เห็นเด็กผู้ชายเขียนคำว่า "活動写真" จากนั้นถอดหมวกแล้วโค้งคำนับ โดยใช้อุปกรณ์สำหรับทำสไลด์โคมไฟวิเศษในการพิมพ์ฉลุเฟรมด้วยสีแดงและสีดำ และยึดฟิล์มสตริปให้เป็นวงเพื่อให้สามารถเล่นได้ต่อเนื่อง
ลักษณะ[แก้]
คัตสึโดชาชิง ประกอบด้วยชุดของภาพการ์ตูนบนแถบเซลลูลอยด์ห้าสิบเฟรม มีความยาวสามวินาทีที่สิบหกเฟรมต่อวินาที[1] ฟิล์มสตริปแสดงเด็กชายในชุดกะลาสีเขียนตัวอักษรคันจิ "活動写真" (katsudō shashin, "ภาพเคลื่อนไหว") จากขวาไปซ้าย จากนั้นหมุนตัวมาทางผู้ชม ถอดหมวก แล้วคำนับ[1] คัตสึโดชาชิง เป็นชื่อชั่วคราว ด้วยไม่ทราบชื่อที่แท้จริง[2]
งานชิ้นนี้มีความแตกต่างกับแอนิเมชันดั้งเดิมตรงที่เฟรมไม่ได้ผลิตด้วยวิธีการบันทึกภาพ แต่ใช้การพิมพ์ฉลุฟิล์ม[3] โดยใช้ คัปปะ-บัง[a] ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับพิมพ์ฉลุสไลด์โคมไฟวิเศษ ภาพเป็นสีแดงและดำบนแถบภาพยนตร์ขนาด 35 มม.[b][4] โดยส่วนท้ายยึดติดกันเพื่อการเล่นที่ต่อเนื่อง[5]
ภูมิหลัง[แก้]
ภาพยนตร์แอนิเมชันภาพพิมพ์ในยุคเริ่มแรกสำหรับเป็นของเล่นทางสายตา เช่น โซอิโทรป มีมาก่อนแอนิเมชันที่ใช้เครื่องฉาย เกอบรือเดอร์บิงซึ่งเป็นผู้ผลิตของเล่นเยอรมันนำเสนอเครื่องฉายที่เทศกาลของเล่นในเนือร์นแบร์คเมื่อ ค.ศ. 1898 ไม่นานนักผู้ผลิตของเล่นรายอื่นก็ขายเครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน[6] การสร้างภาพยนตร์ที่ใช้คนแสดงจริงสำหรับเครื่องฉายดังกล่าวมีราคาสูง ส่วนภาพยนตร์แอนิเมชันสำหรับเครื่องมือเหล่านี้มีวางขายอย่างเร็วที่สุดน่าจะใน ค.ศ. 1898 โดยสามารถยึดเป็นวงเพื่อการรับชมอย่างต่อเนื่อง[7] การนำเข้าเครื่องฉายจากเยอรมนีเข้าสู่ญี่ปุ่นเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดใน ค.ศ. 1904[8] โดยฟิล์มมักจะมีภาพเคลื่อนไหวที่วนกลับมาภาพเดิม[9]
เทคโนโลยีการฉายภาพยนตร์จากตะวันตกเข้ามาในญี่ปุ่นในช่วง ค.ศ. 1896–1897[10] การฉายแอนิเมชันต่างชาติครั้งแรก ๆ ในโรงภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่สามารถระบุวันที่ได้แน่ชัดได้แก่เรื่อง เลแซ็กซ์ปลัวเดอเฟอฟอแล[c] (ค.ศ. 1911) ของเอมีล โกล นักวาดภาพแอนิเมชันฝรั่งเศส ซึ่งฉายรอบปฐมทัศน์ในโตเกียวเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 สำหรับภาพยนตร์แอนิเมชันญี่ปุ่นเรื่องแรกที่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์เป็นผลงานของโอเต็ง ชิโมกาวะ, เซอิตาโร คิตายามะ และจุงอิจิ โคอูจิ ใน ค.ศ. 1917[11] แม้ฟิล์มจะสูญหาย แต่มีการค้นพบบางส่วนในฉบับ "ภาพยนตร์ของเล่น"[d] สำหรับการรับชมที่บ้านด้วยเครื่องฉายมือหมุน ภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงอยู่ได้แก่ ฮานาวะ เฮโกไน เมโต โนะ มากิ[e] (1917) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อว่า นามากูระกาตานะ[12]
การค้นพบอีกครั้ง[แก้]
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 พ่อค้ามือสองในเกียวโตติดต่อนัตสึกิ มัตสึโมโตะ[f][3] ผู้เชี่ยวชาญด้านประติมานวิทยาจากมหาวิทยาลัยศิลปะโอซากา[13] พ่อค้าได้รับชุดสะสมฟิล์มและเครื่องฉายจากครอบครัวเก่าแก่ในเกียวโต และมัตสึโมโตะมารับของสะสมเหล่านี้ในเดือนถัดไป[3] ชุดสะสมเหล่านี้ประกอบด้วยเครื่องฉาย 3 เครื่อง, ฟิล์ม 35 มม. 11 ชิ้น และสไลด์โคมไฟวิเศษ 11 ชิ้น[3]
เมื่อมัตสึโมโตะค้นพบ คัตสึโดชาชิง ในชุดสะสม[13] ฟิล์มสตริปอยู่ในสภาพที่แย่[14] ในชุดสะสมมีฟิล์มสตริปแอนิเมชันแบบตะวันตกสามชิ้น โดย คัตสึโดชาชิง อาจผลิตขึ้นด้วยการเลียนแบบจากตัวอย่างของแอนิเมชันเยอรมันหรือประเทศตะวันตกอื่น[15] หากพิจารณาจากหลักฐาน เช่น วันที่ผลิตที่เป็นไปได้ของเครื่องฉายในชุดสะสม มัตสึโมโตะและนักประวัติศาสตร์แอนิเมชันอย่างโนบูยูกิ สึงาตะ[g] คาดว่าภาพยนตร์นี้น่าจะสร้างขึ้นในช่วงปลายยุคเมจิซึ่งสิ้นสุดใน ค.ศ. 1912[h][16] นักประวัติศาสตร์อย่างเฟรเดริก เอส. ลิตเติน เสนอแนะว่าน่าจะสร้างเมื่อประมาณ ค.ศ. 1907[2] และ "ปีที่สร้างไม่น่าก่อน ค.ศ. 1905 และไม่น่าหลัง ค.ศ. 1912"[9] ด้วยในช่วงเวลานั้นโรงภาพยนตร์หาได้ยากในประเทศญี่ปุ่น[5] หลักฐานจึงชี้ได้ว่ามีการผลิต คัตสึโดชาชิง ออกมาจำนวนมากเพื่อขายให้แก่คนร่ำรวยที่เป็นเจ้าของเครื่องฉายใช้ในบ้าน[17] ขณะนี้ยังไม่ปรากฏชื่อผู้สร้าง[13] ในความเห็นของมัตสึโมโตะนั้น คุณภาพที่ค่อนข้างแย่และเทคนิคการพิมพ์ระดับต่ำบ่งชี้ว่า คัตสึโดชาชิง น่าจะมีที่มาจากบริษัทขนาดเล็ก[9]
การค้นพบครั้งนี้ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในสื่อญี่ปุ่น[3] เมื่อพิจารณาปีที่สร้างตามที่ได้คาดกันไว้ ภาพยนตร์ชิ้นนี้อาจเกิดขึ้นร่วมสมัยหรืออาจเกิดขึ้นก่อนงานแอนิเมชันของโกลและนักแอนิเมชันชาวอเมริกันอย่างเจ. สจวร์ต แบล็กตัน และวินซอร์ แม็กเคย์ หนังสือพิมพ์ อาซาฮีชิมบุง ยอมรับในความสำคัญของการค้นพบแอนิเมชันสมัยเมจิ แต่ยังแสดงความกังขาต่อการจัดให้ภาพยนตร์ชิ้นนี้อยู่ในกลุ่มแอนิเมชันญี่ปุ่น โดยเขียนไว้ว่า "มีข้อถกเถียงว่า [คัตสึโดชาชิง] ควรจะถูกเรียกว่าแอนิเมชันในความเข้าใจร่วมสมัยหรือไม่"[14]
เชิงอรรถ[แก้]
- ↑ 合羽版 kappa-ban; กระบวนการพิมพ์เรียกว่า คัปปะ-ซูริ (合羽刷り)
- ↑ ฟิล์มสตริปหดตัวลงมาเหลือเพียง 33.5 มม.[2]
- ↑ ฝรั่งเศส: Les Exploits de Feu Follet; อังกฤษ: The Nipper's Transformations; ญี่ปุ่น: ニッパルの変形 Nipparu no Henkei
- ↑ 玩具 กังงุ
- ↑ 塙凹内名刀之巻 Hanawa Hekonai meitō no maki, "ม้วนภาพยนตร์ดาบที่เลื่องชื่อของฮานาวะ เฮโกไน"
- ↑ 松本 夏樹 Matsumoto Natsuki, เกิด ค.ศ. 1952
- ↑ 津堅 信之 Tsugata Nobuyuki, เกิด ค.ศ. 1968
- ↑ ยุคเมจิกินเวลาตั้งแต่ ค.ศ. 1868 ถึง 1912
อ้างอิง[แก้]
- ↑ 1.0 1.1 Anime News Network staff 2005.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Litten 2014, p. 13.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Matsumoto 2011, p. 98.
- ↑ Matsumoto 2011, p. 116.
- ↑ 5.0 5.1 Asahi Shimbun staff 2005.
- ↑ Litten 2014, p. 9.
- ↑ Litten 2014, p. 10.
- ↑ Litten 2014, p. 14.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 Litten 2014, p. 15.
- ↑ Matsumoto 2011, p. 112.
- ↑ Litten 2013, p. 27.
- ↑ Matsumoto 2011, pp. 96–97.
- ↑ 13.0 13.1 13.2 Clements & McCarthy 2006, p. 169.
- ↑ 14.0 14.1 López 2012, p. 584.
- ↑ Litten 2014, p. 12.
- ↑ Matsumoto & Tsugata 2006, p. 101; Matsumoto 2011, p. 115.
- ↑ Matsumoto 2011, pp. 116–117.
งานอ้างอิง[แก้]
- Anime News Network staff (7 August 2005). "Oldest Anime Found". Anime News Network. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 February 2007. สืบค้นเมื่อ 12 February 2014.
- Asahi Shimbun staff (1 August 2005). "Nihon saiko? Meiji jidai no anime firumu, Kyōto de hakken" 日本最古?明治時代のアニメフィルム、京都で発見 [Oldest in Japan? Meiji-period animated film discovered in Kyoto]. China People's Daily Online (Japanese Edition) (ภาษาญี่ปุ่น). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 October 2007. สืบค้นเมื่อ 11 June 2014.
- Clements, Jonathan; McCarthy, Helen (2006). The Anime Encyclopedia: A Guide to Japanese Animation Since 1917. Stone Bridge Press. ISBN 978-1-84576-500-2.
- Litten, Frederick S. (2013). "Shōtai kenkyū nōto: Nihon no eigakan de jōei sareta saisho no (kaigai) animēshon eiga ni tsuite" 招待研究ノート:日本の映画館で上映された最初の(海外)アニメーション映画について [On the Earliest (Foreign) Animation Shown in Japanese Cinemas]. The Japanese Journal of Animation Studies (ภาษาญี่ปุ่น). 15 (1A): 27–32.
- Litten, Frederick S. (17 June 2014). "Japanese color animation from ca. 1907 to 1945" (PDF). litten.de. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 14 July 2014. สืบค้นเมื่อ 18 June 2014.
- López, Antonio (2012). "A New Perspective on the First Japanese Animation". Published proceedings‚ Confia‚ (International Conference on Illustration and Animation)‚ 29–30 Nov 2012. IPCA. pp. 579–586. ISBN 978-989-97567-6-2.
- Matsumoto, Natsuki; Tsugata, Nobuyuki (2006). "Kokusan saikō to kangaerareru animēshon firumu no hakken ni tsuite" 国産最古と考えられるアニメーションフィルムの発見について [The discovery of supposedly oldest Japanese animation films]. Eizōgaku (ภาษาญี่ปุ่น) (76): 86–105. ISSN 0286-0279.
- Matsumoto, Natsuki (2011). "映画渡来前後の家庭用映像機器" [Home movie equipment from the earliest days of film in Japan]. ใน Iwamoto, Kenji (บ.ก.). Nihon eiga no tanjō 日本映画の誕生 [Birth of Japanese film] (ภาษาญี่ปุ่น). Shinwa-sha. pp. 95–128. ISBN 978-4-86405-029-6.
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Katsudō Shashin (1907 film)
- คัตสึโดชาชิง ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส