เหรียญลูกเสือสดุดี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหรียญลูกเสือสดุดี
เหรียญลูกเสือสดุดี (เรียงจากซ้ายไปขวา) ชั้นที่ 3, ชั้นที่ 2, ชั้นที่ 1
มอบโดย พระมหากษัตริย์ไทย
ประเภทเหรียญราชอิสริยาภรณ์ประเภทบำเหน็จในราชการ
วันสถาปนา13 มกราคม พ.ศ. 2490
ประเทศไทย ราชอาณาจักรไทย
ภาษิตเสียชีพอย่าเสียสัตย์
จำนวนสำรับไม่จำกัดจำนวน
ผู้สมควรได้รับผู้กำกับลูกเสือ เจ้าหน้าที่ลูกเสือ ผู้ตรวจการลูกเสือ กรรมการลูกเสือที่ได้เสียสละตนเพื่อพัฒนากิจการลูกเสือไทย
สถานะยังพระราชทานอยู่
ผู้สถาปนาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ประธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
สถิติการมอบ
รายแรกพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
20 มิถุนายน พ.ศ. 2496
รายล่าสุด26 มิถุนายน พ.ศ. 2566
ลำดับเกียรติ
สูงกว่าเหรียญลูกเสือสรรเสริญ
รองมาเหรียญลูกเสือยั่งยืน

เหรียญลูกเสือสดุดี มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า "The Boy Scout Citation Medal" เป็นเหรียญสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในราชการ สร้างขึ้นตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2507 เช่นเดียวกันกับเหรียญลูกเสือสรรเสริญ ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์รามกีรติ ลูกเสือสดุดีพิเศษ ขึ้นอีกชั้นหนึ่งในพระราชบัญญัติลูกเสือ

ลักษณะ[แก้]

เหรียญลูกเสือสดุดี เป็นเหรียญเงิน ลักษณะกลมรี มีขนาดกว้าง 2.5 เซนติเมตร ยาว 3.2 เซนติเมตร ด้านหน้า มีตราหน้าเสือประกอบวชิระ ริมขอบส่วนบนมีอักษรว่า "ลูกเสือ" และส่วนล่าง มีอักษรว่า "เสียชีพอย่าเสียสัตย์" ตราหน้าเสือประกอบวชิระ และตัวอักษรให้ทำเป็นลายดุน ด้านหลัง เป็นพื้นเกลี้ยงจารึกนามของผู้ซึ่งได้รับพระราชทาน และวันที่พระราชทาน ขอบส่วนบนมีห่วงห้อย แพรแถบขนาดกว้าง 2.4 เซนติเมตร มีริ้วสีเหลืองกว้าง 1.2 เซนติเมตร อยู่กลาง ริมทั้งสองข้างมีริ้วสีดำกว้าง 6 มิลลิเมตร

เหรียญนี้ใช้ห้อยกับแพรแถบ ประดับที่อกเสื้อเหนือปกกระเป๋าเบื้องซ้าย โดยการพระราชทานจะพระราชทานให้เป็นกรรมสิทธิ์ เมื่อผู้รับพระราชทานวายชนม์ ให้ทายาทโดยธรรมรักษาไว้เป็นที่ระลึก

การพระราชทาน[แก้]

สำหรับพระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ผู้ตรวจการลูกเสือ กรรมการลูกเสือ เจ้าหน้าที่ลูกเสือ และบุคคลอื่น บรรดา ที่มีอุปการคุณต่อการลูกเสือถึงขนาด หรือที่ได้อุทิศกำลังกาย หรือ กำลังความคิด ในการประกอบกิจให้บังเกิดคุณประโยชน์แก่การลูกเสือ ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 [1] ดังนี้

แพรแถบย่อ
ชั้นที่ 1
ชั้นที่ 2
ชั้นที่ 3

เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1[แก้]

พระราชทานแก่ผู้ที่มีอุปการคุณต่อการลูกเสือถึงขนาด หรือผุ้ที่ได้อุทิศกำลังกาย กำลังความคิด ในการประกอบกิจการให้บังเกิดคุณประโยชน์แก่การลูกเสืออย่างยิ่ง ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกำหนด

เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 2[แก้]

พระราชทานแก่ผู้ที่มีอุปการคุณต่อการลูกเสือ ดังต่อไปนี้

  1. บริจาคเงินหรือทรัพย์สิ่งของต่าง ๆ ครั้งเดียว หรือหลายครั้งรวมกัน เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกำหนด
  2. ช่วยเหลือเป็นอย่างดีในการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ระดับที่ 1 วิชาผู้กำกับลูกเสือขั้นความรู้เบื้องต้น หรือขั้นความรู้ชั้นสูง โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 50 ครั้ง หรือระดับที่ 2 การให้การฝึกอบรมแก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือโดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง
  3. ช่วยเหลือกิจการลูกเสือด้านอื่น ๆ จนเกิดผลดีแก่การลูกเสือติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 5 ปี และปีหนึ่ง ๆ ไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง
  4. ช่วยเหลือและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคณะลูกเสือไทย กับคณะลูกเสือต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง

เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 3[แก้]

พระราชทานแก่ผู้ที่มีอุปการคุณต่อการลูกเสือดังต่อไปนี้

  1. บริจาคเงินหรือทรัพย์สิ่งของต่าง ๆ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง รวมกันเป็นจำนวนเงิน ไม่น้อยกว่า ที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกำหนด
  2. ช่วยเหลือเป็นอย่างดีในการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือระดับที่ 1 วิชาผู้กำกับลูกเสือขั้นความรู้เบื้องต้น หรือขั้นความรู้ขั้นสูง โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 25 ครั้ง หรือระดับที่ 2 การให้การฝึกอบรมแก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือโดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง
  3. ช่วยเหลือเป็นอย่างดี ในการฝึกอบรมวิชานายหมู่ลูกเสือ หรือวิชาลูกเสือประเภทต่าง ๆ โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรม ครั้งละ 3 วัน ไม่น้อยกว่า 50 ครั้ง
  4. ช่วยเหลือกิจการลูกเสือด้านอื่น ๆ จนเกิดผลดีแก่การลูกเสือติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 ปี และปีหนึ่ง ๆ ไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง
  5. ช่วยเหลือ และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคณะลูกเสือไทย กับคณะลูกเสือต่างประเทศเป็นอย่างดี

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-05-17. สืบค้นเมื่อ 2018-07-10.