จานดาวเคราะห์ก่อนเกิด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จานดาวเคราะห์ก่อนเกิด ในเนบิวลานายพราน

จานดาวเคราะห์ก่อนเกิด (อังกฤษ: Protoplanetary disk) คือแผ่นจานสสารระหว่างดาวอัดแน่นไปด้วยแก๊สที่หมุนวนไปรอบๆ ดาวฤกษ์ที่กำลังก่อตัวขึ้นใหม่ ซึ่งเรียกว่า ดาวฤกษ์ชนิด T Tauri หรือดาวเฮอร์บิก (Herbig) จานดาวเคราะห์ก่อนเกิดอาจเป็นจานพอกพูนมวลชนิดหนึ่ง เพราะสสารแก๊สอาจจะตกจากขอบจานด้านในเข้าไปบนพื้นผิวของดาวฤกษ์ได้ แต่กระบวนการทั้งสองนี้แตกต่างกันและไม่ควรนำมาใช้สับสนปนเปกัน

จานดาวเคราะห์ก่อนเกิดที่อยู่รอบดาวฤกษ์ T Tauri แตกต่างจากแผ่นจานที่อยู่รอบวัตถุโบราณชนิดอื่นในระบบดาวคู่ เนื่องจากความแตกต่างด้านขนาดและอุณหภูมิ จานดาวเคราะห์ก่อนเกิดมีรัศมีราว 1000 หน่วยดาราศาสตร์ และค่อนข้างเย็น มีเพียงเฉพาะส่วนในของแผ่นจานเท่านั้นจะมีอุณหภูมิสูงถึง 1000 เคลวิน

โดยทั่วไป ดาวฤกษ์ก่อนเกิดจะก่อตัวในเมฆโมเลกุลซึ่งมีโมเลกุลไฮโดรเจนดั้งเดิมอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อบางส่วนของเมฆโมเลกุลดำเนินไปถึงจุดวิกฤตของขนาด มวล หรือความหนาแน่น มันจะแตกสลายลงด้วยแรงโน้มถ่วงภายในของมันเอง เมฆที่แตกสลายลงนี้เรียกว่า เนบิวลาสุริยะ ซึ่งเป็นกลุ่มเมฆที่มีความหนาแน่นมากยิ่งขึ้น แก๊สที่เคยเคลื่อนที่แบบสะเปะสะปะจะเริ่มเคลื่อนไปตามทิศทางของโมเมนตัมเชิงมุมของเนบิวลานั้น การพยายามรักษาโมเมนตัมเชิงมุมไว้ทำให้มีการหมุนวนเพิ่มมากขึ้น และเนบิวลามีขนาดเล็กลง แต่อัดแน่นมากขึ้น กลายเป็นกลุ่มเมฆที่แบนลงคล้ายกับแผ่นพิซซา แล้วจึงกลายเป็นแผ่นจาน การแตกสลายครั้งแรกกินเวลาราว 100,000 ปี หลังจากนั้นอุณหภูมิพื้นผิวของดาวฤกษ์จึงเพิ่มขึ้นจนถึงระดับของดาวฤกษ์ในแถบลำดับหลัก เรียกดาวฤกษ์ในระดับนี้ว่า ดาวฤกษ์ T Tauri แก๊สจะพอกพูนไปบนดาวฤกษ์มากขึ้นเรื่อยๆ ไปตลอด 10 ล้านปีถัดไป ก่อนที่แผ่นจานจะสลายตัวหายไปหมด ซึ่งอาจเป็นผลจากแรงดันของลมสุริยะขับไล่มันไป แผ่นจานดาวเคราะห์ก่อนเกิดที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบมีอายุ 25 ล้านปี[1]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. White, R.J. & Hillenbrand, L.A. (2005). "A Long-lived Accretion Disk around a Lithium-depleted Binary T Tauri Star". The Astrophysical Journal. 621: L65–L68. doi:10.1086/428752.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)