ระบบดาวคู่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพถ่ายระบบดาวคู่ดาวอัลกอล โดย CHARA
ภาพถ่ายระบบดาวคู่ของดาวโจรจากกล้องฮับเบิล ดาวโจรบีแทบจะมองไม่เห็น (ล่างซ้าย)

ระบบดาวคู่ (binary star system) คือระบบดาวที่มีดาวฤกษ์ 2 ดวงโคจรไปรอบ ๆ จุดศูนย์กลางมวลของระบบ ดาวแต่ละดวงถือว่าเป็น ดาวเพื่อน ของอีกดวงหนึ่ง การวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ชี้ว่าดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ในดาราจักรทางช้างเผือกมักเป็นระบบดวงเดี่ยวมากกว่าระบบดาวคู่[1] มีความสำคัญต่อการศึกษาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เพราะการสังเกตการณ์วงโคจรร่วมของทั้งสองทำให้สามารถประเมินมวลของดาวได้ ขณะที่การประเมินมวลของดาวฤกษ์เดี่ยวจำนวนมากต้องทำจากการประมาณค่านอกช่วงที่ได้จากการศึกษาดาวคู่

ระบบดาวคู่หมายถึง ดาวคู่จริง เป็นคนละอย่างกับ ดาวคู่ปลอม (optical double) ที่เมื่อมองจากโลกจะเห็นอยู่ใกล้กันอย่างมาก แต่ไม่ได้มีแรงดึงดูดระหว่างกัน ดาวคู่อาจจะไม่สามารถมองเห็นได้ในแสงปกติ หรืออาจต้องใช้วิธีทางอ้อมในการตรวจสอบ เช่นการใช้สเปกโทรสโกปี ถ้าดาวคู่โคจรรอบกันและกันในแนวระนาบเดียวกับสายตา เราจะเห็นมันเกิดคราสบังกันเอง กรณีนี้จะเรียกว่า ดาวคู่อุปราคา (eclipsing binary)

ระบบที่ประกอบด้วยดาวฤกษ์มากกว่า 2 ดวง ที่เรียกกันว่า ระบบดาวหลายดวง ถือเป็นระบบที่ไม่ปกติเช่นกัน องค์ประกอบภายในของระบบดาวคู่สามารถแลกเปลี่ยนมวลซึ่งกันและกันได้ ทำให้วิวัฒนาการของมันดำเนินไปในทิศทางที่ดาวฤกษ์เดี่ยวไม่อาจทำได้ ตัวอย่างของดาวคู่ได้แก่ ดาวอัลกอล (เป็นดาวคู่คราส) ดาวโจร และ ดาว หงส์ X-1 (ซึ่งดาวสมาชิกดวงหนึ่งอาจจะเป็นหลุมดำ)

ระบบดาวคู่อาจมีดาวเคราะห์นอกระบบโคจรรอบอยู่ เรียกว่าดาวเคราะห์รอบดาวคู่

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]