โครงการค้นหาดาวเคราะห์มุมกว้าง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก SuperWASP)
กล้องโทรทรรศน์ SuperWASP ฝั่งแอฟริกาใต้

โครงการค้นหาดาวเคราะห์มุมกว้าง (Wide Angle Search for Planets) หรือ SuperWASP เป็นโครงการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบด้วยการวิธีการตรวจจับการเคลื่อนผ่านหน้า โดยทำการสังเกตการณ์ดาวฤกษ์ที่ริบหรี่จนถึงโชติมาตรปรากฏ 13 ไปทั่วท้องฟ้า

SuperWASP ประกอบไปด้วยกล้องโทรทรรศน์ 2 ตัวในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ในซีกโลกเหนืออยู่ที่หอดูดาวโรเกเดโลสมูชาโชส ใน เกาะลาปัลมา แคว้นกานาเรียส ของสเปน และในซีกโลกอยู่ที่หอดูดาวแอฟริกาใต้ในประเทศแอฟริกาใต้ โดยเรียกว่า WASP-North และ WASP-South ตามลำดับ หอดูดาวทั้ง 2 แห่งมีเลนส์ Canon 200 mm f1.8 อยู่ 8 ตัวพร้อม เซนเซอร์ภาพ CCD คุณภาพสูง 2k×2k กล้องโทรทรรศน์นี้ผลิตโดย Optical Mechanics, Inc.[1] มุมมองที่กว้างของเลนส์ Canon ช่วยให้สามารถสังเกตการณ์ได้กว้างถึง 500° ต่อจุดที่หอดูดาวแต่ละแห่ง

หอดูดาวได้ทำการสังเกตการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยถ่ายภาพหนึ่งภาพทุก ๆ นาทีโดยประมาณ ซึ่งมีจำนวนข้อมูลทั้งหมด 100 กิกะไบต์ในชั่วข้ามคืน การตรวจจับดาวเคราะห์นอกระบบด้วยวิธีการเคลื่อนผ่านทำได้โดยวัดความสว่างของดาวแต่ละดวงที่สังเกตการณ์และรวบรวมข้อมูลไว้ แล้วตรวจหาการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในความสว่างของดาวฤกษ์เนื่องจากดาวเคราะห์ขนาดใหญ่เคลื่อนผ่านหน้าดาวฤกษ์

SuperWASP ดำเนินการโดยกลุ่มสถาบันวิจัย 8 แห่ง ได้แก่ สถาบันดาราศาสตร์ฟิสิกส์กานาเรียส, กลุ่มกล้องโทรทรรศน์ไอแซก นิวตัน, มหาวิทยาลัยคีล, มหาวิทยาลัยเลสเตอร์, มหาวิทยาลัยเปิดแห่งสหราชอาณาจักร, มหาวิทยาลัยควีนส์เบลฟาสต์ และ มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์ คาดหวังไว้ว่าจะช่วยในการเข้าใจวิวัฒนาการของดาวเคราะห์สำหรับการค้นหาดาวเคราะห์คล้ายโลกในอนาคต

ดาวเคราะห์ดวงหลัก ๆ ที่ค้นพบ[แก้]

ภาพ WASP-12b ในจินตนาการของศิลปิน แสดงบรรยากาศที่กำลังไหล
ภาพ WASP-18b ในจินตนาการของศิลปิน
ภาพ WASP-39b ในจินตนาการของศิลปิน
ภาพ WASP-76b ในจินตนาการของศิลปิน
ภาพ WASP-121b ในจินตนาการของศิลปิน

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2006 ทีมงาน Super WASP ได้ประกาศการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบ 2 ดวงแรก คือ WASP-1b (6 ล้านกม. รอบดาวฤกษ์ในระยะเวลา 2.5 วัน) และ WASP-2b (4.5 ล้านกม. รอบดาวฤกษ์) ในระยะเวลา 2 วัน)[2]

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2007 ทีมงาน SuperWASP ได้ประกาศการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบ 3 ดวง ได้แก่ WASP-3b WASP-4b และ WASP-5b ดาวเคราะห์นอกระบบทั้งสามดวงนี้มี มวลพอ ๆ กับมวลดาวพฤหัสบดี และโคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มาก ทำให้มีคาบการโคจรน้อยกว่าสองวัน นี่เป็นคาบที่สั้นที่สุดของดาวเคราะห์นอกระบบที่รู้จัก เนื่องจากอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ อุณหภูมิพื้นผิวของดาวเคราะห์จึงสูงเกิน 2,000 องศาเซลเซียส SuperWASP เป็นโครงการสำรวจดาวเคราะห์แรกที่ตรวจพบดาวเคราะห์ได้ทั้งในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้โดยใช้วิธีการผ่านหน้า[3] WASP-4b และ WASP-5b เป็นดาวเคราะห์ดวงแรกที่ค้นพบโดยกล้อง WASP ฝั่งของแอฟริกาใต้ และ WASP-3b เป็นดาวเคราะห์ดวงที่สามที่ค้นพบโดยกล้องฝั่งลาปัลมา

ในเดือนเมษายน 2008 มีการประกาศการค้นพบ WASP-12b พบว่า WASP-12b เป็นสีดำเหมือนยางมะตอย และจับแสงที่มองเห็นได้มากกว่า 94% ที่มาจาก WASP-12 นอกจากนี้ WASP-12b อาจกำลังสูญเสียชั้นบรรยากาศและมีขนาดที่เล็กลงเรื่อย ๆ[4]

ในเดือนสิงหาคม 2009 มีการประกาศการค้นพบ WASP-17b ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ดวงแรกที่เชื่อว่าโคจรในทิศทางตรงกันข้ามกับดาวฤกษ์หลัก (WASP-17) WASP-17b ยังมีขนาดเกือบสองเท่าของดาวพฤหัสบดี อย่างไรก็ตาม ความหนาแน่นนั้นใกล้เคียงกับสไตโรโฟม[5] ในเดือนเดียวกันนั้น มีการประกาศการค้นพบ WASP-18b ด้วย WASP-18b เป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่มีมวลประมาณ 10 เท่าของดาวพฤหัสบดี[6] มีการชี้ให้เห็นว่าดาวเคราะห์ดวงนี้อาจตกลงสู่ดาวฤกษ์ภายในหนึ่งล้านปีเนื่องจากแรงน้ำขึ้นน้ำลง[7]

ในปี 2011 มีการประกาศการค้นพบ WASP-39b ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น "ดาวเสาร์ร้อน" และมีการเปิดเผยว่ามีน้ำ (ไอน้ำ) อยู่สามเท่าของดาวเสาร์[8]

ในปีเดียวกันนั้น มีการประกาศการค้นพบ WASP-47b [9] ต่อมาในปี 2015 WASP-47c, WASP-47d และ WASP-47e ก็ถูกค้นพบตามกันมา[10][11][12] เป็นการยืนยันว่า WASP-47 มีดาวเคราะห์ 4 ดวง อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนั้นมี WASP-47c ที่ถูกค้นพบโดยวิธีการด็อพเพลอร์สเปกโทรสโกปี ต่างจากดวงอื่นที่ค้นพบโดยวิธีการเคลื่อนผ่าน

ในปีเดียวกันนั้น มีการประกาศการค้นพบ WASP-49b ซึ่งอาจมีดาบริวารที่คล้ายกับดาวไอโอของดาวพฤหัสบดี[13]

ในปี 2013 มีการประกาศการค้นพบ WASP-76b ซึ่งเชื่อกันว่าถูกไทดัลล็อก โดยเหล็กจะระเหยเป็นไอในตอนกลางวันและเย็นลงในตอนกลางคืนซึ่งอาจส่งผลให้เกิดฝนเหล็ก[14]

ในปี 2015 มีการประกาศการค้นพบ WASP-121b ซึ่งมีวัสดุเช่นแมกนีเซียมและเหล็กรั่วไหลออกมาจากดาวเคราะห์[15] นอกจากนี้ เชื่อกันว่าแรงน้ำขึ้นน้ำลงทำให้ดาวเคราะห์หมุนรอบตัวเองเพียงน้อยนิดที่จะป้องกันไม่ให้ดาวหลักถูกทำลาย และแรงน้ำขึ้นน้ำลงทำให้ดาวเคราะห์มีรูปร่างเป็นทรงรีคล้ายลูกรักบี้

อ้างอิง[แก้]

  1. "アーカイブされたコピー". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-28. สืบค้นเมื่อ 2009-02-14.
  2. Wide-eyed Telescope Finds its First Transiting Planets Around Distant Stars (PDF requires acrobat reader)
  3. UK planet hunters announce three new finds (PDF requires acrobat reader)
  4. 主星の光を9割以上取り込む黒い惑星、AstroArts.2020年8月12日閲覧。
  5. 軌道を逆走する系外惑星WASP-17b、AstroArts.2020年8月12日閲覧。
  6. The Extrasolar Planets Encyclopaedia - WASP-18b、The Extrasolar Planets Encyclopaedia.2020年8月12日閲覧。
  7. An orbital period of 0.94 days for the hot-Jupiter planet WASP-18b、nature.2020年8月12日閲覧。
  8. ホットサターンの大気に大量の水、AstroArts.2020年8月12日閲覧。
  9. The Extrasolar Planets Encyclopaedia - WASP-47b、The Extrasolar Planets Encyclopaedia.2020年8月12日閲覧。
  10. The Extrasolar Planets Encyclopaedia - WASP-47c、The Extrasolar Planets Encyclopaedia.2020年8月12日閲覧。
  11. The Extrasolar Planets Encyclopaedia - WASP-47d、The Extrasolar Planets Encyclopaedia.2020年8月12日閲覧。
  12. The Extrasolar Planets Encyclopaedia - WASP-47e、The Extrasolar Planets Encyclopaedia.2020年8月12日閲覧。
  13. Hints of volcanic exo-moons?、WASP Planets.2020年8月12日閲覧。
  14. 太陽系外惑星WASP-76bでは、明けない夜の空から鉄の雨が降る、sorae.2020年8月12日閲覧。
  15. 金属元素が流れ出すラグビーボール型の惑星、AstroArts.2020年8月12日閲覧。