แอนตัน-บาบินสกีซินโดรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แอนตัน-บาบินสกีซินโดรม (อังกฤษ: Anton-Babinski syndrome) เป็นอาการที่เกิดขึ้นน้อย เกิดจากความเสียหายที่สมองกลีบท้ายทอยที่คนไข้มองไม่เห็นเพราะเหตุคอร์เทกซ์ (คือตาไม่ได้เป็นอะไร แต่ความเสียหายในสมองทำให้มองไม่เห็น) แต่ยืนยันอย่างแน่วแน่เด็ดเดี่ยวว่า ตนมองเห็น ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามองไม่เห็น คนไข้กลบเกลื่อนการมองไม่เห็นของตนโดยการกุเหตุความจำเสื่อม (confabulation) อาการนี้ตั้งชื่อตามประสาทแพทย์ชาวออสเตรียเกเบรียล แอนตัน และประสาทแพทย์ชาวฝรั่งเศสโจเซ็ฟ บาบินสกี

อาการ[แก้]

อาการนี้พบมากที่สุดในคนไข้โรคหลอดเลือดสมอง แต่ก็พบในคนไข้ที่มีความบาดเจ็บที่ศีรษะด้วย นักประสาทวิทยาแม็คโดนัลด์ คริชลีย์พรรณนาอาการนี้ไว้ว่า

ความผิดปกติในการทำหน้าที่ที่เกิดอย่างฉับพลันของสมองกลีบท้ายทอย ส่วนใหญ่ทำให้เกิดผลทางกายภาพและจิตภาพที่ความสับสนทางจิตใจปรากฏอย่างเด่นชัด ดังนั้น อาจจะเป็นเวลาหลายวันก่อนที่ญาติ ๆ หรือเจ้าหน้าที่พยาบาลจะสังเกตว่า คนไข้มองไม่เห็นอะไร นี่ไม่ใช่เพียงแค่เพราะว่า คนไข้ไม่เล่าเองว่าตนมองไม่เห็น แต่ว่า คนไข้กลับทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้ ๆ เข้าใจผิดโดยมีพฤติกรรมและคำพูดเหมือนกับว่ามองเห็น ถึงอย่างนั้น คนไข้จะเรียกความสนใจก็เมื่อเดินชนเฟอร์นิเจอร์ เดินสะดุดสิ่งของ และมีปัญหาในการไปในที่ต่าง ๆ คนไข้อาจจะพยายามเดินผ่านกำแพงหรือประตูเพื่อที่จะไปสู่อีกห้องหนึ่ง ความน่าสงสัยก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อคนไข้เริ่มกล่าวถึงบุคคลและวัตถุต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัว ทั้ง ๆ ที่บุคคลหรือสิ่งเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในที่ใกล้ ดังนั้น คนไข้จึงปรากฏว่ามีอาการสองอย่าง คือ ภาวะเสียสำนึกความพิการและการกุเหตุความจำเสื่อม โดยที่อาการหลังมีอิทธิพลต่อทั้งการพูดต่อทั้งพฤติกรรม[1]

ถ้าตั้งประเด็นว่าอาการที่พึ่งกล่าวถึงเป็นอาการตรงกันข้ามกับสภาวะเห็นทั้งบอด (blindsight) อาจจะทำให้เข้าใจเรื่องนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น สภาวะเห็นทั้งบอดเป็นอาการที่ปรากฏต่อคนไข้ว่าไม่สามารถเห็นอะไรในส่วนหนึ่งของลานสายตา แต่ความจริงแล้ว กลับมี "การเห็น" ที่คนไข้สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้จริง ๆ

เหตุ[แก้]

สาเหตุที่คนไข้ Anton-Babinski syndrome ปฏิเสธการมองไม่เห็นนั้นยังไม่ชัดเจน แม้ว่าจะมีทฤษฏีหลายอย่าง สมมุติฐานหนึ่งก็คือ ความเสียหายต่อคอร์เทกซ์สายตาทำให้ไม่มีการสื่อสารระหว่างระบบสายตากับระบบภาษาในเขตอื่น ๆ ของสมอง คือ มีภาพที่เห็นทางตาจริง ๆ แต่สมองไม่สามารถทำการแปลผล ระบบภาษาจึงต้องกุเรื่องที่จะอธิบายเรื่องของการเห็นนั้นขึ้น[2]

ในสื่อ[แก้]

Anton-Babinski syndrome ปรากฏในละครชุดเรื่องเฮาส์ เอ็ม.ดี. ในตอน "Euphoria ตอนหนึ่ง" และ "Euphoria ตอนสอง" แม้ว่าจะแสดงว่าอาการเกิดขึ้นเพราะโรคฝีในสมองจากอะมีบา (เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบจากอะมีบาแบบปฐมภูมิ) ทั้ง ๆ ที่โรคนี้ไม่ได้ทำให้เกิด Anton-Babinski syndrome จริง ๆ

อาการนี้ปรากฏเป็นเรื่องเด่นในนวนิยายของรูปเปิรต์ ทอมสัน เรื่อง "The Insult" และมีการพูดถึงในนวนิยายวิทยาศาสตร์ของปีเตอร์ วัตตส์ เรื่อง "Blindsight"

อาการนี้เรียกว่า "Anton's Blindness" โดยเป็นคำอุปมาในหนังสือเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจและผลต่อผู้บริโภคของราช พาเท็ล ชื่อว่า "The Value of Nothing"

ในภาพยนตร์ของลาร์ส วอน ทเรีย เรื่อง "Dogville" ตัวละครชื่อแจ็ค แม็คเคย์ ทำเหมือนกับเขาสามารถมองเห็นแต่แสดงอาการหลายอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า มองไม่เห็น

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. Macdonald Critchley, "Modes of reaction to central blindness", in Critchley, 1979, p. 156
  2. Prigatano, George P.; Schacter, Daniel L (1991). Awareness of deficit after brain injury: clinical and theoretical issues. Oxford [Oxfordshire]: Oxford University Press. pp. 53–60. ISBN 0-19-505941-7.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)

บรรณานุกรม[แก้]

Critchley, Macdonald, The Divine Banquet of the Brain, Raven, New York, 1979