ข้ามไปเนื้อหา

ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ท้าวเวปจิตติ"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
หน้าใหม่: ตามความเชื่อในศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู '''ท้าวเวปจิตติ'''<ref>[http...
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:17, 26 มิถุนายน 2557

ตามความเชื่อในศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู ท้าวเวปจิตติ[1] (บาลี: Vepacitti) หรือท้าววิประจิตติ (สันสกฤต: विप्रचित्ति) เป็นราชาของพวกอสูร จึงมีสมัญญาว่าอสุรราช[2]

ศาสนาพุทธ

ศาสนาพุทธเชื่อว่าท้าวเวปจิตติเป็นจอมอสูร อาศัยในเมืองสุทัศน์ บนยอดเขาพระสุเมรุ ต่อมาถูกมฆมานพซึ่งมาเกิดเป็นท้าวสักกะและบริวารมอมเหล้าจนไม่ได้สติ จึงถูกจับโยนลงมาอยู่ใต้เขาพระสุเมรุ ด้วยอำนาจบุญเก่าจึงเกิดเป็นเมืองใหม่ลักษณะเหมือนเมืองสุทัศน์ อยู่ใต้เขานั้นเป็นที่อาศัยของเหล่าอสูร พวกอสูรเข้าใจว่าตนยังอยู่บนเขาพระสุเมรุ จนเมื่อเห็นต้นแคฟอยในเมืองผลิดอก อสูรจึงระลึกได้ว่าตนเองอยู่ใต้เขา เพราะในเมืองสุทัศน์มีต้นปาริชาต[3] ท้าวเวปจิตติก็จะแต่งกองทัพอสูรยกไปหมายจะชิงเอาเมืองสุทัศน์คืน จึงเรียกว่า "เทวาสุรสงคราม" (สงครามระหว่างเทพกับอสูร) ทั้งสองฝ่ายผลัดกันแพ้ชนะเรื่อยมา ฝ่ายใดแพ้ก็จะหนีกลับเข้าเมือง ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถตีเข้าเมืองได้ ตกยกทัพกลับไป ทั้งสองเมืองจึงได้ชื่อว่าอยุชฌปรุะ (เมืองที่ไม่มีใครรบชนะได้)

ท้าวเวปจิตติมีธิดาอยู่องค์หนึ่งคือพระแม่สุชาดา ต่อมากลายเป็นชายาเอกของท้าวสักกะ

ศาสนาฮินดู

ตำนานในศาสนาฮินดูระบุว่า ท้าวิประจิตติเป็นบุตรที่ทรงฤทธิ์ที่สุดของพระกัศยปะกับนางทนุ[4] จึงถือเป็นพวกทานพ ท้าววิประจิตติได้เป็นพระราชาปกครองพวกทานพแทนท้าวปุโลมัน พระเชษฐาที่ถูกพระอินทร์สังหารไป คัมภีร์ปัทมปุราณะระบุว่าท้าววิประจิตติมีบุตรคือพระราหู

อ้างอิง

  1. เวปจิตติสูตร, พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
  2. เปลื้อง ณ นคร, อสุรราช, พจนานุกรม
  3. พระสัทธัมมโชติกะ, ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา ปริจเฉทที่ 5 เล่ม 1 วีถิมุตตสังคหะ ภูมิจตุกกะและปฏิสนธิจตุกกะ, พิมพ์ครั้งที่ 6, กรุงเทพฯ : มูลนิธิสัทธัมมโชติกะ, 2546, หน้า 78
  4. The Origin of Deities Demons and Serpents