การสูบบุหรี่กับสุขภาพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปกรายงาน การสูบบุหรี่กับสุขภาพ

การสูบบุหรี่กับสุขภาพ: รายงานโดยคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้อำนวยการกรมบริการสาธารณสุช (อังกฤษ: Smoking and Health: Report of the Advisory Committee to the Surgeon General of the Public Health Service) เป็นรายงานฉบับสำคัญที่ตีพิมพ์ในวันที่ 11 มกราคม 1964 โดยคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้อำนวยการกรมบริการสาธารณสุข ว่าด้วยการสูบบุหรี่กับสุขภาะ (Surgeon General's Advisory Committee on Smoking and Health) นำโดยลูเทอร์ แทรี ผู้อำนวยการกรมบริการสาธารณสุขของสหรัฐ รายงานฉบับนี้ระบุถึงผลกระทบต่อสุขภาพในทางลบจากการสูบใบยาสูบ โดยค้นพบว่าการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการเกิดโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง, โรคถุงลมโป่งพอง, โรคหัวใจ และโรคมะเร็งปอด[1] รายงานฉบับนี้กลายมาเป็นหนึ่งในข่าวใหญ่แห่งปี 1964 และนำไปสู่การออกนโยบายเช่น รัฐบัญญัติว่าด้วยการโฆษณาและติดป้ายบนหีบห่อของบุหรี่ในปี 1965 และรัฐบัญญัติสาธารณสุขว่าด้วยการสูบบุหรี่ในปี 1969

ภูมิหลัง[แก้]

ก่อนหน้าที่รายงานฉบับนี้จะถูกตีพิมพ์ ผลกระทบต่อสุขภาพของใบยาสูบเป็นประเด็นที่ถกเถียงโดยทั้งผู้บริโภคบุหรี่, ผู้ชำนาญการทางการแพทย์ และรัฐบาล นับตั้งแต่ใบยาสูบและการสูบบุหรี่ถูกนำเสนอเข้ามายังวัฒนธรรมยุโรป[1] หลักฐานเป็นชิ้นเป็นอันที่แสดงให้เห็นผลของความเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่เริ่มมีอย่างชัดแย้งมากขึ้นในช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่ 20 ที่ซึ่งมีการเผยแพร่การศึกษาระยะยาวจำนวนมาก เช่น ผลการศึกษาเชิงระบาดวิทยาของริชาร์ด ดอลล์ และผลการศึกษาทางพยาธิวิทยาของออสการ์ เอาเออร์บาค ในวันที่ 12 มิถุนายน 1957 ผู้อำนวยการแพทย์ (Surgeon General) เลอรอย เบอร์นี "ประกาศให้กรมบริการสาธารณสุขสหรัฐ (Public Health Service) ยอมรับอย่างเป็นทางการว่าหลักฐานที่มีชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์แบบเป็นเหตุเป็นผล (causal relationship) ระหว่างการสูบบุหรี่และมะเร็งปอด"[1] คณะกรรมการจากราชวิทยาลัยแพทย์ของสหราชอาณาจักรตีพิมพ์รายงานในวันที่ 7 มีนาคม 1962[2] ซึ่ง "กล่าวโทษว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุอย่างชัดแจ้งของมะเร็งปอดและโรคหลอดลมอักเสบ" รวมถึง "ยังเป็นไปได้ว่าจะมีส่วนก่อโรคหลอดเลือดหัวใจเช่นกัน"[3] ด้วยแรงกดดันจากสมาคมมะเร็งอเมริกัน, สมาคมหัวใจอเมริกัน, สมาคมปอดบวมแห่งชาติ และ สมาคมสาธารณสุขอเมริกัน ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี รับรองการก่อตั้งคณะกรรมการของแทรีเพื่อศึกษาประเด็นดังกล่าว คณะกรรมการพบปะกันในเดือนพฤศจิกายน 1962 ถึง มกราคม 1964 และทำการวิเคราะห์บทความกับงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์มากกว่า 7,000 ฉบับ

รายงาน[แก้]

บทสรุปของรายงานมุ่งเน้นเป็นหลักไปที่ผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่ ซึ่งพบว่า:

  • ผู้ที่สูบบุหรี่มีอัตราการเสียชีวิตเมื่อปรับตามอายุ (age-corrected mortality rate) สูงขึ้น 70%
  • การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุชั้นต้น (primary cause) ของโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
  • พบความสัมพันธ์กันระหส่างการสูบบุหรี่กับโรคถุงลมโป่งพองและโรคหัวใจ

นอกจากนี้ในรายงานยังกล่าวถึง

  • ความสัมพันธ์อย่างเป็นเหตุเป็นผลระหว่างการสูบบุหรี่กับการเพิ่มขึ้นสิบถึงยี่สิบเท่าในการเกิดมะเร็งปอด
  • มีความสัมพันธ์กันในทางเดียวกันระหว่างสตรีตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่ กับการให้กำเนิดทารกที่มีน้ำหนักตัวต่ำ[1]

ในช่วงปีหลังจากการออกรายงานฉบับนี้ ชาวอเมริก้นหลายล้านคนเลิกบุหรี่สำเร็จ ในจำนวนนี้สองในสามถึงสามในสี่เลิกบุหรี่ได้โดยไม่ต้องพึ่งการใช้นิโคตินทดแทน นอกจากนี้ยังพบว่าการเลิกบุหรี่ด้วยวิธีหักดิบ (cold turkey หรือ sudden-and-rapid-cessation) ประสบผลสำเร็จมากที่สุดในระยะยาว[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Surgeon General of the United States (1964). Smoking and Health: Report of the Advisory Committee to the Surgeon General of the United States (PDF) (Report). Vol. Public Health Service Publication No. 1103. Department of Health, Education, and Welfare. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 July 2022.
  2. Hughes, Dominic (March 6, 2012). "Smoking and health 50 years on from landmark report". BBC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 September 2022.
  3. "Luther Leonidas Terry (1961–1965)". Department of Health and Human Services. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 16, 2008.
  4. Chapman, Simon; MacKenzie, Ross (February 9, 2010). "The Global Research Neglect of Unassisted Smoking Cessation: Causes and Consequences". PLOS Medicine. 7 (2): e1000216. doi:10.1371/journal.pmed.1000216. PMC 2817714. PMID 20161722.