การทำเครื่องหมายกางเขน
การทำเครื่องหมายกางเขน[1] หรือที่ชาวคาทอลิกเรียกว่า การทำสำคัญมหากางเขน[2] (อังกฤษ: Sign of the Cross; ละติน: Signum Crucis) เป็นรูปแบบการปฏิบัติอย่างหนึ่งของผู้นับถือศาสนาคริสต์ โดยมักมีการกล่าว "เดชะพระนาม พระบิดา และพระบุตร และพระจิต อาแมน" ประกอบด้วย การทำเช่นนี้เป็นการระลึกถึงการตรึงกางเขนของพระเยซู แบบดั้งเดิมทำจากขวาไปซ้าย ซึ่งใช้โดยสมาชิกคริสตจักรอีสเติร์นออร์โธด็อกซ์และคริสตจักรคาทอลิกตะวันออก[3] ส่วนแบบใหม่ทำจากซ้ายไปขวาใช้โดยคริสตจักรคาทอลิก[4] แองกลิคัน[5] ลูเทอแรน[6] และโอเรียนทัลออร์โธด็อกซ์ ธรรมเนียมปฏิบัตินี้สันนิษฐานว่าเริ่มมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 แล้ว[2]
ความสำคัญ
[แก้]เพราะว่าเวลาทำเครื่องหมายกางเขนจะต้องกล่าวเดชะพระนามฯ ด้วย การทำเช่นนี้จึงเป็นการแสดงความเชื่อถึงพระตรีเอกภาพว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน[7]
นอกจากนี้ยังมีความหมายอื่น ๆ หลายประการด้วยกัน คือ เป็นการแสดงว่าตัวผู้ทำนั้นถวายตัวแก่พระเยซู เป็นการวิงวอนขอพระหรรษทานจากพระเจ้า และใช้เป็นการอวยพรบุคคลก็ได้ นอกจากนี้เวลาชาวคริสต์รู้สึกว่าตนกำลังเผชิญหน้ากับ "การผจญของมาร" การทำเครื่องหมายกางเขนเป็นการเตือนสติแก่ตนและยืนยันถึงพระอานุภาพของพระเจ้าในการต่อสู้กับสิ่งชั่ว[2]
ชาวคริสต์ทำเครื่องหมายนี้เมื่อร่วมสวดมนต์ ส่วนบาทหลวงเวลาประกอบพิธีมิสซาหรือพิธีอื่น ๆ ก็ทำเครื่องหมายนี้เช่นเดียวกัน
การทำเครื่องหมายกางเขนของนิกายออร์ทอดอกซ์
[แก้]การทำเครื่องหมายกางเขนของชาวคริสเตียนออร์ทอดอกซ์เป็นการระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า และพระตรีเอกภาพ โดยจะนำนิ้วมือของมือขวามาประจบกัน แล้วจะแนบนิ้วนาง และนิ้วก้อยให้ชิดกับฝ่ามือ
โดยจะทำจากขวาไปซ้าย เริ่มจากหน้าผาก, ท้อง และไหล่ข้างขวา และซ้าย ตามลำดับ พร้อมกล่าวว่า "ในพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิตเจ้าผู้ทรงศักดิ์สิทธิ์ อาเมน" [8]
ความหมายของการทำเครื่องหมายกางเขนของนิกายออร์ทอดอกซ์
[แก้]สามนิ้วแรก (นิ้วโป้ง, นิ้วชี้ และนิ้วกลาง) จะแสดงถึงความเชื่อต่อพระบิดา พระบุตร และพระจิตเจ้า และยังหมายถึงการเป็นหนึ่งเดียวของพระตรีเอกภาพอีกด้วย และสองนิ้วที่เหลือจะแสดงถึงธรรมชาติของพระเยซูคือพระเยซูเจ้าทรงมีความเป็นมนุษย์แท้ และพระเจ้าแท้
ในการทำสัญลักษณ์ไม้กางเขน จะใช้มือของแตะที่หน้าผาก, ท้อง (หรือบริเวณสะดือ), และไหล่ขวาซ้าย โดยความหมายของการแตะหน้าผาก คือการให้ศีลพรแห่งความศักดิ์สิทธิ์แก่จิตใจ ท้อง คือการให้ศีลพรแห่งความศักดิ์สิทธิ์แก่ประสาทสัมผัสภายใน หัวใหล่ด้านขวาซ้าย คือการให้ศีลพรแห่งความศักดิ์สิทธิ์แก่ความแข็งแรงของร่างกาย [9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 93
- ↑ 2.0 2.1 2.2 เครื่องหมายกางเขน[ลิงก์เสีย] คณะภคินีพระหฤทัยพระเยซูเจ้าแห่งกรุงเทพฯ
- ↑ Why do Orthodox Christians "cross themselves" different than Roman Catholics? orthodox.net (อังกฤษ)
- ↑ Herbermann, Charles, บ.ก. (1913). "Sign of the Cross". สารานุกรมคาทอลิก. New York: Robert Appleton Company.
- ↑ Using the Sign of the Cross เก็บถาวร 2011-07-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Saint James Episcopal Church (อังกฤษ)
- ↑ Why do Lutherans make the sign of the cross? Evangelical Lutheran Church in America] (อังกฤษ)
- ↑ พระบิดา พระบุตร และพระจิต เป็นพระเป็นเจ้าองค์เดียว[ลิงก์เสีย] kamsondeedee.com
- ↑ หนังสือพระบัญญัติแห่งพระเจ้า, หน้า 55
- ↑ หนังสือพระบัญญีติแห่งพระเจ้า, หน้า 55
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Herbermann, Charles, บ.ก. (1913). "Sign of the Cross". สารานุกรมคาทอลิก. New York: Robert Appleton Company.