พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์

พระองค์เจ้าชายเนาวรัตน์
ไฟล์:กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์.jpg
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ชั้น 4
ประสูติ3 มีนาคม พ.ศ. 2388
สิ้นพระชนม์14 ธันวาคม พ.ศ. 2433
หม่อม
  • หม่อมหุ่น หม่อมละมัย หม่อมวัน หม่อมนุ่ม หม่อมเยี่ยม หม่อมเปลี่ยน
พระนามเต็ม
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ (อัชนาม)
ราชวงศ์ราชวงศ์จักรี
พระราชบิดาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าคุณจอมมารดาเอม

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ (3 มีนาคม พ.ศ. 2388 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2433) มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าชายเนาวรัตน์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 20 ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นต้นราชสกุลนวรัตน

พระองค์เจ้าเนาวรัตน์ ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือน 7 ขึ้น 4 ค่ำ ปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช 1207 ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2388 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 4 ในเจ้าคุณจอมมารดาเอมหรือเจ้าคุณพระชนนี ทรงมีเจ้าพี่และเจ้าน้องร่วมพระชนนีเดียวกันดังนี้

  1. พระองค์เจ้าหญิง สิ้นพระชนม์ก่อนปรากฏพระนาม
  2. พระองค์เจ้าชายยอดยิ่งยศบวราโชรสรัตนราชกุมาร ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าในรัชกาลที่ 5
  3. พระองค์เจ้าชายปรีดา สิ้นพระชนม์โดยไม่มีสายสืบราชสกุล
  4. พระองค์ท่าน
  5. พระองค์เจ้าหญิงวงจันทร์

ทรงเป็นผู้บัญชาการพระราชพิธีของวังหน้า ทรงเชี่ยวชาญด้านการดนตรีไทยและบทขับร้อง ในขณะที่ทรงเป็นปฏิคมของหอพระสมุดวชิรญาณ ได้นิพนธ์เรื่องเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านลงพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณโดยพิสดาร งานพิพนธ์ "เรื่องขับร้อง" ของพระองค์ถือได้ว่าเป็นบทความทางคีตศิลป์ไทยเล่มแรกของสยาม นอกจากนั้นทรงนิพนธ์บทความเกี่ยวกับพระราชพิธี และงานประเพณีชาวบ้านอื่น ๆ ไว้ด้วย อีกทั้งยังทรงเป็นจิตรกร สามารถวาดภาพสีน้ำมันได้ดี ภาพฝีพระหัตถ์เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สยามครั้งกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์หลายภาพปัจจุบันได้รับการติดตั้งไว้ในหอศิลปแห่งชาติ ถนนจ้าฟ้า ทรงรับราชการจนถึงรัชกาลที่ 5 ได้รับการสถาปนาเป็น กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเส็ง ตรงกับ พ.ศ. 2424

กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการสงบ ณ วังริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในรัชกาลที่ 5 เมื่อ เดือนอ้าย ขึ้น 3 ค่ำ ปีขาล รัตนโกสินทร์ศก 109 ตรงกับวันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2433 พระชันษา 46 ปี

พระโอรสพระธิดา

  • หม่อมเจ้าชายประไพพิศ (ประสูติ พ.ศ. 2420 สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2432)
  • หม่อมเจ้าชายสถิตย์สถาพร (สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2443)
  • หม่อมเจ้าชายอาภรณ์ธราไภย (ประสูติแด่หม่อมหุ่น ประสูติ พ.ศ. 2421)
  • หม่อมเจ้าหญิงแจ่มใสฉวี (ประสูติแด่หม่อมหุ่น)
  • หม่อมเจ้าหญิงขนิษฐนารี (ประสูติแด่หม่อมละมัย)
  • หม่อมเจ้าชายปราณีเนาวบุตร (ประสูติแด่หม่อมละมัย ประสูติ พ.ศ. 2415) รับราชการเป็นเจ้าเมืองประจวบคีรีขันธ์
  • หม่อมเจ้าชายพิสุทธิ์เขียวขจี (ประสูติแด่หม่อมละมัย สิ้นพระชนม์เมื่อยังทรงพระเยาว์)
  • หม่อมเจ้าชายศรีศุขนพมาศ (ประสูติแด่หม่อมวัน ประสูติ พ.ศ. 2419) ภายหลังทรงเปลี่ยนพระนามเป็น หม่อมเจ้านพมาศ รับราชการเป็นเจ้าเมืองจันทบุรี
  • หม่อมเจ้าชายธำรงวรวัฒน์ (ประสูติแด่หม่อมนุ่ม ประสูติ พ.ศ. 2424 สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2489) รับราชการเป็นนายทหารมหาดเล็ก
  • หม่อมเจ้าชายบุตรารัตนานพ (ประสูติแด่หม่อมเยี่ยม ประสูติ พ.ศ. 2424)
  • หม่อมเจ้าชายประสบภูลเกษม (ประสูติแด่หม่อมเปลี่ยน ประสูติ พ.ศ. 2427)
  • หม่อมเจ้าหญิงกมลเปรมปรีดิ์ (ประสูติแด่หม่อมนุ่ม ประสูติ พ.ศ. 2427)
  • หม่อมเจ้าชายขจรปรีดี (ประสูติ พ.ศ. 2430)

อ้างอิง

  • ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2544. 490 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-222-648-2
  • ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
  • บันทึกของ ม.ร.ว.พิไลเลขา (นวรัตน) สุนทรพิพิธ
  • หนังสือเจ้านายชาวสยาม ของ เอนก นาวิกมูล ตอน กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ ผู้รู้ จากวังหน้า