โบเมียะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โบเมียะ
สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ประธาน
ดำรงตำแหน่ง
?–?
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด20 มกราคม พ.ศ. 2469
เมืองผาปูน พม่าของอังกฤษ
เสียชีวิต23 ธันวาคม พ.ศ. 2549
อำเภอแม่สอด, ประเทศไทย
เชื้อชาติพม่า
ศาสนาศาสนาคริสต์
พรรคการเมืองสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง
คู่สมรสนอว์ หล่า โป [1]
บุตรบุตรสาว 3 คน บุตรชาย 4 คน

โบเมียะ (พม่า: ဘိုမြ, ออกเสียง: [bò mja̰]) เป็นประธานของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นยู ที่พยายามต่อสู้เพื่อเอกราชของรัฐกะเหรี่ยง โบเมียะเป็นชาวกะเหรี่ยงเผ่าสะกอ เกิดเมื่อ 20 มกราคม พ.ศ. 2469 ที่เมืองผาปูน รัฐกะเหรี่ยง เดิมนับถือผี แต่หลังจากที่เขาแต่งงานกับหญิงกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาคริสต์ใน พ.ศ. 2506 เขาจึงหันมานับถือศาสนาคริสต์ด้วย เขาจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 เท่านั้น

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาเห็นชาวกะเหรี่ยงถูกทหารพม่าฆ่าอย่างทารุณ เขาจึงไปสมัครเป็นตำรวจภายใต้การดูแลของทหารญี่ปุ่น แต่เมื่ออังกฤษกลับเข้ามาในพม่าอีกครั้ง โบเมียะไปเข้ากับอังกฤษ ใน พ.ศ. 2490โบเมียะไปเข้าร่วมกับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงที่จัดตั้งขึ้นในปีนั้นโดย ซอว์บาอูจี เพื่อจัดตั้งรัฐของชาวกะเหรี่ยงที่เรียกรัฐกอทูเล โดยมีเขตแดนตั้งแต่ตอนใต้ของรัฐกะยา ลงใต้มาทางตองอูจนถึงตะนาวศรี และเขตอิรวดีด้วย สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้เริ่มก่อกบฏต่อสู้กับรัฐบาลพม่าตั้งแต่ พ.ศ. 2491 โบเมียะได้เข้าร่วมในการต่อสู้ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงตั้งแต่ พ.ศ. 2492 เขาได้ชื่อว่าเป็นนักรบที่กล้าหาญและมุทะลุ ได้ติดยศเป็นพันเอก และได้ควบคุมหน่วยปฏิบัติการที่เมืองผาอันเมื่อ พ.ศ. 2506 เขาเริ่มมีความเห็นแตกต่างจากมานห์บะส่าน ผู้นำสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงในขณะนั้นที่เริ่มนำแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์มาปรับใช้ ใน พ.ศ. 2509 ได้ติดยศเป็นพลตรีและเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ต่อมา ใน พ.ศ. 2510 เมื่อเกิดความแตกแยกในหมู่ผู้นำ โบเมียะได้พยายามประสานรอยร้าวระหว่างกลุ่มต่างๆ ทำให้เขามีอิทธิพลสูงขึ้น

ใน พ.ศ. 2517 รัฐบาลทหารของพม่าได้ส่งกองกำลังทั้งทางบกและทางอากาศแต่กองกำลังกะเหรี่ยงที่มีโบเมียะเป็นผู้บังคับบัญชาสามารถผลักดันทหารพม่าให้ถอยไปได้ ทำให้ใน พ.ศ. 2519 โบเมียะได้ขึ้นเป็นประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ในช่วง พ.ศ. 2531 -2532 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้ร่วมมือกับกลุ่มของอองซาน ซูจี พระสงฆ์ และชนกลุ่มน้อยอื่นๆเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและได้จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ค่ายมาเนอปลอว์ ใช้ชื่อว่า รัฐบาลผสมแห่งชาติแห่งสหภาพพม่า

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเกิดปัญหาความแตกแยกระหว่างชาวกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ ใน พ.ศ. 2537 ในขณะที่โบเมียะสงสัยว่าผู้นำของกะเหรี่ยงพุทธเป็นสายลับให้ทหารพม่า จึงเกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังของฝ่ายคริสต์และพุทธ ในที่สุด กะเหรี่ยงพุทธจึงประกาศแยกตัวออกไปเมื่อ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2537 และจัดตั้งกองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยฝ่ายพุทธ หลังจากนั้น พม่าได้โจมตีค่ายมาเนอปลอว์อย่างรุนแรง จนค่ายแตกเมื่อ 26 มกราคม พ.ศ. 2538 ฝ่ายของโบเมียะไปตั้งมั่นที่ค่ายคอมูรา ส่วนพม่าได้เปลี่ยนชื่อรัฐกะเหรี่ยงเป็นรัฐกะยิน และให้กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยฝ่ายพุทธเป็นผู้ดูแล ต่อมา 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ค่ายคอมูราก็ถูกตีแตกอีก

หลังจากค่ายแตก โบเมียะได้เรียกประชุมสภาแห่งชาติสหภาพพม่าเพื่อหารือถึงการต่อสู้ต่อไปในอนาคต ส่วนใหญ่สนับสนุนโบเมียะต่อไป แต่บางกลุ่มในสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงก็ต้องการเปลี่ยนผู้นำคนใหม่ ใน พ.ศ. 2547 โบเมียะเดินทางไปยังย่างกุ้งเพื่อเจรจาสันติภาพกับนายพลขิ่น ยุนต์ ผู้นำพม่าในเวลานั้น ต่อมาในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2549 โบเมียะเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในอำเภอแม่สอด จังหวัดตากด้วยโรคหัวใจและเบาหวาน[2]

อ้างอิง[แก้]

  • วิไลเลขา ถาวรธนสาร. โบเมียะ ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 484 - 489
  1. "Bo Mya, 79; longtime leader of Myanmar guerrilla group". Associated Press. Los Angeles Times. 25 December 2006. สืบค้นเมื่อ 16 April 2012.
  2. "Myanmar rebel leader dies after long illness". Reuters. 2006-12-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-31. สืบค้นเมื่อ 2006-12-25.