แหล่งแร่หาดส้มแป้น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แหล่งแร่ดินขาวและดีบุก

แหล่งแร่หาดส้มแป้น (Hadsompaen Mineral deposit) เป็นแหล่งแร่ที่มีความสำคัญ มีการทำเหมืองแร่กันมานานนมแล้ว ซึ่งชื่อหาดส้มแป้นเพี้ยนมาจาก คำว่า "ห้วยซัมเปียน" ซึ่งมีความหมายว่า ลึกเข้าไปในหุบเขา ชาวบ้านจึงเรียกกันต่อ ๆ มาว่า "ห้วยซัมเปียน" และคำนี้ได้เพี้ยนมาเป็นหาดส้มแป้นในปัจจุบัน แหล่งแร่หาดส้มแป้นมีพื้นที่โดยประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันเป็นแหล่งแร่ที่ผลิตแร่ดีบุกและแร่ดินขาวที่สำคัญของประเทศ ตั้งอยู่บริเวณตำบลหาดส้มแป้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

ธรณีวิทยาทั่วไป[แก้]

พื้นที่แหล่งแร่ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีลักษณะธรณีวิทยาเป็นหินแกรนิตเนื้อดอก ผลึกสองขนาด มีแร่เฟลด์สปาร์เป็นแร่ดอก เกิดในยุคจูแรสซิก (Jgr ?) วางตัวในแนวยาวในทิศทางประมาณเหนือ - ใต้ ซึ่งภายหลังผลจากการตรวจสอบอายุพบว่าหินแกรนิตดังกล่าวมีอายุครีเตเชียส แทรกตัดเข้ามาวางตัวอยู่ระหว่างหินยุคคาร์บอนิเฟอรัส เพอร์เมียน ซึ่งพบทางด้านทิศตะวันตก ประกอบด้วยหินโคลนปนกรวดหินทราย หินปูน เนื้อดิน หินดินดานและหินเชิร์ต และหินกรวดมน และหินยุคคาร์บอนิเฟอรัส ซึ่งพบทางด้านตะวันออกประกอบด้วยหินทราย หินดินดาน หินเชิร์ต และหินปูน

ธรณีวิทยาแหล่งแร่[แก้]

แร่ดินขาว (Kaolin) จากกระบวนการกำเนิดแหล่งแร่ดีบุกในบริเวณพื้นที่สำรวจ แร่เฟลด์สปาร์ในหินแกรนิตที่เกี่ยวข้องมักจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นแร่ดินขาว อันเนื่องจากกระบวนการแปรเปลี่ยนด้วยก๊าซ (Pneumatolytic Process) โดยน้ำแร่ร้อนหรือไอน้ำที่มีสภาพเป็นกรดสูง เข้ามาในระบบและทำปฏิกิริยากับแร่โพแทสเซียมเฟลด์สปาร์ซึ่งเป็นแร่องค์ประกอบหลักในหินแกรนิต แล้วแปรเปลี่ยนเป็นแร่เคโอลิไนต์หรือดินขาว ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเป็นบริเวณกว้าง ดังนั้นพื้นที่นี้จึงเป็นแหล่งแร่ดินขาวที่มีปริมาณสำรองมาก นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งที่มีปริมาณเหล็กเจือปนค่อนข้างต่ำเนื่องจากมีกระบวนการกำเนิดแร่ทัวร์มาลีน (Tourmalinization) ที่ดึงอนุมูลเหล็กออกจากระบบ เนื่องจากหินถูกแปรเปลี่ยนจนมีสภาพอ่อนยุ่ยสามารถทำเหมืองได้ง่าย ดำเนินการตักและคัดแยกแร่ได้โดยง่าย แหล่งดินขาวในพื้นที่จึงเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับผลิตแร่ดินขาวที่สำคัญ ดังจะเห็นได้จากการมีเหมืองแร่ดินขาวรอบ ๆ แหล่งจึงมีศักยภาพสูงที่จะถูกพัฒนาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป

แร่ดีบุก (Tin) พื้นที่นี้เป็นแหล่งแร่ดีบุกเก่าดังจะเห็นได้จากการพบขุมเหมืองเก่ามากมาย และในปัจจุบันยังมีการร่อนแร่ของชาวบ้านอยู่ แร่ดีบุกที่พบในพื้นที่สำรวจเป็นแร่ดีบุกแบบฝังประหรือเป็นกระจุกในหินแกรนิตหรือหินท้องที่ เกิดจากกระบวนการของก๊าซ (Pneumatolytic Process) ซึ่งเป็นกระบวนการที่กินบริเวณกว้างขวางและมีการแปรเปลี่ยนของหินให้เห็นอย่างชัดเจน โดยแร่ดีบุกจะฝังประในเนื้อหิน บางครั้งจะพบแร่ดีบุกรวมตัวกันอยู่เป็นกระจุกหนาแน่นมีลักษณะเป็นกระเปาะหนาประมาณ 1 - 2 เมตร

ลักษณะการทำเหมืองในแหล่งแร่[แก้]

การทำเหมืองในแหล่งแร่หาดส้มแป้นมีทั้งในส่วนที่ทำเฉพาะเหมืองดีบุก หรือทำทั้งเหมืองดีบุกและเหมืองดินขาวซึ่งส่วนใหญ่เป็นลักษณะของเหมืองฉีด หรือเหมืองแล่น มีเพียงส่วนน้อยที่มีการทำแบบเหมืองหาบ คือใช้รถบรรทุกในการขุดขน แต่มีข้อดีในด้านของการคัดแยกคุณภาพได้ดีกว่า

อ้างอิง[แก้]

  • บ.กราวด์ เดต้า โพรบ จก., รายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ ดินขาวพื้นที่ตำบลหาดส้มแป้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง , สิงหาคม 2551.