การตีโฉบฉวยวัดซ้าเหล่ย
การบุกรุกโจมตีวัดซ้าเหล่ย | |
---|---|
เป็นส่วนหนึ่งของ วิกฤตการณ์ชาวพุทธในสงครามเวียดนาม | |
วัดซ้าเหล่ย จุดศูนย์กลางของการโจมตีในครั้งนี้ | |
สถานที่ | วัดพุทธหลายแห่งทั่วประเทศเวียดนามใต้ โดยเฉพาะที่วัดซ้าเหล่ยในไซ่ง่อน |
วันที่ | 21 สิงหาคม 1963 |
เป้าหมาย | ผู้ประท้วงชาวพุทธ |
ประเภท | กราดยิง, ทุบตี, ทำลายถาวรวัตถุ |
ตาย | มีการคาดการณ์ว่ามากถึงหลักร้อยคน |
เจ็บ | หลักร้อยคน |
ผู้ก่อเหตุ | กองกำลังพิเศษกองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม นำโดยโง ดิ่ญ ญู |
การตีโฉบฉวยวัดซ้าเหล่ย (อังกฤษ: Xá Lợi Pagoda raids) เป็นชุดปฏิบัติการณ์โจมตีวัดพุทธจำนวนมากในเมืองหลักของเวียดนามใต้หลังเที่ยงคืนของวันที่ 21 สิงหาคม 1963 โดยกองกำลังพิเศษกองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม ภายใต้การนำของ เล กวาง ตุง ร่วมกับตำรวจ ทั้งหมดภายใต้คำสังโดยตรงจากโง ดิ่ญ ญู น้องชายของประธานาธิบดีเวียดนามใต้ โง ดิญ เสี่ยม วัดซ้าเหล่ย (Xá Lợi Pagoda) ซึ่งเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ เป็นหนึ่งในวัดที่สำคัญที่สุดที่ถูกโจมตีในครั้งนี้ มีชาวพุทธมากกว่า 1,400 คนถูกจับกุม และมีการคาดการณ์ยอดผู้เสียชีวิตและสูญหายหลักร้อยคน ประชากรชาวพุทธซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ของเวียดนามใต้ทำการประท้วงและดื้อแพ่งต่อรัฐบาลของเสี่ยมซึ่งบังคับใช้นโยบายที่มีความโน้มเอียงต่อต้านศาสนาพุทธ, ก่อการการกราดยิงในวันวิสาขบูชาที่เมืองเว้ และนโยบายบังคับห้ามแขวนธงฉัพพรรณรังสี การประท้วงของชาวพุทธมีอยู่ตามวัดสำคัญต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่วัดซ้าเหล่ยแห่งนี้
ในเดือนสิงหาคม เจ้าหน้าที่ของกองทัพบกสาธารณรัฐเวียดนาม (ARVN) เสนอการบังคับใช้กฏอัยการศึกเพื่อสลายการชุมนุมและเพื่อเป็นการเตรียมการก่อการรัฐประหาร ญู ซึ่งในตอนนั้นพร้อมที่จะทำการจับกุมและบดขยี้ผู้ประท้วง ใช้โอกาสนี้ในการฉวยโอกาสและสร้างความอับอายแก่บรรดานายพล เขามอบหมายให้กองทัพพิเศษของตุง สวมเครื่องแบบกองทัพบกและเข้าโจมตีชาวพุทธ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปและพันธมิตรสหรัฐกล่าวโทษว่าการโจมตีนี้มาจากกองทัพบก ซึ่งจะช่วยลดทอนอำนาจและโอกาสในอนาคตของบรรดานายพลในกองทัพบกที่วางแผนรัฐประหารอยู่
ไม่นานหลังเที่ยงคืนของวันที่ 21 สิงหาคม กองกำลังพิเศษของญูบุกเข้าโจมตีวัดพุทธในเมืองใหญ่ทั่วประเทศโดยใช้ปืนกลอัตโนมัติ ระเบิดมือ ไม้ตะบอง และวัตถุระเบิดอื่น ๆ ทำให้เกิดความเสียหายไปทั่ว ถาวรวัตถุบางส่วนถูกทำลาย เช่น พระพุทธรูปในวัดทู่ดัมในเมืองเว้ วัตถุมีค่าของบางวัดถูกปล้นไป รวมถึงพระสรีรังคารและพระธาตุของพระสงฆ์ที่ได้รับความเคารพนับถือสูง ในเมืองเว้ เกิดการปะทะไปถึงบนท้องถนนระหว่างพลเมืองกับกองกำลังของรัฐบาล
พี่น้องตระกูลโงกล่าวโทษว่ากองทัพบกเป็นผู้ก่อการโจมตี ซึ่งในตอนแรกสหรัฐเชื่อเช่นนั้น ก่อนที่ต่อมาความจริงจะถูกเปิดเผย และทำให้สหรัฐหันหลังให้แก่รัฐบาลของเสี่ยมและวางแผนหาผู้นำรัฐบาลคนใหม่มาแทน ทั้งหมดนำไปสู่การรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน การโจมตีครั้งนี้ยังสร้างความโกรธเคืองไปทั่วในหมู่ประชาชน ซึ่งหลังจาเหตุการณ์ทำให้ข้าราชการระดับสูงหลายคนต้องลาออกจากตำแหน่ง และบรรดานักเรียนนักศึกษาบางส่วนยังประท้วงหยุดเรียนและจัดการชุมนุม ซึ่งนำไปสู่การจับกุมผู้ผระท้วงครั้งใหญ่เพิ่มเติมอีก เนื่องจากนักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ซึ่งออกมาประท้วงและถูกจับกุมนั้นมาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่รับข้าราชการหรือเป็นสมาชิกในกองทัพ การจับกุมนี้ยิ่งมีผลร้ายต่อฐานเสียงเดิมของตระกูลโงมากยิ่งขึ้นไปอีก
อ้างอิง
[แก้]- Buttinger, Joseph (1967). Vietnam: A Dragon Embattled. New York City, New York: Praeger.
- Dommen, Arthur J. (2001). The Indochinese Experience of the French and the Americans: Nationalism and Communism in Cambodia, Laos, and Vietnam. Bloomington, Indiana: Indiana University Press. ISBN 0-253-33854-9.
- Fall, Bernard B. (1963). The Two Viet-Nams. London: Praeger.
- Gettleman, Marvin E. (1966). Vietnam: History, documents and opinions on a major world crisis. Harmondsworth, Middlesex: Penguin Books.
- Halberstam, David; Singal, Daniel J. (2008). The Making of a Quagmire: America and Vietnam during the Kennedy Era. Lanham, Maryland: Rowman & Littlefield. ISBN 978-0-7425-6007-9.
- Hammer, Ellen J. (1987). A Death in November: America in Vietnam, 1963. New York City: E.P. Dutton. ISBN 0-525-24210-4.
- Jacobs, Seth (2006). Cold War Mandarin: Ngo Dinh Diem and the Origins of America's War in Vietnam, 1950–1963. Lanham, Maryland: Rowman & Littlefield. ISBN 0-7425-4447-8.
- Jones, Howard (2003). Death of a Generation: how the assassinations of Diem and JFK prolonged the Vietnam War. New York City: Oxford University Press. ISBN 0-19-505286-2.
- Karnow, Stanley (1997). Vietnam: A history. New York City: Penguin Books. ISBN 0-670-84218-4.
- Langguth, A. J. (2000). Our Vietnam: the war, 1954–1975. New York City: Simon & Schuster. ISBN 0-684-81202-9.
- Maclear, Michael (1981). Vietnam: The Ten Thousand Day War. New York City: Methuen Publishing. ISBN 0-423-00580-4.
- Moyar, Mark (2006). Triumph Forsaken: The Vietnam War, 1954–1965. New York City: Cambridge University Press. ISBN 0-521-86911-0.
- Prochnau, William (1995). Once Upon a Distant War. New York City: Times Books. ISBN 0-8129-2633-1.
- Ray, Nick; Yanagihara, Wendy (2005). Vietnam. Footscray, Victoria: Lonely Planet. ISBN 1-74059-677-3.
- Sheehan, Neil (1988). A Bright Shining Lie: John Paul Vann and America in Vietnam. New York City: Random House. ISBN 0-679-72414-1.
- Tucker, Spencer C. (2000). Encyclopedia of the Vietnam War. Santa Barbara, California: ABC-CLIO. ISBN 1-57607-040-9.
- Warner, Denis (1964). The Last Confucian: Vietnam, South-East Asia, and the West. Sydney: Angus and Robertson.