ความคุ้มกันทางทูต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ความคุ้มกันทางการทูต)

ความคุ้มกันทางทูต[1] หรือ ความคุ้มกันทางการทูต (อังกฤษ: diplomatic immunity) เป็นความคุ้มกันทางกฎหมายประเภทหนึ่งที่มีให้แก่ผู้แทนทางทูต เอกสิทธิ์นี้เป็นการรับประกันว่าผู้แทนเหล่านั้นอยู่พ้นจากการบังคับใช้กฎหมายและอำนาจศาลของประเทศผู้ให้ความคุ้มกัน (หรือเรียกว่า "รัฐผู้รับ") อย่างไรก็ตาม ความคุ้มกันนี้ไม่ครอบคลุมถึงการถูกเนรเทศออกนอกประเทศ ประเทศผู้ให้ความคุ้มกันมีสิทธิเด็ดขาดที่จะเนรเทศผู้แทนทางทูตใด ๆ ออกจากประเทศของตนได้ตามเห็นสมควร ความคุ้มกันทางทูตได้รับการจัดหมวดเป็นกฎหมายระหว่างประเทศตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 ซึ่งทุกประเทศในโลกได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญานี้ อย่างไรก็ตามพบว่าในบางภูมิภาค หลักความคุ้มกันทางทูตมีประวัติศาสตร์ย้อนไปยาวนานกว่านั้นนับพันปี

ความคุ้มกันทางทูตเริ่มปรากฎขึ้นในยุโรปยุคใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เมื่อนักการทูตยุโรปต่างตระหนักว่าความคุ้มกันจากการถูกดำเนินคดีเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ทางทูตเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ในปีค.ศ. 1709 รัฐสภาอังกฤษได้ให้ความคุ้มกันทางทูตแก่ชาวต่างประเทศเป็นครั้งแรก นั่นก็คือเคานต์อังเดร มาเตรียฟ (Andrey Matveyev) ทูตจากรัสเซีย

ขอบเขตความคุ้มกัน[แก้]

บางส่วนของความคุ้มกันทางทูตในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 ได้แก่:[2]

  • สถานที่ทางทูต ได้รับความคุ้มกันจากการถูกบุกรุก
  • สถานที่ทางทูต เครื่องตกแต่ง และทรัพย์สินที่อยู่ในสถานที่นั้น ตลอดจนพาหนะของผู้แทนฯ ได้รับความคุ้มกันจากการถูกตรวจค้น บังคับคดี และอายัด
  • ตัวผู้แทนทางทูตตลอดจนทรัพย์สินของผู้แทนทางทูต ได้รับการยกเว้นภาษีส่วนกลางของรัฐผู้รับ (เช่น ภาษีเงินได้, ภาษีศุลกากร, ภาษีสรรพสามิต)
  • สถานที่ของคณะผู้แทนฯ ได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและภาษีที่ดิน
  • กระดาษ เอกสารต่าง ๆ ของคณะผู้แทน จะถูกละเมิดมิได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด และเวลาใด
  • หีบห่อสัมภาระส่วนตัวของผู้แทนทางทูตได้รับการยกเว้นจากการถูกตรวจตรา
  • การสื่อสารของคณะผู้แทนฯ ได้รับความคุ้มครองให้เป็นไปโดยเสรี มิอาจถูกปิดกั้น
  • ตัวผู้แทนทางทูต ได้รับความคุ้มกันจากการถูกละเมิด ถูกจับกุม หรือถูกกักขัง
  • ผู้แทนทางทูต ได้รับความคุ้มครองให้พ้นจากอำนาจศาลของรัฐผู้รับ ทั้งในทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง

อ้างอิง[แก้]

  1. "พระราชบัญญัติว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันทางทูต พ.ศ. ๒๕๒๗ และอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความคุ้มกันทางทูต" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. กรุงเทพฯ: สลค. 101 (131): 1–31. 2527-09-26. สืบค้นเมื่อ 2561-02-04. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. (คำแปล) อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 เก็บถาวร 2019-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศ