เฮม เจียว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระเฮม เจียว (เขมร: ហែម ចៀវ; อังกฤษ: Hem Chieu; ค.ศ.1898-1943) เป็นพระภิกษุในพระพุทธศานา ชาวกัมพูชา อดีตอาจารย์ในวิทยาลัยบาลีในพนมเปญ เป็นนักต่อสู้ทางการเมืองร่วมกับนักการเมืองฝ่ายชาตินิยมในกัมพูชา เพื่อต่อสู้เรียกร้องเอกราช จากประเทศเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส เคยนำพระนิสิตออกประท้วงการปกครองของฝรั่งเศสในเหตุการณ์ "กบฏร่ม" (Embrella Revolution) จนกระทั่งถูกจับไปขังที่เกาะแห่งพูโล คอนดอร์ (Poulo Condore) [1] ซึ่งฝรั่งเศสใช้เป็นที่คุมขังนักโทษ และมรณภาพที่คุกการเมืองที่เกาะแห่งนั้น ใน ค.ศ. 1943 [2] นอกจากนี้หลังการมรณกรรมของท่านไม่นาน ชื่อของท่านยังถูกนำมาตั้งเป็นชื่อถนนในกรุงพนมเปญ เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ท่าน [3]

ประวัติ[แก้]

พระเฮม เจียว เกิดใน ค.ศ. 1898 เกิดในตระกูลชาวนาในจังหวัดอุดงค์ (Oudong) ในขณะที่อายุ 12 ขวบ บิดาของท่านได้นำไปฝากเป็นศิษย์เรียนหนังสือกับพระชวน ณาต (Chuon Nath) ซึ่งเป็นเพื่อนกับบิดาของท่าน ให้เรียนหนังสือที่วัดอุณาโลม (Wat Ounalom) ในพนมเปญ เฮม เจียว เป็นศิษย์วัดเรียนหนังสือด้วยความตั้งใจ และเรียนรู้อย่างดีเยี่ยม จนกระทั่งอายุ 16 ปี บิดาจึงได้ให้บวชเป็นสามเณรที่วัดอุณาโลม แลเรียนหนังสือกับพระชวน ณาต พระสงฆ์นักปราชญ์ชาวกัมพูชาในขนาดนั้น จนกระทั่งอายุ 20 ปี จึงได้บวชเป็นพระภิกษุในที่วัดลังกา (Wat Lanka) และสามารถสอบเข้าผ่านการศึกษาของพุทธศาสนาบัณฑิตย์ (Buddhist Institute) ในพนมเปญได้ (Phnom Penh) และอาจารย์ในวิทยาลัยบาลีในพนมเปญ

พระเฮม เจียว เป็นพระสงฆ์หัวหน้าก้าวหน้าและมีบทบาททางการเมืองในประวัติศาสตร์กัมพูชา โดยมีข้อมูลจากเดวิด แชนด์เลอร์ (David Chandler) นักประวัติศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า "หนึ่งในจำนวนสงฆ์เหล่านี้ ได้แก่ พระเฮม เฌียว (Hem Chieu) ค.ศ. 1894-1943 ครูโรงเรียนสอนบาลีชั้นสูงในกรุงพนมเปญซึ่งถูกรวมอยู่ในกลุ่มต่อต้านฝรั่งเศส เมื่อท่านเสนอแผนทำรัฐประหารที่คลุมเครือต่อกองกำลังอาสาสมัคร อาสาสมัครที่นิยมฝรั่งเศสนายหนึ่งได้รายงานชื่อของท่าน ทำให้ท่านถูกจับกุมพร้อมด้วยพระสงฆ์อีกองค์หนึ่งเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1942 พระเฮม เฌียว เป็นสมาชิกสถาบันสงฆ์ และการที่เจ้าหน้าที่จับกุมท่านโดยไม่อนุญาตให้ลาสิกขาบทตามจารีต นับได้ว่าลบหลู่พระสงฆ์อื่น ๆ พร้อมกับเปิดโอกาสให้กลุ่มชาตินิยมของหนังสือพิมพ์นครวัติ" [4] และจากการที่ท่านถูกจับในครั้งนั้น ได้กลายเป็นประเด็นให้มีการเดินขบวนใหญ่อีกครั้งเพื่อต่อต้านฝรั่งเศสและให้มีการปล่อยตัวท่านออกจากที่คุมขัง ดังมีข้อมูลในเหตุการณ์นั้นว่า "..เช้าวันนั้นมีประชาชนกว่า 1000 คน และครึ่งหนึ่งเป็นพระภิกษสงฆ์ได้เดินขบวนไปตามถนนสายหลักของกรุงพนมเปญ มุ่งสู่สำนักงานข้าหลวงใหญ่นาม ฌอง เดอ ลองส์ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวพระเฮม เฌียว ผู้เดินขบวนถูกกวาดจับโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชาวฝรั่งเศส กัมพูชา และเวียดนาม..."[5]

บทบาทการต่อสู้[แก้]

การที่ฝรั่งเศสนำโดยฌอร์ฌ เกาติเยร์ (Georges Gautier) และยอร์ช เซเดส์ ที่พยายามเปลี่ยนพยัญชนะ กัมพูชาทั้ง 45 ตัว ให้เป็นอักษรโรมัน (Khmer Romanization) การปฏิรูปตัวหนังสือนี้ทำให้สถาบันสงฆ์ไม่พอใจ และมองว่าเป็นการทำลายรากฐานของวิถีวัฒนธรรมของกัมพูชา รวมทั้งเป็นการโจมตีการศึกษาตามแบบจารีตของคณะสงฆ์ ดังนั้น พระเฮม เจียว ซึ่งเป็นพระหนุ่มหัวก้าวหน้า และมีบทบาทนำ ในการเขียน การปราศรัยต่อต้านอำนาจการปฏิรูปของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสในฐานะเจ้าอาณานิคมในขณะนั้นได้ เฝ้าระวังบทบาทขององค์กรสงฆ์ จนกระทั่งท่านเป็นผู้นำในการประท้วงฝรั่งเศส ใน ค.ศ. 1942 ฝรั่งเศสจึงได้จับท่านในฐานะแกนนำ ซึ่งปรากฏการณ์ในครั้งได้เกิดแรงกระเพื่อมต่อไปอีกคือมีการประท้วงของพระและฆราวาสจำนวนมาก มีจำนวนกว่า 1 พันคน เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวท่านจากการกับกุม แม้จะไม่มีผลก็ตาม [6]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระสุเธีย สุวณฺณเถโร (ยนต) .การศึกษาของคณะสงฆในราชอาณาจักรกัมพูชา. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พระพุทธศาสนา), (บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2553) หน้า 4.
  2. มติชน สุดสัปดาห์ เดือนกุมภาพันธ์ 2557 หน้า 41
  3. เดวิด พี แชนด์เลอร์, ประวัติศาสตร์กัมพูชา, กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.2540) หน้า 265.
  4. เดวิด พี แชนด์เลอร์, ประวัติศาสตร์กัมพูชา, กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.2540) หน้า 264.
  5. เดวิด พี แชนด์เลอร์, ประวัติศาสตร์กัมพูชา, กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.2540) หน้า 264.
  6. David P.Chandler , A History of Cambodia, 2rd. ( Chiang Mai,Thailand : Silkworm Books,1994),pp.167 -171.