การระเหยด้วยแสง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การระเหยด้วยแสง ที่เกิดกับแผ่นจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด เนื่องจากการแผ่รังสีจากดาวฤกษ์ประเภท O ที่อยู่ใกล้เคียง

การระเหยด้วยแสง (อังกฤษ: Photoevaporation) คือกระบวนการที่ชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ (หรือบางส่วนของชั้นบรรยากาศ) ถูกฉีกออกเนื่องจากโฟตอนพลังงานสูงและการแผ่รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอื่นๆ เมื่อโฟตอนมีปฏิกิริยากับโมเลกุลของบรรยากาศ โมเลกุลเหล่านั้นจะถูกเร่งและทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้น เมื่อระดับพลังงานสูงมากพอ โมเลกุลหรืออะตอมจะไปถึงระดับความเร็วหลุดพ้นจากดาวเคราะห์ และ "ระเหย" ไปในอวกาศ ยิ่งมวลของแก๊สมีน้อยเท่าใด ความเร็วที่จะเกิดจากปฏิกิริยากับโฟตอนก็ยิ่งสูงขึ้น ดังนั้น ไฮโดรเจน จึงมีแนวโน้มจะเกิดการระเหยด้วยแสงมากที่สุด

การระเหยด้วยแสง กับแผ่นจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด[แก้]

จานดาวเคราะห์ก่อนเกิดอาจจะแตกกระจัดกระจายไปได้ด้วยลมดาวฤกษ์ และมีความร้อนมากขึ้นเนื่องจากผลการแผ่รังสีของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การแผ่รังสีทำปฏิกิริยากับสสารและเร่งให้มันหลุดออกมาภายนอก ผลกระทบนี้จะสังเกตเห็นได้ก็เมื่อกำลังการแผ่รังสีมีความเข้มมากพอ เช่นเป็นการแผ่รังสีจากดาวฤกษ์ประเภท O และ B หรือเมื่อโปรโตสตาร์เริ่มจุดระเบิดนิวเคลียร์ฟิวชั่น