นางนพมาศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สตรีแต่งกายเป็นนางนพมาศ ในงานประเพณียี่เป็ง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2548

นางนพมาศ หรือ เรวดีนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์[1] เป็นสตรีที่ปรากฏอยู่ใน เรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่อ้างอิงว่าถูกรจนาขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีเนื้อความว่านางนพมาศบอกเล่าถึงความเป็นไปภายในรัฐสุโขทัยว่ามีความเจริญรุ่งเรืองสมบูรณ์พูนสุขนานัปการ ในรัฐมีคนต่างชาติต่างภาษาและศาสนาอาศัยอยู่ร่วมกัน และเรื่องที่เด่นที่สุดคือการที่นางประดิษฐ์กระทงขึ้นมา จนนางนพมาศได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเพณีลอยกระทง[2] กล่าวกันว่านางนพมาศมีรูปโฉมงดงาม ในยุคหลังเมื่อคราเทศกาลลอยกระทงก็มีการประกวดประขันนางนพมาศสืบมา[3]

อย่างไรก็ตามได้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการมีตัวตนจริงของนางนพมาศ มีนักประวัติศาสตร์หลายท่าน เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, นิธิ เอียวศรีวงศ์ และสุจิตต์ วงษ์เทศ เห็นว่าเรื่องนางนพมาศนั้นเป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้นช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้นเอง[2][4][5]

ประวัติ[แก้]

ใน เรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ระบุว่า นางนพมาศเป็นธิดาของพราหมณ์ในราชสำนักสมัยกรุงสุโขทัย รับราชการเป็นพระปุโรหิตตำแหน่งพระศรีมโหสถ ยศกมเลศครรไลหงส์ พงศ์มหาพฤฒาจารย์ กับมารดาชื่อนางเรวดี นางนพมาศจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า เรวดีนพมาศตามนามมารดา ต่อมาบิดามารดาของนางได้ถวายตัวนางแก่พระร่วงเจ้า (บางแห่งว่าคือพญารามราช[1] บ้างว่าเป็น พญาเลอไท) และเลื่อนเป็นพระสนมเอกในตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์[1] เนื่องด้วยคิดค้นประดิษฐ์กระทงรูปดอกบัวในพระราชพิธีจองเปรียงเป็นที่ถูกพระราชหทัยพระร่วงเจ้า[6]

ข้อสงสัยกับการมีตัวตนจริงของนางนพมาศ[แก้]

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แรกเริ่มได้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการมีตัวตนของนางนพมาศ ปรากฏครั้งแรกในพระดำรัสของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า หนังสือเรื่องนางนพมาศ ซึ่งฉันเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์[4][7] และ ว่าโดยทางโวหาร ใครๆ อ่านหนังสือเรื่องนี้ด้วยความสังเกตจะแลเห็นได้โดยง่าย ว่าเปนหนังสือแต่งในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง แต่งในระหว่างรัชกาลที่ ๒ กับที่ ๓ ไม่ก่อนนั้นขึ้นไป ไม่ทีหลังนั้นลงมาเปนแน่ ถ้าจะหาพยาน จงเอาสำนวนหนังสือเรื่องนี้ไปเทียบกับสำนวนหนังสือจาฤกครั้งศุโขไทยหรือหนังสือที่เชื่อว่าแต่งครั้งศุโขไทย เช่นหนังสือไตรภูมิพระร่วงเปนต้น หรือแม้ที่สุดจะเอาไปเทียบกับหนังสือที่แต่งเพียงในชั้นกรุงเก่า ก็จะเห็นได้แน่นอนว่า สำนวนหนังสือเรื่องนางนพมาศเปนหนังสือแต่งใหม่เปนแน่[8] ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่า ในหนังสือเรื่องนี้ ยังมีการระบุข้อเท็จจริงที่ผิดไปจากยุคสมัยที่อ้างถึงอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างดังตรงว่าด้วยชนชาติต่างๆ หนังสือนี้ออกชื่อฝรั่งหลายชาติ ซึ่งที่จริงไม่ว่าชาติใดยังไม่มีเข้ามาในประเทศนี้เมื่อครั้งนครศุโขไทยเปนราชธานีเปนแน่ อิกข้อ ๑ ที่ว่าครั้งศุโขทัยมีปืนใหญ่ขนาดหนักนับด้วยหลายหาบ ปืนใหญ่ในครั้งนั้นก็ยังไม่เกิดขึ้นในโลก แต่ที่น่าพิศวงยิ่งกว่าอย่างอื่นนั้นมีแห่ง๑ ที่ลงชื่อว่าชาติฝรั่งอเมริกันลงไว้ในนั้นด้วย ชาติอเมริกันพึ่งเกิดขึ้นยังไม่ถึง ๒๐๐ ปี จะมีในครั้งพระร่วงอย่างไรได้[8]

ขณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงนับถือหนังสือเรื่องนี้อยู่ ทรงคาดว่าหนังสือเรื่องนางนพมาศของดั้งเดิมน่าจะถูกแต่งขึ้นโดยท้าวศรีจุฬาลักษณ์พระสนมเอกในสมเด็จพระร่วงเจ้าจริง หากแต่ฉบับเดิมอาจจะเก่าและขาดหายไปบ้าง จึงมีผู้ที่อยู่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แต่งขึ้นใหม่โดยตั้งใจจะปฏิสังขรณ์ให้เรียบร้อย แต่ผู้แต่งมิได้ถือเอาความจริงเท็จในพงศาวดารเป็นสำคัญ แต่ต้องการจะแต่งให้ไพเราะเพราะพริ้งเรียบเรียงลงไปตามความรู้ที่มีอยู่ในเวลานั้น เรื่องราวในหนังสือจึงวิปลาสไป[1]

ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ระบุไว้ว่า "ความน่าสนใจของหนังสือเรื่องนี้อยู่ที่ว่าเป็นงานวรรณกรรมที่เขียนในสมัยช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ความพยายามที่ไปจัดนางนพมาศเป็นวรรณกรรมสุโขทัยนั้นได้ปิดบังมิให้ได้เห็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นอันแฝงเร้นอยู่ในวรรณกรรมชิ้นนี้มาเป็นเวลานาน[1]

สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่มองว่านางนพมาศไม่มีตัวตนจริง ได้กล่าวว่า "ถ้าหากนางนพมาศที่มีตัวตนอยู่จริงก็คงจะมีเพียงบรรดา "เทพีนางนพมาศ" ที่ชนะการประกวดความงามประจำปีตามเวทีประกวดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยมานานหลายสิบปี ซึ่งก็คงจะมีเยอะเกินจนยากที่จะจดจำได้ไหว"[1]

เด็กหญิงที่เข้าประกวดหนูน้อยยี่เป็ง (นางนพมาศรุ่นเด็ก) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2548

ทั้งนี้ประเพณีหลวงทางน้ำพบไม่พบในรัฐที่อยู่เหนือจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นไป ส่วนตระพังน้ำในสุโขทัยก็มีไว้ใช้อุปโภคบริโภคในวัดและวัง หาได้ทำกิจสาธารณะอย่างการลอยกระทงอย่างใด ส่วนในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ที่กล่าวถึงการ "เผาเทียน เล่นไฟ" มีความหมายรวม ๆ เพียงว่าการทำบุญไหว้พระเท่านั้น และไม่ปรากฏการลอยกระทงเลย[9] เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องดังกล่าวขึ้นเพื่อฟื้นฟูพิธีกรรมสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของอาณาจักร และด้วยความจำเป็นบางประการจึงทรงสมมุติฉากยุคพระร่วงเจ้ากับตัวละครสมมติคือนางนพมาศด้วยให้กระทงทำจากใบตอง นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้คาดการณ์ว่าเรื่องนางนพมาศนี้ถูกเขียนขึ้น "ต้องแต่งอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2360-2378 เป็นช้าที่สุด หนังสือนางนพมาศจึงเป็นวรรณกรรมของต้นรัตนโกสินทร์ชิ้นหนึ่ง มีลักษณะร่วมกับวรรณกรรมของยุคเดียวกันหลายประการ"[10] และแพร่หลายจากวังหลวงไปสู่เมืองต่าง ๆ แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา[9] โดยอ้างอิงเรื่องนางนพมาศเป็นสำคัญ[4] ประวัติและเรื่องราวของนางนพมาศจึงแพร่หลายโดยทั่วไป

แม้จะมีการเปิดเผยว่าเรื่องนางนพมาศและประเพณีลอยกระทงมิได้เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยก็ตาม กระนั้นทางราชการไทยยังคงหยิบยกเรื่องนางนพมาศขึ้นมาโฆษณาวัฒนธรรมไทยเพื่อขายการท่องเที่ยวอยู่[11]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "ปริศนา "นางนพมาศ" กับ "ประเพณีลอยกระทง" มีจริงหรือ แท้จริงแล้วเกิดขึ้นในสมัยใดกันแน่?". มติชน. 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  2. 2.0 2.1 "นางนพมาศ ตัวตนจริงหรือตัวละคร". สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  3. "รื่นใจ เลาะรั้วมหา'ลัย ชมโฉม "นางนพมาศ"". ASTVผู้จัดการออนไลน์. 24 พฤศจิกายน 2553. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 ทองเนื้อเก้า ประกายแสง (31 ตุลาคม 2556). "ลอยกระทง มรดกทางวัฒนธรรม ที่ถูกทำให้เกิดความเสื่อมเสีย?". สุวรรณภูมิ. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. สุจิตต์ วงษ์เทศ. (29 ตุลาคม 2552). "ลอยกระทง-นางนพมาศ มีครั้งแรกในรัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ ไม่เคยมีครั้งกรุงสุโขทัย". มติชนรายวัน, หน้า 20
  6. "นางนพมาศ หญิงคนสำคัญในวันลอยกระทง". Travel.in.th. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  7. สุจิตต์ วงษ์เทศ (29 มิถุนายน 2555). "วรรณกรรมรัฐสุโขทัย แต่งสมัยรัตนโกสินทร์ เพื่อการเมืองภายในและภายนอก". สุวรรณภูมิ. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. 8.0 8.1 "กรมพระยาดำรงฯ ทรงวินิจฉัย "นางนพมาศ" เป็นเรื่องแต่งใหม่สมัยรัตนโกสินทร์". silpa-mag. 11 พฤศจิกายน 2562. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. 9.0 9.1 "ลอยกระทง ขอขมาธรรมชาติ". สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-31. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. นิธิ เอียวศรีวงศ์. "โลกของนางนพมาศ". ไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทง สมัยสุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:มติชน. 2545, หน้า 114-115
  11. สุจิตต์ วงษ์เทศ (9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554). "นางนพมาศ และนางอื่น ๆ ล้วนทำหน้าที่เพื่อความเป็นไทย". มติชน. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)