การเจาะเลือดเสียออกจากร่างกาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การเจาะเลือดเสียออกจากร่างกาย
การแทรกแซง
การเจาะเอาเลือดออกของคนยุโรปในช่วงปี 1860

การรักษาด้วยการเอาเลือดเสียออกจากร่างกาย (อังกฤษ: Bloodletting) หรือการรักษาด้วยการเจาะเลือดหรือการเอาเลือดเสียออกจากร่างกายเป็นรูปแบบการรักษาความเจ็บป่วยแบบหนึ่งในช่วงยุคกลาง ซึ่งตามโลกทัศน์ความเชื่อของคนยุโรปยุคโบราณมาจนถึงยุคกลางพวกเขามีความเชื่อว่าความเจ็บป่วยเกิดจากเลือดไม่ดีที่ไหลเวียนออกจากร่างกาย ดังนั้นหากเอาเลือดไม่ดีออกจากตัวของผู้ป่วย ผู้ป่วยก็จะอาการทุเลาลง ซึ่งกระบวนการเอาเลือดออกนี้มีตั้งแต่แบบเบาด้วยการใช้ปลิงดูดเลือด ไปจนถึงการเจาะเลือดเอาเลือดออกมา

ทั้งนี้กระบวนการรักษาด้วยการเอาเลือดออกเป็นวิธีที่นิยมของคนยุคกลางเรื่อยมาจนถึงช่วงยุคศตวรรษที่ 19 เมื่อกระบวนการแพทย์มีความทันสมัยมากขึ้น[1]

ความเข้าใจในยุคโบราณ[แก้]

แผนภาพของคนยุคโบราณ ที่แสดงถึงการเจาะเลือดตามตำแหน่งของร่างกาย ที่จะแก้อาการของความเจ็บป่วยแต่ละอย่าง
ในหนังสือของฮานส์ ฟาน เกอส์ดอล์ฟ ที่ว่าด้วยรวมเรื่องการรักษาแผลที่แต่งขึ้นเมื่อปี 2060 ได้วาดภาพกายวิภาคที่แสดงถึงตำแหน่งของการเจาะเลือดเสียของร่างกาย

บันทึกว่าด้วยการรักษาด้วยวิธีการถ่ายเลือดนั้น บันทึกเก่าสุดทีเขียนเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรบนกระดาษปาปิรุสของชาวอียิปต์โบราณ โดยพวกเขาใช้วิธีรักษานี้อันมาจากการสังเกตเห็นฮิปโปโปเตมัสขับของเหลวสีแดงออกมาจากร่างกาย พวกเขาเชื่อว่ามันคือเลือดและฮิปโปกำลังขับเลือดที่ไม่ดีออกมาจากร่างกาย[2] (ทั้งนี้ของเหลวสีแดงนั้นคือเหงื่อของฮิปโปโปเตมัส)[3][4]

ทั้งนี้วิธีการรักษาแบบอียิปต์นี้ได้ส่งผลไปยังกรีก นักปราชญ์ชาวกรีกหลายคนเห็นด้วยและมีคำอธิบายถึงกระบวนการรักษาแบบนี้ เช่น อีเรสตราตุส (Erasistratus) มองว่าโรคระบาดที่มนุษย์เป็นนั้นมันมาจากการที่เรามีเลือดในตัวมากเกินไป ซึ่งเราต้องหาทางเอาของเหลวหรือเลือดในร่างกายออกมา มันถึงจะทำให้อาการดีขึ้น รวมทั้งยังเป็นวิธีที่นิยมของฮิปโปเครตีสที่ใช้ในการรักษาและสอนลูกศิษย์อีกด้วย เพราะเขานั้นได้สังเกตพฤติกรรมของมนุษย์ และพบว่ามนุษย์เพศหญิงมักจะมีการถ่ายประจำเดือน ซึ่งออกมาในลักษณะของเลือดสีดำ ฮิปโปเครตีสมองว่านี่คือกลไกของมนุษย์ในการขับเลือดเสียออกจากร่างกาย และทำให้คนทั่วไปเห็นว่าในตัวของเราทุกคนมีเลือดเสียที่ควรจะต้องเอาออก หากจะรักษาสุขภาพไว้

แนวความคิดเรื่องการถ่ายเลือดนี้ถูกส่งทอดต่อมาถึงกาเลน และมีการขยายความรู้เรื่องเลือดออกไป จากการสังเกตถึงกระบวนการทำงานภายในของอวัยวะมนุษย์ งานของกาเลนค้นพบว่ามนุษย์นั้นแบ่งเลือดออกเป็นสองประเภทคือ “เลือดดี” และ “เลือดไม่ดี” ผ่านเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำ โดยกาเลนกำหนดบทบาทของเลือดเป็นสองประเภท คือ เลือดที่ส่งไปยังตำแหน่งต่างๆของร่างกายอย่างชัดเจน และเลือดที่คอยควบคุมสมดุลของร่างกาย เพราะตามงานของกาเลนมนุษย์มีของเหลวอยู่สี่ชนิดในร่างกาย คือ โลหิต เสมหะ น้ำเหลืองสีขาว และน้ำเหลืองสีดำ และการเกิดโรคต่างๆ เกิดจากความไม่เท่ากันของของเหลวภายในร่างกาย ดังนั้นกระบวนการเจาะเอาเลือดบางส่วนออกไปบ้าง จึงเป็นกระบวนการในการรักษาสมดุลและรักษาโรคในสมัยโบราณ[5]

ในยุคกลาง[แก้]

การเจาะเลือดยังคงเป็นการรักษายอดนิยมในยุคกลาง ซึ่งในช่วงนี้อาจจะมีการเพิ่มความเชื่อเรื่องศาสนาลงไปบ้าง เช่น วันที่แนะนำในการรักษาควรจะเป็นวันที่ตรงกับวันของนักบุญหรือเป็นช่วงวันสำคัญทางศาสนา เพื่อที่จะให้พระเจ้าคุ้มครอง หรือแม้แต่ในกลุ่มคนที่นับถืออิสลามเองก็มีกระบวนการรักษาด้วยการเจาะเลือดเหมือนกัน ซึ่งคาดว่าอาจจะรับมาจากทางกรีก จะเห็นได้ว่าในช่วงยุคกลางการเจาะถ่ายเลือดเป็นกระบวนการรักษาโดยทั่วไป ที่ผู้คนอาจจะโชว์ร่องรอยการรักษาที่มีมากมายในที่สาธารณะเป็นการโอ้อวดถึงการมีสุขภาพที่ดี

มุมมองในศตวรรษที่ 19 และ 20[แก้]

ในช่วงศตวรรษที่ 19 การเอาเลือดออกกลายเป็นการรักษาขั้นต้นยอดนิยมที่ใช้ในทุกโรค ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัด ปวดหัว ปวดท้อง ไปจนถึงโรคมะเร็ง อหิวาตกโรค หรือโรคปวดบวม การรักษาด้วยการเจาะเลือดเสียออกเป็นเหมือนการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ทุกคนต้องทำก่อนจะรักษาขั้นใหญ่ ทั้งนี้หน้าที่หลักในการเจาะเลือดเป็นของศัลยแพทย์ และศัลยแพทย์เส้นผมซึ่งก็คือพวกช่างตัดผมต่างๆ ที่ถือครองมีดหมอในการตัดแต่งเส้นผมหรือเคราของร่างกาย ก็มีความสามารถพอที่จะเจาะเลือดให้ได้

เครื่อง Scarificator

ในช่วงยุคนี้กระบวนการเจาะเลือดเสียออกเริ่มมีแบบแผนชัดเจนขึ้น เช่น การจะเจาะต้องเจาะในจุดที่เส้นเลือดดำขนานกันสองเส้นขึ้นไป เช่น เส้นเลือดที่ปลายแขนหรือลำคอ นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเจาะเลือดโดยเฉพาะด้วย เช่น Scarificator ซึ่งเป็นเครื่องมือลักษณะคล้ายกล่องแต่มีใบมีดคมกริบขนานไปกับตัวเครื่องเพื่อใช้ในการผ่าผิวหนังเพื่อให้เลือดออกมา

ความนิยมในการเจาะเลือดยังทำให้ความนิยมในการทำธุรกิจค้าขายปลิงเพิ่มขึ้นด้วย[6] เพราะปลิงก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ชาวยุโรปใช้ในการกำจัดเลือดเสีย เพราะมันเป็นสัตว์ที่ดูดเลือดกินเป็นอาหาร ซึ่งความนิยมในการนำเข้าปลิงเพื่อใช้ในทางการแพทย์มีลายลักษณ์อักษรบันทึกเอาไว้ เช่นในฝรั่งเศสช่วงทศวรรษที่ 1930s มีการนำเข้าปลิงไม่ต่ำกว่า 40 ล้านตัว ในขณะที่อังกฤษนำเข้าปลิงจากฝรั่งเศสกว่า 6 ล้านตัว

อย่างไรก็ตามก็มีนักวิทยาศาสตร์และนักการแพทย์หลายคนพยายามชี้อธิบายว่าการเจาะเลือดเสียนั้นไม่ได้ช่วยอะไรมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เช่นวิลเลี่ยม ฮาร์วี่ ผู้ค้นพบว่าในเลือดนั้นมีระบบไหลเวียนภายใน ก็ได้เคยศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการเอาเลือดเสียออกจากร่างกาย ก็อธิบายว่าการเอาเลือดออกนั้นไม่ได้ทำให้ร่างกายแข็งแรงหรือปราศจากโรคระบาดขึ้นแต่อย่างใด ในขณะที่ปิแอร์ ชาล์ล อเล็กซานเดรีย หลุยส์นายแพทย์ชาวฝรั่งเศสก็สังเกตว่าผู้ป่วยโรคปอดบวมที่ทำการเจาะเลือดเอาเลือดเสียออกจากร่างกาย ไม่ได้แข็งแรงขึ้นแต่อย่างใด แต่บางทีกลับมีสภาพแย่กว่าผู้ป่วยที่ไม่ทำการเจาะเลือดเสียอีกด้วยซ้ำ งานเผยแพร่ของปิแอร์ หลุยส์ทำให้สังคมเริ่มตระหนักถึงความไม่มีเหตุและผลของการทำการเจาะเลือดเสีย และด้วยรูปแบบการรักษาที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้ความนิยมของการเจาะเลือดเสียในร่างกายเริ่มเสื่อมลง วิธีการนี้ต่อมาถูกมองว่าเป็นแค่การรักษาทางจิตใจ หรือการให้ยาหลอก ที่ให้เป็นเพียงแค่การให้กำลังใจคนไข้ให้สู้ต่อไปเท่านั้น ถึงกระนั้นรูปแบบการรักษาด้วยการเจาะเลือดเสียก็ยังคงหลงเหลือต่อมาจนถึงศตวรรษที่ 20 แต่ด้วยจำนวนที่น้อยมาก และเฉพาะกลุ่มแบบสุดๆ

อ้างอิง[แก้]

  1. B.) Anderson, Julie, Emm Barnes, and Enna Shackleton. "The Art of Medicine: Over 2,000 Years of Images and Imagination [Hardcover]." The Art of Medicine: Over 2, 000 Years of Images and Imagination: Julie Anderson, Emm Barnes, Emma Shackleton: ISBN 978-0226749365: The Ilex Press Limited, 2013.
  2. Davis, Audrey; Appel, Toby (1979). Bloodletting Instruments in the National Museum of History and Technology. Washington, DC: Smithsonian Institution Press. p. 1. hdl:10088/2440.
  3. Kean, Sam (2018). "Sweating blood". Distillations. 4 (2): 5. สืบค้นเมื่อ 20 August 2018.
  4. Mikhail, Alan (2014). The Animal in Ottoman Egypt. Oxford: Oxford University Press. p. 169. ISBN 978-0190655228. สืบค้นเมื่อ 20 August 2018.
  5. Conrad, Lawrence I. (1995). The Western Medical Tradition: 800 B.C.–1800 A.D. Cambridge, Eng.: Cambridge UP. ISBN 0-521-38135-5.
  6. Carter (2005) p. 7