การลงประชาทัณฑ์ลอราและแอล. ดี. เนลสัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ลอรา เนลสัน (อังกฤษ: Laura Nelson; ราว ค.ศ. 1876 – 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1911) และ แอล. ดี. เนลสัน (อังกฤษ: L. D. Nelson; ราว ค.ศ. 1897 – 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1911) เป็นแม่ลูกชาวแอฟริกันอเมริกันซึ่งถูกลงประชาทัณฑ์จนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1911 ใกล้โอเคมาห์ (Okemah) ในเทศมณฑลอ็อกฟัสกี (Okfuskee County), โอคลาโฮมา, สหรัฐ[1][2][3]

มีผู้แจ้งความว่า แอล. ดี. ยิงจอร์จ โลนีย์ (George Loney) ผู้ช่วยนายอำเภอ (deputy sheriff) แห่งโอเคมาห์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1911 ขณะที่โลนีย์และคณะกำลังตรวจค้นไร่ของตระกูลเนลสันเพื่อตามหาวัวที่ถูกขโมยไป แอล. ดี. และลอรา มารดาของเขา จึงถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม ลอราต้องคดีไปด้วยเพราะมีผู้กล่าวหาว่า ปืนอยู่ในมือของเธอก่อน เธอและลูกถูกขังไว้ที่เรือนจำเทศมณฑลระหว่างการพิจารณาคดี โดยที่เธอน่าจะกำลังตั้งครรภ์บุตรสาวซึ่งภายหลังได้นามว่า แคร์รี (Carrie) อยู่ด้วย ส่วนออสติน เนลสัน (Austin Nelson) สามีของเธอ รับสารภาพในคดีลักทรัพย์และถูกจองจำอยู่ที่แม็กอะเลสเตอร์ (McAlester) ก่อนแล้ว[4][5]

ในคืนรอยต่อของวันที่ 24 และ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1911 กลุ่มคนผิวขาวราว 12–40 คน ซึ่งรวมถึงชาร์ลีย์ กัทรี (Charley Guthrie) บิดาของวูดดี กัทรี (Woody Guthrie) นักร้องเพลงโฟล์ก บุกเข้าชิงตัวลอราและบุตรออกมาจากเรือนจำ[6] สำนักข่าวแอสโซซิเอเตดเพรส (Associated Press) รายงานว่า ในเหตุการณ์นั้น ลอราถูกข่มขืนกระทำชำเรา[a] จากนั้น เธอและบุตรถูกจับแขวนลงจากสะพานทางรถไฟข้ามแม่น้ำแคนาดาเหนือ (North Canadian River) จนถึงแก่ความตาย[8]

เช้ารุ่งขึ้น ผู้คนมามุงดูศพของทั้งสองที่สะพาน จอร์จ เฮนรี ฟาร์นัม (George Henry Farnum) เจ้าของร้านถ่ายรูปแห่งเดียวในโอเคมาห์ ถ่ายภาพศพแบบใกล้ชิดและถ่ายภาพคนมุงดูเอาไว้ แล้วทำเป็นไปรษณียบัตรแจกจ่ายดังที่นิยมทำกันในสมัยนั้น[9] ตุลาการท้องถิ่นเรียกประชุมคณะลูกขุนใหญ่ (grand jury) เพื่อไต่สวนเหตุการณ์ แต่ก็ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำมาลงโทษได้[10] ในบรรดาภาพถ่ายสตรีผิวดำที่ถูกลงประชาทัณฑ์ ภาพศพลอราดังกล่าวเป็นภาพชุดเดียวที่เหลือรอดมาถึงปัจจุบัน[11] [b]

ภูมิหลัง[แก้]

การลงประชาทัณฑ์ในสหรัฐ[แก้]

การลงประชาทัณฑ์เป็นปรากฏการณ์สาธารณะที่ชวนตื่นกลัวและเกิดขึ้นไม่บ่อย เอมี ลูอีส วูด (Amy Louise Wood) นักประวัติศาสตร์ เขียนไว้ว่า[13]

เมื่อเทียบกับการขู่เข็ญและคุกคามรูปแบบอื่น ๆ ที่ชาวแอฟริกันอเมริกันต้องเผชิญภายใต้กฎหมายจิมโครว (Jim Crow) แล้ว การลงประชาทัณฑ์เป็นอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยและไม่ปรกติ คนผิวดำทั้งหญิงและชายมีแนวโน้มจะตกเป็นเหยื่อของการทำร้ายร่างกาย การฆ่า หรือการข่มขืนกระทำชำเรา มากกว่าการลงประชาทัณฑ์...แต่แม้จะค่อนข้างนาน ๆ ทีมีครั้ง หรืออาจเป็นเพราะนาน ๆ ทีมีครั้ง การลงประชาทัณฑ์จึงส่งผลทางจิตวิทยาเป็นการเฉพาะ จนก่อให้เกิดความหวาดหวั่นในระดับหนึ่งซึ่งมากกว่าความรุนแรงรูปแบบอื่นใดทั้งสิ้น

การลงประชาทัณฑ์อาจได้แก่การจับคนขึ้นแขวน ผู้กระทำอาจเป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ ในเวลากลางคืน หรืออาจกระทำต่อหน้ามหาชนในเวลากลางวัน อย่างหลังนี้เรียกว่า การลงประชาทัณฑ์ให้ชม (spectacle lynching) ผู้เข้าชมการลงประชาทัณฑ์อาจเป็นทุกคนในชุมชนนั้น ๆ บางทีหนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวล่วงหน้า และมีรถไฟเที่ยวพิเศษเพื่อนำคนในพื้นที่ห่างไกลมาดูการลงประชาทัณฑ์[14] ตัวอย่างเช่น ในการลงประชาทัณฑ์เจสซี วอชิงตัน (Jesse Washington) ที่เท็กซัสเมื่อ ค.ศ. 1916 มีผู้มาชมถึง 10,000 คน รวมถึงนายกเทศมนตรีและผู้บัญชาการตำรวจท้องถิ่น[15]

นอกเหนือจากการจับแขวนแล้ว ผู้เคราะห์ร้ายอาจยังถูกทรมานก่อนเผาทั้งเป็น บางทีก็แยกชิ้นส่วนศพออกขายเป็นของที่ระลึก[16][17]

ผู้กระทำเป็นได้ทั้งคนผิวขาวและคนผิวดำ แต่สารทางการเมือง กล่าวคือ การส่งเสริมความเป็นใหญ่ของคนผิวขาว และการลดอำนาจของคนผิวดำ ก็เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง นอกจากนี้ การลงประชาทัณฑ์ที่ไม่ครึกโครมก็ยังมีผู้คอยบันทึกภาพออกทำเป็นไปรษณียบัตร[18][19]

สถาบันทัสกีจี (Tuskegee) ระบุว่า ตามบันทึกในช่วง ค.ศ. 1882–1964 แล้ว มีผู้ถูกลงประชาทัณฑ์ในสหรัฐ 4,745 คน ในจำนวนนี้ 3,446 คน (คิดเป็นร้อยละ 72.7) เป็นคนผิวดำ[20][21]

ในโอคลาโฮมา[แก้]

ผู้ว่าการโอคลาโฮมากล่าวใน ค.ศ. 1892 ว่า ประชากรในดินแดนโอคลาโฮมา "ราวร้อยละ 85 เป็นคนผิวขาว, ร้อยละ 10 เป็นคนผิวสี, และร้อยละ 5 เป็นอินเดียน" ครั้น ค.ศ. 1907 ท้องที่จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นรัฐ โดยมีธรรมนูญการปกครองที่ยอมรับการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ ซึ่งเรียกกันว่า กฎหมายจิมโครว (Jim Crow laws)[22]

ใน ค.ศ. 1911 มีสถิติว่า โรงเรียนประจำรัฐมีนักเรียนผิวขาว 555 คน และผิวดำ 1 คน[23]

ช่วง ค.ศ. 1885–1930 มีบันทึกว่า เกิดการลงประชาทัณฑ์ 147 ครั้งในโอคลาโฮมา ครั้นมีการแบ่งแยกเชื้อชาติใน ค.ศ. 1907 ผู้เคราะห์ร้ายส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวซึ่งลักขโมยสัตว์หรือลักเล็กขโมยน้อย และในภาพรวมแล้ว ผู้เคราะห์ร้ายเป็นคนผิวขาว 77 คน, คนผิวดำ 50 คน, อเมริกันอินเดียน 14 คน, ไม่ทราบข้อมูล 5 คน, และคนจีน 1 คน[24]

ในเหตุการณ์ 4 ครั้งช่วง ค.ศ. 1851–1946 ผู้เคราะห์ร้ายเป็นหญิง 5 คน ผิวดำ 2 คน, ผิวขาว 2 คน, อีก 1 คนเป็นคนลักษณะอื่น[25]

บุคคลในเหตุการณ์[แก้]

ครอบครัวเนลสัน[แก้]

ครอบครัวเนลสันอาศัยอยู่ ณ ไร่แห่งหนึ่งซึ่งห่างจากแพเดิน (Paden) เมืองชาวแอฟริกันอเมริกันในโอคลาโอมาไปทางเหนือราว 6 ไมล์[26][c]

ออสติน สามีของลอรา เกิดเมื่อ ค.ศ. 1873 ณ เวโค (Waco) ในเท็กซัส ฟราสเซส โจนส์-สนีด (Frances Jones-Sneed) นักประวัติศาสตร์ เขียนไว้ว่า เดฟและโรดา เนลสัน (Dave and Rhoda Nelson) บิดามารดาของออสติน เกิดเป็นทาสอยู่ในจอร์เจีย โดยเดฟทำงานเป็นช่างหล่อในเวโค[22]

ออสตินสมรสกับลอราใน ค.ศ. 1896 และให้กำเนิดแอล. ดี. ในราวปีถัดมา[22] เมื่อถูกลงประชาทัณฑ์แล้ว แอล. ดี. มักได้รับการเรียกขานว่า แอล. ดับเบิลยู. (L. W.) หรือลอว์เรนซ์ (Lawrence)[d]

ครอบครัวเนลสันย้ายมาอยู่เทศมณฑลพอตโทวาโทมี (Pottawatomie County) ในโอคลาโฮมาเมื่อ ค.ศ. 1900 นักประวัติศาสตร์โจนส์-สนีด ระบุว่า สำมะโนประชากรประจำ ค.ศ. 1910 บันทึกว่า ลอรากับออสตินมีบุตร 2 คน คือ แอล. ดี. อายุ 13 ปี และแคร์รี อายุ 2 ปี ไม่มีใครรู้เกี่ยวกับชะตากรรมในภายหลังของแคร์รี เธออาจเป็นทารกที่มีผู้เห็นว่า รอดตายจากการลงประชาทัณฑ์ ก็ได้[30]

จอร์จ โลนีย์[แก้]

ดิโอเคมาห์เลดเจอร์ ระบุว่า จอร์จ เอช. โลนีย์ (George H. Loney) รองนายอำเภอ อายุ 35 ปีในเวลาเสียชีวิต เขาเคยอยู่ที่แพเดินมาหลายปี และเป็นที่เคารพนับถืออย่างสูงสุด เอกสารฉบับนี้ยังพรรณนาว่า เขาเป็นคนกล้า เคยช่วยจับคนค้าของเถื่อนในแพเดินมาหลายครั้ง จึงได้เป็นข้าราชการจนถึงชั้นรองนายอำเภอ เมื่อเสียชีวิตแล้ว ศพเขาฝังไว้ที่เทศมณฑลลินคอล์น (Lincoln County) ใกล้กับแพเดิน พิธีฝังมีในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1911 และหน่วยงานราชการทุกแห่งปิดทำการ 1 ชั่วโมงระหว่างพิธีศพของเขา[27]

หมายเหตุ[แก้]

  1. Associated Press, 1911: "At Okemah, Oklahoma, Laura Nelson, a colored woman accused of murdering a deputy sheriff who had discovered stolen goods at her house, was lynched together with her son, a boy about fifteen. The woman and her son were taken from the jail, dragged about six miles to the Canadian River and hanged from a bridge. The woman was raped by members of the mob before she was hanged."[7]
  2. Jones-Sneed (2011) writes that these are the only known extant photographs of a black female lynching victim.[12]
  3. According to The Okemah Ledger, the Nelsons were "a portion of the Lincoln County Nelsons that were terrors in their colony, and have lived north of Paden but a short time".[27]
  4. The Okemah Ledger called him L. W. Nelson,[27][9] แต่ไม่มีแหล่งยืนยันว่า เหตุใดจึงพากันเรียกขานเขาว่า ลอว์เรนซ์[28]

    เอกสารชั้นต้นบางฉบับยังเรียก ลอรา ว่า แมรี (Mary)[29]

    ส่วนออสติน เอกสาร ดิโอเคมาห์เลดเจอร์ (The Okemah Ledger) เรียก ออสการ์ (Oscar)[27]

อ้างอิง[แก้]

  1. Davidson 2007, p. 5–8.
  2. "Woman and boy lynched", The Independent, May 25, 1911.
  3. "Lynchers Avenge the Murder of Geo. Loney", The Okemah Ledger, May 25, 1911.
  4. The Crisis (NAACP), July 1911, 99100.
  5. Jones-Sneed 2011, pp. 64–65.
  6. Archer 2006, pp. 502–503.
  7. S. Mintz, Sara McNeil, "The Anti-Lynching Crusaders", Digital History, 2016.
  8. Bittle & Geis 1964, p. 56.
  9. 9.0 9.1 Allen 2000, pp. 179–180.
  10. Davidson 2007, p. 8.
  11. Collins 2011.
  12. Jones-Sneed 2011, p. 64.
  13. Wood 2009, p. 1.
  14. Apel & Smith 2007, p. 44.
  15. Wood 2009, p. 179; Freeman, Elizabeth (July 1916). "The Waco Horror", The Crisis (NAACP), p. 5.
  16. Apel & Smith 2007, pp. 44, 47.
  17. Moehringer 2000, p. 2.
  18. Apel & Smith 2007, p. 1.
  19. Wood 2009, p. 1–3.
  20. "Lynching, Whites and Negroes, 1882–1968" เก็บถาวร 2016-03-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Tuskegee University.
  21. Zangrando, Robert L. (1980). The NAACP Crusade Against Lynching, 1909–1950. Philadelphia: Temple University Press, p. 5.
  22. 22.0 22.1 22.2 Jones-Sneed 2011, p. 63.
  23. Menig, Harry (1998). "Woody Guthrie: The Oklahoma Years, 1912–1929", in David D. Joyce (ed.), "An Oklahoma I Had Never Seen Before". Norman: University of Oklahoma Press, 176.
  24. Dianna Everett, "Lynching", Encyclopedia of Oklahoma History and Culture, Oklahoma City: Oklahoma Historical Society.
  25. Segrave 2010, 20.
  26. "A Deputy Sheriff Killed", The Independent (Okemah), May 4, 1911.
  27. 27.0 27.1 27.2 27.3 "Deputy Sheriff Loney Murdered", The Okemah Ledger, May 4, 1911.
  28. For example, Joe Klein, Woody Guthrie: A Life, New York: Bantam Dell, 1999, 10 [1980, 13].
  29. For example, "Woman Lynched by Side of Son", The Daily Oklahoman, May 26, 1911.
  30. Jones-Sneed 2011, pp. 63, 65. Jones-Sneed writes that some sources say Carrie was found floating in the river.